สว.ด้านสื่อสารฯ ชี้ข้อดีของกฎหมายจริยธรรมสื่อ คุ้มครองไม่ใช่ควบคุม
วุฒิสมาชิกด้านสื่อสารมวลชน ชี้ พรบ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อฯ มีจุดสำคัญคือการแยกสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนออกจากสื่อบุคคล เพื่อชี้ชัดนักวิชาชีพสื่อสารมวลชนออกจากบุคคลที่ใช้การสื่อสารเท่านั้น ลั่นสื่อแท้ไม่ต้องกลัว กฎหมายออกมาเพื่อคุ้มครอง
ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ ประธานอนุกรรมาธิการฯด้านสื่อสารมวลชน วุฒิสภา กล่าวว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … ที่คณะรัฐมนตรีเสนอนี้ ใช้เวลามาตั้งแต่รัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2550 จนถึงวันนี้ ใช้เวลา 15 ปี และเชื่อว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้จะแยกสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนออกจากสิทธิเสรีภาพการสื่อสารของบุคคล ด้วยคำว่าจริยธรรมนักวิชาชีพและมาตรฐานสื่อมวลชน
“แล้วคนที่เป็นสื่อมวลชนโดยสุจริตจะกลัวอะไรครับ สื่อที่ผิดจริยธรรมต่างหากที่ต้องกลัว เพราะพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดโทษได้อย่างมาก คือ การภาคทันฑ์ การประนาม เพื่อให้รู้ว่าบุคคลที่อ้างตัวเป็นสื่อนั้นไม่ใช่นักวิชาชีพสื่อสารมวลชน ไม่มีการลงโทษด้วยวิธีอื่น ไม่มีจำคุก ไม่มีปรับ” ดร.นิพนธ์ กล่าว
ดร.นิพนธ์ ยังกล่าวอีกว่า บุคคลที่ต้องการสื่อสารมีสิทธิเสรีภาพสื่อสารกันได้ ใช้สื่อใหม่ได้ แต่เป็นการสื่อสารแบบบุคคลที่จะอยู่ข้างไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องพูดให้ครบถ้วนทุกด้าน ไม่จำเป็นต้องมีจริยธรรมแบบสื่อนะครับ แต่ก็ไม่สามารถรับการคุ้มครองตามกฎหมายแบบสื่อได้
“ผมเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพราะเป็นฉบับที่แยกสิทธิเสรีภาพของนักวิชาชีพสื่อมวลชนที่มีจริยธรรมออกจากสิทธิการสื่อสารแบบบุคคล แต่ควรจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของสื่อมวลชน เพื่อประกอบการทบทวนปรับปรุงแก้ไขบางมาตรา”
สำหรับมาตรฐานและจริยธรรมสื่อสารมวลชน ตามมาตรา 30 ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีอยู่ทั้งหมด 7 ข้อ โดยสาระสำคัญคือ การเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามข้อเท็จจริงด้วยความถูกต้อง ครบถ้วนรอบด้าน และเป็นธรรม รวมทั้งการให้ความเป็นธรรมซึ่งได้รับผลกระทบจากการเสนอข่าวแสดงความคิดเห็น