ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 28 พ.ย.66 เวลา 11.00 น.นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวเรื่อง วาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ” ร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และพลตำรวจเอก ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยมีสื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย ได้แก่ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ทั้งนี้เพื่อบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนประกาศวาระแห่งชาติ ขับเคลื่อน “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ” ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง
รัฐบาลเห็นปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยมานาน และเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทยจำนวนมาก วันนี้เราจะเอาจริงเอาจัง ทำให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวังและสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทยทุกคน โดยวันนี้เราได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครอง ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน และฝ่ายตำรวจ ที่ช่วยกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมาย จะมาทำงานร่วมกัน แก้ไขทั้งเรื่องหนี้ และมีเรื่องของความสัมพันธ์ในระดับชุมชนที่ละเอียดอ่อน ซึ่งนอกจากการแก้ไขหนี้แล้ว รัฐบาลยังจะฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนขึ้นไปถึงระดับมหภาค ยกระดับความเป็นอยู่ ทำให้ไม่กลับไปมีหนี้ล้นพ้นตัวอีก
นายกรัฐมนตรีย้ำว่าปัญหาหนี้นอกระบบ ได้กัดกร่อนสังคมไทยมายาวนาน และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมอีกหลายประการ รัฐบาลได้ประเมินจำนวนครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบไว้ คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดว่าเลขนี้น่าจะประเมินไว้ค่อนข้างต่ำ และปัญหาจริง ๆ น่าจะมีมากกว่านั้น ทั้งนี้คนที่ไม่ได้เป็นหนี้อาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
เพราะหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบ “ต่อทุกคน” ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ ต้องเจอกับความเปราะบางที่เกิดขึ้นจากหนี้สิน ที่ใช้เท่าไรก็ไม่มีวันหมด พวกเขาไม่สามารถแม้แต่จะฝัน หรือทำตาม Passion ได้ ปิดโอกาสการต่อยอดไปหลายอย่าง ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ ส่งผลกระทบเป็นโดมิโน่ไปยังทุกภาคส่วน และสำหรับนายกรัฐมนตรี หนี้นอกระบบถือว่าเป็น Modern World Slavery คือ เป็น “การค้าทาสในยุคใหม่” ที่ได้พรากอิสรภาพ ความฝัน ไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงปัญหาหนี้ว่าเป็นปัญหาเรื้อรังใหญ่ เกินกว่าที่จะแก้ปัญหาได้โดยไม่มีภาครัฐเป็นตัวกลาง ในวันนี้ รัฐบาลจึงต้องบูรณาการหลายภาคส่วนเข้ามาทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับไปอยู่ในวงจรหนี้สินนอกระบบอีก โดยภาครัฐจะรับบทบาทเป็นตัวกลางสำคัญในการไกล่เกลี่ยพร้อมกันทั้งหมด ดูแลทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างเป็นธรรม ตั้งแต่ต้นกระบวนการจนถึงการปิดหนี้ การทำสัญญา ที่หลายครั้งไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย มีดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม และกระบวนการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง ต้องจัดให้ทำสัญญาที่เป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย นั่นคือ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ภาครัฐจะต้องทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน เพื่อทำให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสหายใจ มีกำลังใจพอจะดำเนินชีวิต หาเงินมาปิดหนี้ให้ได้
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนให้ตำรวจและมหาดไทยไปทำการบ้านมา โดยทั้ง 2 หน่วยงานต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ให้ดีกว่าในอดีตที่เคยแยกกันทำ พูดให้ชัดคือ การแก้หนี้นอกระบบ จะต้องทำด้วยกันแบบ End-to-end และต้องมีมาตรการต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับเข้าไปอยู่ในวงจรอีก และทั้งสองหน่วยงานจะต้องเข้าใจกระบวนการทำงานของกันและกัน ต้องทำให้กระบวนการทำงานไม่ “ซ้ำซ้อน” มีขอบเขตหน้าที่ และความรับผิดชอบ “ร่วมกัน” ที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นจนจบ โดยจะมีการทำฐานข้อมูลกลาง นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความโปร่งใสตั้งแต่ต้นจนจบ มีการให้เลขตรวจสอบ (Tracking ID) ที่ประชาชนสามารถนำไปใช้ติดตามผลได้ มีวิธีการเข้าสู่กระบวนการหลายรูปแบบ เพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน /และต้องมีการสื่อสารกับประชาชนถึงความคืบหน้าต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งจะต้องมีกระบวนการถ่วงดุลระหว่างหน่วยงาน (Check & Balance) เพราะบางกรณีที่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ขอให้ทุกส่วนทำงานอย่างตรงไปตรงมา เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยให้ถูกต้อง เพื่อแก้ปัญหาไปพร้อม ๆ กัน โดยนายกรัฐมนตรีฝากให้ทั้งสองหน่วยงานทำงานอย่างมีเป้าหมาย มี เป้าประสงค์ (KPI) ร่วมกัน และกรอบเวลา (Timeline) ที่ชัดเจน และนายกรัฐมนตรีจะติดตามดูผลอย่างใกล้ชิด
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าหลังจากขั้นตอนการไกล่เกลี่ยแล้ว รัฐบาลจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ โดยกระทรวงการคลังจะเข้ามาช่วยในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน ทั้งการช่วยปรับระยะเวลา เงื่อนไข และกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถชดใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เบียดบังการใช้ชีวิตจนทำให้พี่น้องท้อถอย โดบรัฐบาลจะระมัดระวังไม่สร้างภาวะ “อันตรายทางศีลธรรม” หรือ Moral Hazard ในมาตรการการช่วยเหลือทั้งหมด
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการแก้ไขหนี้ในวันนี้คงไม่ใช่ยาปาฏิหาริย์ที่จะทำให้หนี้นอกระบบไม่เกิดขึ้นอีก แต่มั่นใจว่า ด้วยเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะทำให้พี่น้องประชาชนมีรายได้ที่ดีขึ้น จนไม่จำเป็นต้องก่อหนี้อีกในอนาคต และจะเพิ่มโอกาสให้พี่น้องประชาชนรายเล็ก รายย่อย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น นอกจากหนี้นอกระบบแล้ว ในวันที่ 12 เดือนธันวาคมนี้รัฐบาลจะมีการแถลงเรื่องภาพรวมหนี้แบบครบวงจร ซึ่งจะครอบคลุมทั้งหนี้ในระบบ และหนี้นอกระบบอีกครั้งหนึ่ง โดยนายกรัฐมนตรีจะทำให้โครงการนี้ช่วยปลดปล่อยพี่น้องประชาชนจากการเป็นทาสหนี้นอกระบบ ลืมชีวิตที่เคยลำบาก มีกำลัง มีแรงใจ ที่จะทำตามความฝัน นับจากนี้เป็นต้นไป
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยขอนำแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่ถือเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติมาดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วยกลไกการทำงานและสรรพกำลังในแต่ละพื้นที่ที่มีความเข้มแข็ง ใกล้ชิดกับประชาชน ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ ตั้งแต่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน จนกระทั่งถึงผู้ใหญ่บ้าน
โดยมั่นใจว่าด้วยความใกล้ชิดและได้รับความไว้ใจ เชื่อถือศรัทธาจากพี่น้องประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของทุกสรรพกำลังของกระทรวงมหาดไทยในทุกพื้นที่ ที่จะใช้จุดแข็งด้านนี้ร่วมบูรณาการ ขับเคลื่อน และประสานการปฏิบัติในงานนโยบายกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ในการ “ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ” เพื่อคลายทุกข์ของพี่น้องประชาชน ที่ประสบปัญหาหนี้นอกระบบให้กลายเป็นสุข เกิดผลการดำเนินการสำเร็จเป็นรูปธรรมตามเป้าประสงค์ของรัฐบาล
สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น กระทรวงมหาดไทยจะใช้กลไกการทำงานดังกล่าวร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำงานด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ โดยจะมีการศึกษาการปฏิบัติตามมาตรฐานในการปฏิบัติงาน ให้เข้าใจกระบวนการของทั้งสองหน่วยงาน ตั้งแต่การช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะในมิติด้านการไกล่เกลี่ยและประนีประนอมข้อพิพาท การเฝ้าระวังและป้องกัน รวมถึงการปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ จะมีการประสานเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบไม่ซ้ำซ้อนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมทั้งจะร่วมกันดำเนินการในทุกภาคส่วนอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเป็นไปตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันได้ โดยจะกำหนดแผนการดำเนินการ เป้าหมาย และ KPI ให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน
พร้อมขอเชิญพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหา “หนี้นอกระบบ” ไม่ว่าจะเป็นการถูกข่มขู่คุกคาม ถูกดูหมิ่น ในการทวงถามหนี้ ถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรม หรือท่านที่มีความประสงค์จะปรับเปลี่ยนแก้ไขหนี้จากนอกระบบให้เป็นหนี้ในระบบ เพื่อที่ท่านจะได้มีภาระในการผ่อนชำระน้อยลง โดยสามารถลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบได้ที่ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ณ ศาลากลางจังหวัดทุกแห่ง และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง โดยในส่วนของกรุงเทพมหานคร สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง เพื่อที่กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรวบรวมข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน นำไปสู่การบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ให้แก่พี่น้องประชาชนเป็นราย ๆ ไป โดยพี่น้องประชาชนจะได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้ตรงจุด ตรงประเด็น และเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อตัวชี้วัดของการแก้ไขปัญหาในระดับชาติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปด้วย
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในส่วนกระทรวงการคลังนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการคลังมาดูแลประชาชนที่เป็นลูกหนี้นอกระบบ หลังจากที่มีการปรับโครงสร้าง และไกล่เกลี่ยกันเรียบร้อยแล้ว โดยจะมาดูแลโดยธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ซึ่งขณะนี้มีโครงการอยู่แล้ว ในเรื่องของการแก้ไขหนี้นอกระบบ โดยจะให้กู้ต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นโครงการสินเชื่อ สำหรับอาชีพอิสระ เพื่อรายย่อย เพื่อการส่งเสริมอาชีพ ซึ่งเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ให้กู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ระยะเวลาสูงสุด 8 ปี ส่วนอัตราดอกเบี้ย เป็นไปตามความสามารถของลูกหนี้แต่ละราย นอกจากนั้นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังมีโครงการมารองรับ ในเรื่องของการที่นำที่ดินไปขายฝาก หรือติดจำนองกับทางหนี้นอกระบบและได้มีการแก้ไขแล้ว ธ.ก.ส. ก็มีวงเงินสำหรับเกษตรกรต่อรายไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ในเรื่องของการแก้ไขที่ทำกิน ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนในเรื่องของธนาคารของรัฐที่จะเข้ามาดูแลหลังจากที่มีการไกล่เกลี่ยกันเรียบร้อยแล้ว สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะดำเนินการให้ถูกกฎหมายทางรัฐก็มีช่องทางให้ดำเนินการขออนุญาตเรื่องของพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งวันนี้มีผู้มาขออนุญาตไปแล้วพันกว่ารายทั่วประเทศ โดยต่อราย มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาทเท่านั้น แต่หลักการไม่ให้ฝากเงิน ให้ใช้เงินของท่านกู้เงินอย่างเดียว
รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงปัญหาหนี้นอกระบบว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบในมิติด้านการบังคับใช้กฎหมายพร้อมที่จะขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ด้านการสืบสวน จับกุม และดำเนินคดี กับผู้กระทำความคิดผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ในทุกรูปแบบ จากสภาพปัญหาหนี้นอกระบบที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน ที่ถูกโกงหนี้โดยใช้ความรุนแรง จึงได้จัดตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้มีประสิทธิภาพ โดยมี สายด่วน 1599 เป็นหมายเลขรับแจ้งเหตุ และได้กำหนดแผนปฏิบัติ ตั้งแต่สำรวจข้อมูลในพื้นที่ เพื่อค้นหาเป้าหมาย สั่งการให้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธร 1-9 ทำการเอกซเรย์พื้นที่ และส่งข้อมูลขึ้นบัญชีผู้ประกอบการหนี้นอกระบบทั้งหมด นำมาจัดกลุ่มผู้ประกอบการ ในระดับ SML เพื่อพิจารณาดำเนินการโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ ที่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้
นอกจากนั้นยังบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยในห้วงที่ผ่านมามีผลการจับกุมผู้กระทำความผิด เกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงปัจจุบัน จำนวน 134 ราย หยุดรถยนต์ของกลาง 22 คัน รถจักรยานยนต์ 19 คัน รวมมูลค่าของกลาง 8 ล้านบาทเศษ มีการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบรายใหญ่ เช่น จับกุมเครือข่ายรับจำนำรถยนต์พื้นที่จังหวัดชลบุรีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 จับกุมเครือข่าย รับจำนำรถยนต์พื้นที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 จับกลุ่มแก๊งปล่อยเงินกู้ ทวงหนี้โหด พื้นที่อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมที่จะทำงานบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย รวมถึงหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการไกล่เกลี่ยหนี้ การลงข้อมูลในระบบข้อมูลกลาง เพื่อให้การติดตามผลเป็นไปอย่างโปร่งใส สอดคล้องกับเป้าหมาย KPI ตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามนโยบายรัฐบาลต่อไป