นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) เปิดเผยวันนี้(7พ.ค.)ว่า การปฏิรูปภาคเกษตรแบบครบวงจรภายใต้”5ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย”คืบหน้าอย่างมากโดยเฉพาะโครงการ1กลุ่มจังหวัด1นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร ได้รับความสนใจจากภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการในหลายจังหวัด ขณะนี้มีจังหวัดเสนอตัวเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นใหม่ได้แก่กาญจนบุรี เพชรบุรี สระบุรี และร้อยเอ็ด
“จังหวัดเพชรบุรีมีพื้นที่อำเภอท่ายางและแก่งกระจานจะพัฒนาเป็นเขตผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรในรูปแบบเกษตรอัจฉริยะ(Smart Farming) จังหวัดกาญจนบุรีที่อำเภอท่าม่วงเป็นนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารและเอสเอ็มอี.มุ่งตลาด7ประเทศรอบอ่าวเบงกอลโดยเล็งทวายเป็นท่าเรือส่งออก การพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมของทั้ง2จังหวัดเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก(Western Economic Corridor) ส่วนสระบุรีจะพัฒนาเป็นซิลิคอนวัลเล่ย์เกษตรอาหารเน้นสตาร์ทอัพที่spin-off จากผลงานวิจัยและพัฒนาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์AICในโมเดลเดียวกับการพัฒนาซิลิคอนวัลเลย์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด”
ประธานกรกอ.เปิดเผยด้วยว่า ล่าสุด นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่าเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม 2564 นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการประชุมหารือการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร จังหวัดร้อยเอ็ด ณ ห้อง Smart Room ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีนายชนาส ชัชวาลวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน เข้าร่วมหารือ พร้อมได้ถ่ายทอดสัญญาการประชุมผ่านระบบ zoom meeting ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้สืบเนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายส่งเสริมเขตอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และมติจากการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (กรกอ.) เห็นชอบให้มีการส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารขึ้นมาโดยจะดําเนินการในพื้นที่ 18 กลุ่มจังหวัด โดยจะมีการเชื่อมโยงการนํานวัตกรรมทางการเกษตรมาใช้ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ในแต่ละจังหวัด ซึ่งเป็นการพัฒนาเกษตรกรในช่วงต้นทาง เพื่อยกระดับเกษตรกร ให้สามารถป้อนวัตถุดิบ การเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในช่วงปลายทาง
โดยจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นหนึ่งในจังหวัดเป้าหมายในการดำเนินการโครงการหนึ่งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร หนึ่งกลุ่มจังหวัด ของพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ดังนั้น การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นการหารือถึง แนวทางการจัดทําข้อมูลรายละเอียดศักยภาพของพื้นที่ และสินค้าเป้าหมาย พร้อมทั้งจัดทําแนวทางการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ต่อไป
โดยจะพิจารณาข้อเสนอของทุกจังหวัดที่เสนอตัวเข้าร่วมโครงการ1กลุ่มจังหวัด 1นิคมอุตสาหกรรมบรรจุในวาระการประชุมของอนุกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารก่อนนำเสนอต่อกรกอ.ในการประชุมเดือนหน้า หากจังหวัดใดสนใจจะเข้าร่วมโครงการสามารถเสนอตัวมาได้ก่อนการประชุมสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้มติที่ประชุมกรกอ.ครั้งที่1 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 ได้เห็นชอบโครงการหนึ่งกลุ่มจังหวัด หนึ่งนิคมอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารทั้งขนาดเล็กขนาดกลางขนาดใหญ่ให้ครบทั้ง 18 กลุ่มจังหวัด เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและตอบโจทย์การเพิ่มมูลค่าตลอดห่วงโซ่ของผลผลิตการเกษตรโดยจะกระจายการลงทุน การสร้างงาน และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อเป็นการสร้างความสมดุลใหม่ของการพัฒนาประเทศ(New Development Balancing) ภายใต้5ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต 2. ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 3.ยุทธศาสตร์ “3’s” (Safety-Security-Sustainability) เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และเกษตรยั่งยืน 4.ยุทธศาสตร์การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะโมเดล “เกษตร-พาณิชย์ทันสมัย” และ 5.ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา