เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ในการอบรมหลักสูตร ผู้นำการค้าโลก หรือ Top X รุ่นที่ 2 จัดโดยความร่วมมือระหว่าง หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการนำเข้าเเละส่งออกแห่งประเทศไทย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภาเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ ณ โรงแรม Chatrium Residence สาธร โดยมีสาระสำคัญจากการบรรยายโดยสรุปได้ว่า
อุณหภูมิโลกสูงที่สุดเมื่อกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นบันทึกหน้าประวัติศาสต์ใหม่ของอุณหภูมิโลก ที่เลขาธิการสหประชาชาติแถลงว่านั่นเป็นเป็นการสิ้นสุดยุค “โลกร้อน Global Warming ” แต่ได้เข้าสู่ยุค “โลกเดือด Global Boiling” ไปแล้ว
เนื่องจากเมื่อวัดอุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มขึ้นทั้งบนพื้นผิวดินและพื้นผิวน้ำ รวมถึงลดอัตราการเกิดน้ำแข็งทั้งในขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ส่งผลให้กลไกธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปจนอาจเลยจุด ‘’ tipping point ‘’ที่ไปกระทบกลไกสำคัญทางธรรมชาติต่ออีกเป็นลูกโซ่มากมาย เช่น การไหลเวียนช้าลงของระบบใต้มหาสมุทรโลก ( The Great Conveyer Belt “ การเกิดปรากฏการณ์ภัยแล้ง ไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ในยุโรปใต้ ฮาวาย เกาหลีใต้และแคนาดา น้ำท่วมหลากครั้งใหญ่ในอินเดีย ปากีสถาน จีน เกาหลีใต้จากพายุฝนในหลายภูมิภาคของโลกแบบฉับพลันในปีนี้ เป็นอาทิ ปัจจัยต่างๆเหล่านี้เป็นเพียงผิวหน้าของผลกระทบบางส่วน ซึ่งหากไม่ตระหนักถึงสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแล้ว จะยิ่งส่งผลให้อุณหภูมิโลกและน้ำทะเลยิ่งมีความร้อนเร็วยิ่งขึ้น
และกำลังจะถึงหลายพื้นที่ร้อนจนเซลล์บางส่วนในพืช สัตว์หรือมนุษย์ก็จะทนไม่ได้ แม้อาจไม่ถึงตายแต่ก็ทำให้เซลล์เครียด ไม่ได้พักผ่อน และอ่อนแอจนหมดภูมิป้องกันตนเอง
ผลกระทบจากสภาวะโลกเดือด เฉพาะในภาคเกษตรกรรม ระดับเบื้องต้น สภาพอากาศแปรปรวนได้ส่งผลต่อการเพาะปลูก ทำผลผลิตไม่ได้ตามเป้าหมาย กระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และทำให้ค่าครองชีพแพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในภาคปศุสัตว์ อุณหภูมิที่เพิ่มสูงส่งผลให้เกิดความเครียดจากความร้อนทำให้สัตว์หลับพักผ่อนไม่สนิท ภูมิคุ้มกันต่างๆลดลง ในภาคการประมงปลาน้ำตื้นจำต้องดำลงลึกไปหาเขตน้ำเย็นกว่า แต่ไม่ใช่บริเวณระดับปกติที่ตัวเคยหากิน ทำให้กระทบการเจริญเติบโต และส่งผลให้ประมงชายฝั่งเสียหาย ส่วนประมงน้ำลึกก็ถูกกระทบจากความถี่ของพายุในมหาสมุทรบ่อยขึ้น เป็นต้น
ทั้งนี้ภาครัฐ เอกชน รวมถึงผู้ประกอบการ จำต้องเตรียมรับมือมาตรการต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยภาครัฐควรเร่งการจัดตั้ง คณะกรรมการภาครัฐร่วมเอกชน หรือ กรอ.สิ่งแวดล้อม เพื่อทำหน้าที่ประสานและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต