โครงการบริหารจัดการน้ำฯ ยกระดับวิทยาลัยเกษตรฯ ถ่ายทอดองค์ความรู้บริหารจัดการน้ำ 24 แห่ง พร้อมเตรียมเปิดรับสมัครหลักสูตร “ชลกร” รุ่นที่ 3
วันที่ 29 เมษายน 2566 โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ นำโดย ดร.ปริเวท วรรณโกวิท ผู้จัดการโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ นายประเชิญ คนเทศ มูลนิธิลุ่มน้ำท่าจีนนครปฐม พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย อาทิ ดร. เชาวลิต สิมสวย มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชินานาฏ วิทยาประภากร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา บุคลากรวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 24 แห่ง จำนวน 53 คน เพื่อเพิ่มความรู้และทักษะการบริหารจัดการน้ำ พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมเพื่อขยายผลสู่ชุมชชน ในระหว่างวันที่ 26-28 เมษายน 2566 ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
ดร.ปริเวท วรรณโกวิท ผู้จัดการโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ กล่าวว่า การจัดอบรมอาจารย์ และบุคลากรวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีในครั้งนี้จะเน้นในเรื่องการพัฒนาศักยภาพบุคลากร และถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องหลักการบริหารจัดการน้ำ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ นอกจากจะได้รับการถ่ายองค์องค์ความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ผู้เข้ารับการอบรมทุกท่านยังได้ลงพื้นที่สำรวจเพื่อศึกษาหน้างานจริง โดยได้รับความสนใจจากผู้บริหารและอาจารย์จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 24 แห่งทั่วประเทศ จำนวน 53 คน เข้าร่วม ซึ่งการเปิดอบรมครั้งนี้ถือเป็นการขยายผล เพิ่มความรู้ และทักษะการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ
โดยดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดให้มีการอบรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ สำหรับอาจารย์จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี โดยผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในหลายภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่อง และทุกครั้งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
สำหรับการอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากร และถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องหลักการบริหารจัดการน้ำในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 เมษายน 2566 ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยจะสร้างการมีส่วนร่วม ทั้งภาคทฤษฎี ตั้งแต่ฝึกทักษะการคิดเชิงระบบ (System Thinking) การสำรวจและเก็บข้อมูลเพื่อการวางผังน้ำชุมชน และการบริหารจัดการน้ำไปใช้ในชุมชน โดยเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน และใช้นวัตกรรมในการเรียนรู้ เพื่อนำความรู้ที่ได้กลับไปขยายผลต่อในวิทยาลัยฯ และชุมชนของตัวเอง รวมไปถึงพาไปดูตัวอย่างชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำ จากปราชญ์ชุมชน “ป้าน้อย” นางสนิท ทิพย์นางรอง ผู้นำการจัดการน้ำชุมชนบ้านลิ่มทอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีผลงานโดดเด่นในการบริหารจัดการน้ำชุมชนจนได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซาก ทำให้เกษตรกรมีอาชีพมีน้ำใช้มีรายได้เพิ่มขึ้น 300%
ถือเป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้รับการอบรมจาก 24 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ทั้ง 53 คน ถือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือ Change Agents ที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดสู่ นักศึกษา และชุมชนต่อไป
ดร.ปริเวท กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ นอกจากจะมีการฝึกอบรมผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากรของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังได้มีการส่งนักศึกษาในหลักสูตร “ชลกร” เข้าไปฝึกงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อเรียนรู้งานจริงในพื้นที่จริง ทั้งนี้หลักสูตร “ชลกร” เตรียมที่จะเปิดรับสมัครในรุ่นที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักเรียนสมัครเข้าเรียนเป็นจำนวนมาก