วันนี้ (9 มีนาคม 2564) เวลา 13.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เผยถึงการเตรียมจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ศบค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทันดำเนินการในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้ประชาชนสามารถวางแผนเดินทางท่องเที่ยวล่วงหน้า โดยรูปแบบงานต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการแพร่เนื่องจากการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมมาตรการทั้ง 2 รูปแบบ คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้นและสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังต้องร่วมมือสวมใส่หน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่าง
นายกรัฐมนตรียังเผยว่า จะเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ AstraZeneca ตามคำแนะนำของแพทย์และความพร้อมในวันศุกร์ที่ 12 มีนาคม 64 พร้อมย้ำว่า ไม่ได้ปิดกั้นให้ภาคเอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด-19 แต่ต้องเป็นไปตามกฎกติกา โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หารือร่วมกับผู้ประกอบการและสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเกี่ยวกับแผนการนำเข้าวัคซีน เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับประชาชนอีกด้วย ทั้งนี้ วัคซีนโควิด-19 ที่มีหลายยี่ห้อในขณะนี้ยังอยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบเอกสารโดย อย. ซึ่งปัจจุบันเป็นการอนุมัติใช้วัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Use) ต้องวางแผนการฉีดและการสั่งจองวัคซีนต่อไปในอนาคตอีกด้วย
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึง เปิดการเดินทางระหว่างประเทศ หรือ Open Systemว่า ได้มีการเตรียมการ Vaccine Passport ไว้ด้วยแล้วแต่ยังคงต้องรอมาตรฐานกลางที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) อาทิ หากได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบแล้วแล้วจะยังต้องเข้ารับการกักตัวสังเกตอาการหรือไม่ รวมทั้งการกำหนดเพิ่มเติมในประเด็นพื้นที่ความเสี่ยงที่แตกต่างกัน รวมถึงการจัดเตรียมความพร้อมแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 ว่า ที่ประชุมได้หารือในประเด็นสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีมติเห็นชอบในเรื่องแรก เอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด 19 โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้วจะได้รับใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด 19 จากสถานพยาบาลที่ฉีด ไม่มีค่าใช้จ่าย หากประสงค์ที่จะเดินทางไปต่างประเทศให้นำใบรับรองการฉีดวัคซีนไปขอรับวัคซีนพาสปอร์ตหรือ “สมุดเล่มเหลือง” ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมเล่มละ 50 บาท และรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ 50 บาท โดยจะมีการออกประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการออกสมุดเล่มเหลือง อย่างไรก็ตาม การนำไปใช้เดินทางในต่างประเทศยังต้องรอข้อตกลงระดับสากลก่อน
ส่วนเรื่องการลดวันกักตัว เนื่องจากขณะนี้ทั่วโลกฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้วมากกว่า 250 ล้านโดส ทำให้มีภูมิต้านทานและลดการติดเชื้อได้มากขึ้น ที่ประชุมเห็นชอบการลดวันกักตัวใน 3 กรณี คือ 1.คนต่างชาติมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 14 วัน ไม่เกิน 3 เดือนก่อนเดินทาง มีเอกสารรับรองปลอดโควิดใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง และตรวจหาเชื้ออีกครั้งในประเทศไทยไม่พบเชื้อ ลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน ยกเว้นผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกาให้กักตัว 14 วัน 2.คนไทยเดินทางจากต่างประเทศมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิดอย่างน้อย 14 วัน ไม่เกิน 3 เดือน ไม่มีเอกสารรับรองปลอดโควิด ผลการตรวจหาเชื้อในประเทศไทย 2 ครั้งไม่พบเชื้อ ให้ลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน และ 3.คนต่างชาติไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิด มีเพียงเอกสารรับรองปลอดโควิด 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง ลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เมษายน 2564 เป็นต้นไป และระยะต่อไปตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 หากฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงอย่างน้อยร้อยละ 70 และประชาชนที่ทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้รับวัคซีนครบตามเป้าหมาย บางพื้นที่่อาจผ่อนคลายไม่ต้องกักตัว โดยจะเสนอ ศบค. พิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมรับมือโควิด 19 และเฝ้าระวังแนวชายแดนไทย-เมียนมา จากสถานการณ์การเมืองในเมียนมา เข้มงวดบริเวณแนวชายแดน และจัดสถานกักกันตามชายแดนไว้รองรับเป็นการเฉพาะ
นายอนุทินกล่าวต่อว่า คณะกรรมการฯ พิจารณาเรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด 19 เพิ่มให้ครอบคลุมประชาชนมากยิ่งขึ้น จากที่จัดหาไว้ 63 ล้านโดส ครอบคลุมประชาชน 31.5 ล้านคน โดยไม่นับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และคนอายุน้อยกว่า 18 ปี ก็อาจต้องหาเพิ่มเติมอีก 10-20 ล้านโดสโดยอาจขอให้แอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มกำลังผลิต หรือจัดหาวัคซีนชนิดอื่นที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลปลอดภัยมากขึ้น