นายกฯแจ้ง 6 ยุทธศาสตร์จัดทำงบฯ 3.1 ล้านล้านบาท เพื่อประโยชน์สูงสุด เน้นใช้จ่ายที่คุ้มค่า ยึด รัฐธรรมนูญไทย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

Ittipan Buathong

นายกฯแจ้ง 6 ยุทธศาสตร์จัดทำงบฯ 3.1 ล้านล้านบาท เพื่อประโยชน์สูงสุด เน้นใช้จ่ายที่คุ้มค่า ยึด รัฐธรรมนูญไทย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2  สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1  เป็นพิเศษ  พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรถึงเป้าหมายและแนวทางร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565  เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมทั้งขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยยึดบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ  พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561  พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561  รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

นายกฯแจ้ง 6 ยุทธศาสตร์จัดทำงบฯ 3.1 ล้านล้านบาท เพื่อประโยชน์สูงสุด เน้นใช้จ่ายที่คุ้มค่า ยึด รัฐธรรมนูญไทย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจ้งสาระสำคัญงบประมาณรายจ่าย 2565 จำนวน 3,100,000 ล้านบาท เป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล กำหนดรายได้สุทธิจำนวน 2,400,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 700,000 ล้านบาท รวมเป็นรายรับทั้งสิ้น 3,100,000 ล้านบาท จำแนกยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ด้านความมั่นคง จำนวน  387,909.6 ล้านบาท ร้อยละ 12.5 ของวงเงินงบประมาณ ด้วยการเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ   รักษาความสงบภายในประเทศ พัฒนาและเสริมสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  ปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ การป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด  ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง และพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศเพื่อพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ พัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ พัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม รวมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน  จำนวน 338,547.6 ล้านบาท ร้อยละ 10.9 ของวงเงินงบประมาณ โดยมีเป้าหมายกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกภูมิภาคของประเทศ ดังนี้  การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ เพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น พัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม รองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน  การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว กระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสู่ชุมชนและพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การพัฒนาผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล โดยมีเป้าหมายให้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี  การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต การเกษตรสร้างมูลค่า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร การพัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ การพัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก  การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เพิ่มมูลค่าของธุรกิจดิจิทัลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล/อินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง การพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์  จำนวน 548,185.7 ล้านบาท ร้อนละ 17.7  ด้วยการเสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี  พัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต พัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ เสริมสร้างศักยภาพการกีฬา ปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม มีความรักและความภูมิใจในความเป็นไทย น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต เพื่อให้สังคมไทยมีความสุข สนับสนุนด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม  จำนวน 733,749.6 ล้านบาท ร้อยละ 23.7 เพื่อสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม กระจายศูนย์กลางความเจริญให้ทั่วถึง เพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ ด้วยการเสริมสร้างพลังทางสังคม ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมเพิ่มขึ้น กระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  พัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ  เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย พัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างหลักประกันทางสังคมและความเสมอภาคทางการศึกษา รวมทั้งมาตรการแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เพื่อเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐและโอกาสทางสังคมได้อย่างเท่าเทียมกันและปลอดภัย

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  จำนวนเงิน 119,600.3 ล้านบาท ร้อยละ 3.9 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาและอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล สร้างการเติบโตบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง หมอกควันและไฟป่า ปัญหามลพิษและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้ประเทศมีความมั่นคงด้านน้ำเพิ่มขึ้น การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ   สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจ  จัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ มลพิษและสิ่งแวดล้อม ยกระดับกระบวนทัศน์เพื่อกำหนดอนาคตประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ยุทธศาสตร์ที่ 6 : ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ  จำนวน 559,300.5 ล้านบาท ร้อยละ 18.0 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยมีแผนงานเน้นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ลดปัญหาการทุจริตในสังคมไทยให้ค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index : CPI) อยู่ในอันดับ 1 ใน 54 และ/หรือได้คะแนนสูงกว่า 50 คะแนน ภายใต้รัฐบาลดิจิทัล พัฒนาการให้บริการภาครัฐผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้อย่างคุ้มค่า พัฒนาบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ พัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา ปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รวดเร็ว โปร่งใส มีขนาดที่เล็กลง พร้อมปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า งบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันนโยบายและให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจภายในประเทศและผลกระทบจากภายนอก รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งในปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 4.0 – 5.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก แนวโน้มขยายตัวทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 – 1.7  ซึ่งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2565 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี 

Leave a Comment