เชียงใหม่ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉิน กรณีเหตุขู่วางระเบิดอากาศยานและอากาศยานอุบัติเหตุลื่นไถลออกนอกทางวิ่ง โดยถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริง เพื่อซักซ้อมและทบทวนขั้นตอนการปฏิบัติ รับมือหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 เวลา 23.30 น.เรืออากาศเอก ธรรมาวุธ นนทรีย์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานมาตรฐานท่าอากาศยานและการบิน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นประธานเปิดการฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉินท่าอากาศยานเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมีนายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้บริหารระดับสูงของ ทอท. ผู้แทนจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยานในราชอาณาจักร และหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ให้เกียรติในพิธีเปิดและร่วมสังเกตการณ์การฝึกซ้อม
การฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉินดังกล่าว ท่าอากาศยานเชียงใหม่จัดขึ้นตามข้อกำหนดของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 14 และ ฉบับที่ 37 ที่กำหนดให้สนามบินที่เปิดให้บริการสาธารณะ ต้องจัดทำแผนฉุกเฉินสนามบินเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีต่างๆ และต้องทำการฝึกซ้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินเต็มรูปแบบ (Full Scale Emergency Exercise ) ตามแผนฉุกเฉินสนามบิน อย่างน้อย 2 ปีครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวน ทดสอบ และปรับปรุงแผนฉุกเฉินให้มีความเป็นไปปัจจุบัน อีกทั้งเป็นโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกิดความคุ้นเคยในการปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ ที่กำหนดในแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถวางแผน ควบคุม สั่งการ ติดต่อสื่อสาร รับทราบถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้เกิดประสบการณ์ในการรับมือต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม เกิดความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างถูกต้อง โดยคำนึงถึงการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตและคงการปฏิบัติการบินไว้อย่างต่อเนื่อง
ด้านนายวิจิตต์ แก้วไทรเทียม ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวว่า การฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉินในปีนี้ ได้กำหนดการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินแบบเต็มรูปแบบ (Full Scale Emergency Exercise) บทที่ 1 เรื่อง อากาศยานอุบัติเหตุ และแผนเผชิญเหตุด้านการรักษาความปลอดภัยของสนามบิน บทที่ 3 เรื่องการขู่วางระเบิดอากาศยาน “ภายใต้รหัสฝึกซ้อม CEMEX-23” โดยใช้สถานการณ์สมมติที่มีลักษณะใกล้เคียงกับเหตุการณ์อากาศยานประสบเหตุไถลออกนอกทางวิ่ง รวมถึงแผนการเคลื่อนย้ายอากาศยานที่ขัดข้อง ทั้งนี้ได้กำหนดสถานการณ์อากาศยานถูกขู่วางระเบิด ขณะเดินทางออกจากประเทศต้นทางมายังท่าอากาศยานเชียงใหม่ และขอนำอากาศยานลงฉุกเฉินแต่เกิดเหตุลื่นไถลออกข้างทางวิ่งระหว่างทำการบินลง มีผู้ได้รับเจ็บ และอากาศยานเกิดความเสียหายไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกจากทางวิ่งได้ทันที ส่งผลต่อการให้บริการผู้โดยสาร และต้องใช้ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงรายเป็นท่าอากาศยานสำรอง โดยต้องใช้เวลาถึง 8 วันในการกอบกู้สถานการณ์