นายกฯ ร่วมหารือกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Leaders’ Dialogue with ABAC) มุ่งสร้างความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคพร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้าการลงทุน

ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ วันที่ 18 พฤศจิกายน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการหารือเต็มคณะระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค กับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Leaders’ Dialogue with ABAC)

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธาน ABAC ยินดีที่ได้หารือร่วมกันในวันนี้ ปัจจุบันความท้าทายต่างๆ เป็นภัยคุกคามที่ทุกเขตเศรษฐกิจต้องเผชิญร่วมกัน จึงเห็นได้ว่ารายงานประจำปีของ ABAC จึงเน้นย้ำการร่วมมือกันอย่างจริงจัง เน้นการป้องกันไม่ให้ติดอยู่ในกับดักเงินเฟ้อ วิกฤตอาหาร อำนวยความสะดวกทางการค้า ดำเนินการตามเศรษฐกิจ BCG รับมือกับโรคระบาด การเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม สนับสนุนความเชื่อมโยงและไร้รอยต่อ ภายใต้มาตรฐานและแนวปฏิบัติร่วมกัน รวมถึงการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค สนับสนุน MSMEs โดยเฉพาะ รวมถึงการพัฒนาและนำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมาใช้

จากนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณ ABAC สำหรับรายงานที่มีข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์และปฏิบัติได้จริง สะท้อนข้อเรียกร้องของภาคธุรกิจว่า เอเปคจะต้องดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ อย่างไรต่อไป ซึ่งการหารือในวันนี้เป็นโอกาสดีที่จะได้สานต่อ ความร่วมมือ โดยใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาร่วมกันของภูมิภาค โดยเอเปคมีคุณลักษณะเฉพาะที่ทำให้แตกต่างจากกลุ่มอื่น ๆ อาทิ การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนเพื่อหาทางออกไปด้วยกัน รวมทั้งความสำเร็จของเอเปคในปีนี้เป็นผลมาจากการรับข้อเสนอแนะของเอแบคมาขับเคลื่อนในเอเปค โดยเฉพาะแผนงานต่อเนื่องหลายปีสำหรับวาระเรื่อง FTAAP (Free Trade Area of the Asia-Pacific) ซึ่งส่วนหนึ่งมาจาก ข้อเรียกร้องของเอแบคที่ต้องการให้วาระเรื่อง FTAAP มีความคืบหน้า รวมทั้งการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อการเดินทางที่ปลอดภัย ได้บรรลุผลเป็นรูปธรรม ช่วยฟื้นฟูการเดินทางข้ามแดนอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ นอกจากนี้ยังได้เสนอการจัดทำเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG เพื่อขับเคลื่อนวาระการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมสอดคล้องกับการขับเคลื่อน ด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของเอแบค

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ผลงานของเอแบคปีนี้ ส่งเสริม สอดคล้องกับการดำเนินงานของเอเปคเป็นอย่างดี พร้อมขอให้ใช้ประโยชน์จากการหารือกลุ่มย่อยเพื่อนำข้อเสนอของเอแบคไปสู่นโยบายที่สามารถดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างอนาคตของภูมิภาคที่ยั่งยืนและครอบคลุม

ายกฯ หารือผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและแขกพิเศษ ช่วงอาหารกลางวัน ร่วมกันแสวงหาแนวทางส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมท่ามกลางความท้าทายเพิ่มพูนความร่วมมือเพื่อลดช่องว่างการพัฒนา เดินไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับแขกพิเศษในช่วงอาหารกลางวัน ภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤติเงินเฟ้อ” โดยภายหลังเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญจากการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงรายงานภาพรวมเศรษฐกิจโลกของ IMF ประจำปี 2565 ซึ่งคาดการณ์ว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกจากนี้จนถึงปี 2566 จะชะลอตัว ระดับเงินเฟ้อยังคงเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วและเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาในทิศทางและระดับที่ต่างกัน ตลอดจนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนยิ่งกว้างขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า การสร้างการเติบโตหลังโควิด-19 ที่ครอบคลุมและยั่งยืนมากขึ้น จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง และช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคม

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับฟังและแลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและแขกพิเศษ เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมท่ามกลางสภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอย รวมถึงแนวทางเพิ่มพูนความร่วมมือเพื่อลดช่องว่างการพัฒนา และความเหลื่อมล้ำภายในและระหว่างเขตเศรษฐกิจ

โดยภายหลังการแลกเปลี่ยนมุมมองของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและแขกพิเศษ นายกรัฐมนตรีกล่าวสรุปการหารือ โดยผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและแขกพิเศษ เห็นพ้องกันว่า ท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายต่าง ๆ ยังมีปัจจัยบวกจากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และการค้าการลงทุนที่คำนึงถึงความสมดุลระหว่างธุรกิจกับสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปสู่คนทุกกลุ่ม รวมถึงการขจัดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นความจำเป็นในการพัฒนาเครือข่ายรองรับทางสังคม การส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจของ MSMEs ส่งเสริมบทบาทของสตรี รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การหารือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นการส่งเสริมความร่วมมือที่สร้างสรรค์ระหว่างกัน ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ท้าทาย

ฮอนด้า แอคคอร์ด

ที่สุดแห่งเทคโนโลยีการขับเคลื่อนระดับพรีเมียม