“เฉลิมชัย”ผนึกจีนพัฒนาระบบโลจิสติกส์รถไฟ” ไทย – ลาว – จีน “เผยยูนนานออเดอร์ปลาแช่แข็ง1แสนตันเป็นล็อตแรก “อลงกรณ์”ถกจีนเร่งแก้ปัญหาการจองขบวนรถไฟ-ตู้สินค้าและอัตราค่าขนส่ง เสนอตั้ง”ศูนย์บริการรถไฟไทย ลาว จีน”ครบวงจร พร้อมร่วมพัฒนาCIQขยายเป้าหมายขนส่งไปจีนสู่เอเซียกลาง ตะวันออกกลางและยุโรป
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้ภายหลังคณะผู้แทนจีนจากมณฑลยูนนานนำโดยนายหลิว จิงซิน ประธานสถาบันวิจัยโลจิสติกส์นานาชาติแห่งคุนหมิง เอเซียใต้และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (China Kunming South Asia & Southeast Asia International Logistics Research Institute: SSILR) และคณะผู้ให้บริการโลจิสติกส์ จากสาธารณรัฐประชาชนจีน สมาคมธุรกิจการค้าส่งออกนำเข้าแห่งมณฑลยูนนาน นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย เข้าพบหารือความร่วมมือในประเด็นระบบการบริหารจุดตรวจปล่อย CIQ (Customs Immigration Quarantine) และการขนส่งสินค้าเกษตรจากไทยผ่านลาวไปยังประเทศจีนด้วยระบบขนส่งทางรถไฟสายจีน-ลาว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานด้านโลจิสติส์ร่วมกัน
โดยมี นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (115) ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร”เชื่อมไทย-เชื่อมโลก”จึงแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาโลจิสติกส์เกษตรมีนายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีเกษตรฯเป็นประธานมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพโลจิสติกส์ภาคการเกษตร ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์เกษตรของภูมิภาคอาเซียน” ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญในประเด็นการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรสนับสนุนการค้าและการเปิดตลาดการค้าสินค้าเกษตรกับจีนเนื่องจากเป็นตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยใหญ่ที่สุด โดยระบบโลจิสติกส์เป็นหัวใจสำคัญของการขนส่งสินค้าเกษตร จึงมอบหมายให้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานการทำงานทุกระดับเพื่อขยายความร่วมมือและเร่งผลักดันขยายมูลค่าและปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปจีน
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมให้การสนับสนุนและยินดีในความร่วมมือกับจีนในการเดินหน้าร่วมกันผลักดันการนำเข้า-ส่งออก สินค้าเกษตรด้วยระบบรางคือเส้นทางรถไฟสายจีน-ลาว ถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของสินค้าเกษตรและอาหารของไทยในการเพิ่มปริมาณและมูลค่าในตลาดจีนและมีแผนดำเนินการขยายการลำเลียงขนส่งผ่านจีนไปยังเอเซียกลาง ตะวันออกกลางและยุโรปซึ่งได้ประสานงานกับภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศที่เกี่ยวข้องไปแล้วล่วงหน้าตั้งแต่ปลายปี2562จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้บริษัทจากประเทศจีนมีความสนใจต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรกว่า 1 แสนตัน โดยเฉพาะปลาแช่แข็ง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีความพร้อมด้านการประมง จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะขยายการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่
ทางด้านนายอลงกรณ์กล่าวภายหลังการประชุมกับสถาบันวิจัยโลจิสติกส์คุนหมิงฯ.และคณะผู้ให้บริการโลจิสติกส์และการค้าจีนตามที่รัฐมนตรีเกษตรฯ.มอบหมายว่า บรรยากาศการเจรจาของทั้ง2ฝ่ายเป็นไปอย่างกระตือรือร้นที่จะเพิ่มการขนส่งทางรางบนเส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีนซึ่งเปิดบริการตั้งแต่วันที่3ธันวาคม2564และประเทศไทยได้เริ่มใช้บริการทันทีภายใน1เดือนโดยเฉพาะการขนส่งสินค้าเกษตร
ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันในประเด็นสำคัญ อาทิ 1. การเพิ่มจำนวนขบวนรถไฟและตู้สินค้าทั้งแคร่ ตู้สินค้าปกติและตู้สินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิและระบบการจองขบวนรถและตู้สินค้าตามมาตรฐานสากลเพื่อเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าให้มากขึ้น 2. การพัฒนาระบบการบริหารจุดตรวจปล่อย CIQ (Customs Immigration Quarantine)โดยพิจารณาตัวอย่างการบริหารจัดการด่านตรวจพืชที่ประสบความสำเร็จ เช่น ด่านตรวจพืชลาดกระบัง และด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบังเพื่อให้เป็นด่านตรวจที่เบ็ดเสร็จเกิดความรวดเร็ว 3.การกำหนดราคาค่าระวางขนส่งอย่างเหมาะสมเป็นธรรมและควรถูกว่าการขนส่งทางรถ และ ควรมีอัตราค่าระวางแบบรายย่อยและอัตราค่าระวางพิเศษสำหรับการเหมาขบวนรถและการจองตู้สินค้าล็อตใหญ่ซึ่งมอบสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยพิจารณาจัดตั้งศูนย์บริการการขนส่งรถไฟ-ไทย-ลาว-จีนเพื่อเป็นศูนย์กลางการจองขบวนรถและตู้สินค้าแบบครบวงจร 4.ความร่วมมือด้านมาตรการไดนามิกซีโร่โควิดป้องกันการปนเปื้อนโควิด
“เส้นทางรถไฟลาว – จีน ถือเป็นเส้นทางสำคัญสำหรับการค้าระหว่างประเทศด้วยระบบโลจิสติกส์ ในการขนส่งสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากไทยไปสู่จีน และจะขยายไปยังเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และยุโรป ถือเป็นเส้นทางโอกาสแห่งอนาคต โดยจะบูรณาการทำงานเชิงรุกร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเต็มกำลัง ทั้งนี้ คณะผู้ให้บริการโลจิสติกส์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นคณะแรกจากจีนที่เดินทางมาเยือนไทย ภายหลังจากเส้นทางรถไฟ ไทย ลาว จีน เปิดอย่างเป็นทางการ โดยทางจีนได้แสคงความพึงพอใจในการหารือร่วมกันและพร้อมให้ความร่วมมือ โดยจะนำผลการหารือในครั้งนี้ไปรายงานต่อรัฐบาลจีน ต่อไป สำหรับระบบการบริหารจุดตรวจปล่อย CIQ (Customs Immigration Quarantine)
ปัจจุบันมีพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างไทยและจีน โดยมีสาระสำคัญในการระบุจุดนำเข้าและจุดส่งออกผลไม้ของแต่ละประเทศในภาคผนวก โดยไม่จำกัดเส้นทางในการขนส่งผลไม้ระหว่างกัน โดยได้ลงนามร่วมกันผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 และกำหนดจุดนำเข้าและส่งออกผลไม้ ระหว่างไทยและจีนที่เป็นปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 16 ด่าน โดยมีด่านนำเข้า-ส่งออกของจีน ประกอบด้วย 1) โหย่วอี้กว่าน 2) โม่ฮาน 3) ตงซิง 4) ด่านรถไฟผิงเสียง 5) ด่านรถไฟโม่ฮาน (มีการขนผลไม้ล็อตแรก 3 ธ.ค. 65) 6) เหอโข่ว (เอกชนจีนอยู่ระหว่างการเตรียมจัดซื้อและจัดการด้านโลจิสติกส์ในการขนส่งผลไม้ไทย) 7) ด่านรถไฟเหอโข่ว (ยังไม่สามารถรับผลไม้จากไทย) 8) หลงปัง (ยังไม่สามารถรับผลไม้จากไทย) 9) เทียนเป่า (ยังไม่สามารถรับผลไม้จากไทย) และ 10) สุยโข่ว (ยังไม่สามารถรับผลไม้จากไทย)
ส่วนด่านนำเข้า-ส่งออกของไทย ประกอบด้วย 1) เชียงของ 2) มุกดาหาร 3) นครพนม 4) บ้านผักกาด 5) บึงกาฬ และ 6) หนองคาย ส่วนความคืบหน้าการขนส่งสินค้าเกษตรจากไทยผ่านลาวไปจีนด้วยระบบราง เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ด่านรถไฟโม่ฮาน ได้ถูกบรรจุอยู่ในรายชื่อสถานที่ควบคุมตรวจสอบผลไม้นำเข้า (List of Designated Supervision Sites for Imported Fruits) ของ GACC แล้ว โดยในวันที่ 3 ธันวาคม 2565 (ครบรอบ 1 ปีการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟลาว-จีน) ได้มีการขนส่งสินค้าผลไม้ผ่านทางเส้นทางรถไฟดังกล่าว โดยมีกิจกรรมพิธีต้อนรับขบวนรถไฟขนส่งผลไม้ไทยขบวนแรกผ่านด่านรถไฟโม่ฮาน.