กสม. เผย สตช. แก้ไขระเบียบคัดแยกทะเบียนประวัติอาชญากรคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา ผู้พ้นโทษและเยาวชนแล้ว

Mummai Media

กสม. เผย สตช. แก้ไขระเบียบคัดแยกทะเบียนประวัติอาชญากรคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา ผู้พ้นโทษและเยาวชนแล้ว

กสม. เผย สตช. แก้ไขระเบียบคัดแยกทะเบียนประวัติอาชญากรคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา ผู้พ้นโทษและเยาวชนแล้ว

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2566 นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามสถานการณ์และตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกรณีการจัดเก็บทะเบียนประวัติอาชญากรและการเปิดเผยประวัติที่ส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน เช่น กระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพ กรณีหน่วยงานปฏิเสธไม่รับเข้าทำงานหรือกรณีนายจ้างนำประวัติอาชญากรของผู้ที่เคยถูกดำเนินคดีอาญาในขณะที่ยังเป็นเยาวชนมาประกอบการพิจารณารับเข้าทำงาน ปัญหาฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรไม่เป็นปัจจุบัน รวมทั้งปัญหาบุคคลผู้ได้รับประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการล้างมลทินแล้วแต่ยังคงมีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากร กสม. จึงได้มีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ให้ปรับปรุงแก้ไขระเบียบ สตช. ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ โดยเสนอให้แยกประเภทบัญชีเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 บัญชีประวัติผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งคดีอยู่ระหว่างพิจารณา และประเภทที่ 2 บัญชีบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและให้สอดคล้องตามหลักสันนิษฐานว่าบุคคลทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of innocence) ทั้งยังมีข้อเสนอให้ สตช. บันทึกข้อมูลการล้างมลทินไว้ในทะเบียนประวัติอาชญากรเป็นการเพิ่มเติมด้วย

ภายหลังจาก กสม. มีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงแก้ไขระเบียบ สตช. ดังกล่าว กองทะเบียนประวัติอาชญากร สตช. ได้จัดทำ “โครงการลบล้างประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน” เพื่อติดตาม กำชับเกี่ยวกับการแจ้งผลการดำเนินคดีถึงที่สุด การคัดแยกและทำลายแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือและรายการประวัติหรือบัญชีประวัติออกจากสารบบ โดยผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 – มีนาคม 2566 สามารถลบประวัติอาชญากรของผู้ที่พ้นโทษได้กว่า 2.6 ล้านรายการ หรือร้อยละ 20.15 ของทะเบียนประวัติอาชญากรที่จัดเก็บไว้ทั้งหมดประมาณ 16 ล้านรายการ

ล่าสุด สตช. ได้มีหนังสือลงวันที่ 6 มิถุนายน 2566 แจ้งมายัง กสม. ว่า ขณะนี้ได้แก้ไขปรับปรุงระเบียบ สตช. ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2566 เสร็จแล้ว โดยระเบียบฉบับใหม่ลงวันที่ 27 เมษายน 2566 มีผลบังคับใช้ 30 วัน นับแต่วันประกาศเป็นต้นไป ซึ่งหลักการของการปรับปรุงแก้ไขเป็นไปตามข้อเสนอแนะของ กสม. เพื่อให้การจัดเก็บทะเบียนประวัติสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน โดย สตช. ได้ปรับปรุงเนื้อหาเรื่องการคัดแยกและถอนประวัติการกระทำความผิดอาญา และการกำหนดทะเบียนในการจัดเก็บประวัติในฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ โดยแบ่งออกเป็น 3 ทะเบียน สรุปได้ดังนี้

(1) ทะเบียนประวัติผู้ต้องหา หมายความถึง บัญชีข้อมูลของบุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดที่เป็นคดีอาญา แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล หรือฟ้องต่อศาลแล้วแต่คดียังไม่ถึงที่สุด โดยห้ามมิให้เปิดเผยทะเบียนประวัติผู้ต้องหา ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหาหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่เพื่อประโยชน์ภายใน สตช. ในภารกิจคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน เพื่อใช้ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม สืบสวน สอบสวน การรักษาความปลอดภัยของทางราชการ และการพิจารณาในกระบวนการยุติธรรม และในกรณีที่มีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายหน่วยงานใดต้องการประวัติผู้ต้องหา เพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ประโยชน์สาธารณะ หรือประโยชน์ในการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน ให้เป็นอำนาจพิจารณาของคณะกรรมการทะเบียนประวัติผู้ต้องหา ทะเบียนประวัติอาชญากรและทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิดที่มิใช่อาชญากร

(2) ทะเบียนประวัติอาชญากร หมายความถึง บัญชีข้อมูลของบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดในคดีอาญา โดยต้องคำพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่า 1 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ ยกเว้นเป็นผู้กระทำความผิดโดยประมาทเป็นทะเบียนที่เปิดเผยได้

(3) ทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิดที่มิใช่อาชญากร หมายความถึง บัญชีข้อมูลของบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดในคดีอาญาโดยศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือศาลพิพากษาลงโทษจำคุกแต่รอการลงโทษไว้ หรือรอการกำหนดโทษ หรือลงโทษกักขัง หรือลงโทษปรับสถานเดียว รวมถึงเป็นผู้กระทำความผิดโดยประมาท โดยไม่ให้เปิดเผยต่อบุคคลภายนอก เว้นแต่จะเป็นการให้ข้อมูลกับหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน ในกรณีของการกระทำความผิดซ้ำจากการประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับความปลอดภัยสาธารณะ หรือกรณีอื่นตามที่กฎหมายกำหนด โดยให้เป็นดุลยพินิจของผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ

นอกจากนี้ ระเบียบฉบับนี้ยังกำหนดให้มีการคัดแยกและถอนประวัติให้กับบุคคลที่มีประวัติจัดเก็บไว้ที่กองทะเบียนประวัติอาชญากรตามหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น แผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือของบุคคลในคดีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องหรือคดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษายกฟ้อง บุคคลที่มีกฎหมายบัญญัติในภายหลังว่าการกระทำนั้น ๆ ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายเกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ผู้ได้รับการนิรโทษกรรม ผู้ได้รับการอภัยโทษหรือได้รับประโยชน์จากกฎหมายล้างมลทินเมื่อพ้นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับการอภัยโทษหรือมีกฎหมายล้างมลทิน ผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดในคดีอาญาและไม่ได้กระทำความผิดซ้ำอีกเมื่อพ้นระยะเวลา 20 ปี ผู้กระทำความผิดเป็นเด็กหรือเยาวชน ตามมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติศาล เยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือของบุคคลที่ไม่ได้นำตัวมาดำเนินคดีจนขาดอายุความ เป็นต้น

ด้วยหลักเกณฑ์ข้างต้นตามระเบียบฯ ฉบับใหม่ของ สตช. จะส่งผลให้สามารถคัดแยกทะเบียนประวัติบุคคลที่เป็นผู้ต้องหา (ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด) ออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรได้ เป็นจำนวนถึง 13 ล้านรายการ

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากข้อเสนอต่อ สตช. แล้ว ที่ผ่านมา กสม. ยังมีข้อเสนอให้กระทรวงยุติธรรมเร่งรัดการพิจารณาเสนอร่างพระราชบัญญัติประวัติอาชญากรรม พ.ศ. …. เพื่อเป็นกฎหมายกลางในการกำหนดรูปแบบศูนย์กลางข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร โดยเพิ่มหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการไม่เปิดเผยประวัติผู้ได้รับประโยชน์จากการล้างมลทิน การลบประวัติอาชญากรออกหากเจ้าของประวัติไม่ได้กระทำผิดซ้ำหลังจากพ้นโทษ 5 ปี ซึ่งขณะนี้ กระทรวงยุติธรรมอยู่ระหว่างการดำเนินการ

“ที่ผ่านมา กสม. ได้รับทราบปัญหาของผู้พ้นโทษจำนวนมากที่ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ดังเดิม โดยเฉพาะการขาดโอกาสหรือพบอุปสรรคในการเข้าทำงานในองค์กรต่าง ๆ เนื่องจากยังมีประวัติอาชญากรติดตัวอยู่และผู้อื่นสามารถล่วงรู้ได้ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้พวกเขาต้องหวนกลับไปกระทำผิดซ้ำหรือประกอบอาชีพที่ไม่สุจริต กสม. จึงขอขอบคุณ สตช. ที่ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. แก้ไขปรับปรุงระเบียบเกี่ยวกับการจัดเก็บประวัติอาชญากรโดยการคัดแยกและทำลายแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้พ้นโทษและเยาวชนที่เคยกระทำผิดให้ได้กลับมามีโอกาสที่ดีในชีวิตอีกครั้ง” นางสาวปิติกาญจน์ กล่าว