นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เเละนโยบาย ของดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิชรัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการ ในฐานะประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ Coding แห่งชาติ เปิดเผยว่าได้เดินหน้าเร่งพัฒนา 6 ทักษะเด็กไทย วางรากฐานเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในอนาคต ประเดิมคลอดแบบเรียน Unplugged Coding ประถมต้น ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล
โดยขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ออกแบบเรียน Unplugged Coding ฉบับนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1-3 ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลมาแล้วเพื่อเป็นคู่มือให้ครูผู้สอนสามรถนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนกี่สอนที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ของโรงเรียนโดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อปูพื้นฐานความคิดของผู้เรียนทุกคนให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และเป็นทักษะพื้นฐานของทุกสาขาอาชีพในอนาคตต่อไป
โดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ผู้นำนโยบาย Coding เป็นนโยบายรัฐบาล และผลักดัน Coding เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อวางรากฐานการปฏิรูปโดยตรงถึงเยาวชนและการพัฒนามนุษย์ ได้ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา คณะผู้บริหารสถานศึกษา และคณะครูผู้สอนจากทั้ง 44 โรงเรียนที่ได้ร่วมกันพัฒนาสื่อการเรียนการสอน Unplugged Coding สำหรับเด็กประถมต้นที่เหมาะสมกับโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล โดยบูรณาการฐานการเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การอาชีพในพื้นถิ่นรอบรั้วโรงเรียน และกิจกรรมกระบวนการต่างๆมาประยุกต์เป็นสื่อการเรียนการสอน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียน Coding เป็นอย่างมาก ถือเป็นนโยบายเร่งด่วน โดยให้มีการเรียนตั้งแต่ระดับประถม เน้นการปูพื้นฐานกระบวนการคิดของนักเรียน
นายภูมิสรรค์ กล่าวต่อว่า Coding เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายที่จะทำให้ผู้บริหารสถานศึกษา คุณครูและผู้ปกครอง เข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน จึงมีความจำเป็นที่ต้องเริ่มพัฒนาและออกแบบชุดกิจกรรมตัวอย่างกระบวนการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาการคำนวณแบบไม่ใช้คอมพิวเตอร์ หรือ Unplugged Coding ซึ่งถือเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ครูผู้สอนสามารถนำไปปรับใช้กับการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ของโรงเรียนโดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ได้ต่อไป
“นักเรียนระดับชั้นประถมต้น เป็นวัยที่มีความสำคัญต่อการปูพื้นฐานการคิด โดยเฉพาะการคิดเชิงตรรกะ การคิดเป็นเหตุเป็นผล หรือการตัดสินใจ โรงเรียนจึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะการเรียนรู้ของนักเรียนด้วย ซึ่งการเรียน Unplugged Coding จะส่งผลให้เกิดทักษะที่จำเป็นอย่างน้อย 6 ทักษะ คือ ทักษะการอ่าน การเขียน การคิดอย่างมีเหตุผล การคิดอย่างสร้างสรรค์ การคิดเชิงคำนวณ และการแก้ไขปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งทักษะทั้ง 6 ถือเป็นทักษะสำคัญต่อการพัฒนากำลังคน และความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในอนาคต”นายภูมิสรรค์ กล่าว
ทั้งนี้สำหรับหนังสือ Unplugged Coding ประถมต้น ฉบับโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล นี้เป็นเอกสารคู่มือ มีจุดเน้นเพื่อสื่อสารกับบุคลากรทางการศึกษาโดยเฉพาะครูผู้สอนวิชาวิทยาการคำนวณ นำเสนอวิธีดำเนินกิจกรรมตัวอย่าง Unplugged Coding ถือเป็นต้นแบบที่ดีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของวงการศึกษา เพราะอยู่บนพื้นฐานความเป็นไทย ความเป็นท้องถิ่นที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง หากสนใจสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีที่ https://academic.obec.go.th/…/document/1618978434_d_1.pdf