ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “วิกฤติเศรษฐกิจกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22-24 มกราคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 63.51 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน รองลงมา ร้อยละ 20.15 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ต้องหาทางแก้ไขแต่ไม่เร่งด่วน ร้อยละ 10.08 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ไม่น่าวิตกกังวลใด ๆ ร้อยละ 5.65 ระบุว่า ไม่ได้เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ และร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
สำหรับการเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจของประชาชนในขณะนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 36.72 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเร่งด่วน รองลงมา ร้อยละ 31.91 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่สามารถรับมือได้ด้วยตนเอง ร้อยละ 20.45 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ไม่เร่งด่วน และร้อยละ 10.92 ระบุว่า ไม่ได้เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจใด ๆ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.66 ระบุว่า ควรหยุดการดำเนินการในนโยบายนี้ได้แล้ว รองลงมา ร้อยละ 33.66 ระบุว่า ดำเนินนโยบายต่อไปในปีนี้ ตามที่ได้ประกาศไว้ ร้อยละ 18.55 ระบุว่า ดำเนินนโยบายต่อไปในปีนี้ แต่แจกเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 5.88 ระบุว่า เลื่อนการดำเนินนโยบายไปในปี 2568 ร้อยละ 4.58 ระบุว่า เลื่อนการดำเนินนโยบายไปในปี 2568 แต่แจกเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางทางเศรษฐกิจ และร้อยละ 2.67 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนหากนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ตัดสินใจยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 68.85 ระบุว่า ไม่โกรธเลย รองลงมา ร้อยละ 12.37 ระบุว่า ค่อนข้างโกรธ ร้อยละ 9.39 ระบุว่า โกรธมาก ร้อยละ 8.85 ระบุว่า ไม่ค่อยโกรธ และร้อยละ 0.54 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 18.01 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.74 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.71 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่าง ร้อยละ 12.90 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.79 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.93 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.64 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 23.74 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 95.95 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.59 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.46 นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอื่น ๆ
ตัวอย่าง ร้อยละ 36.18 สถานภาพโสด ร้อยละ 61.83 สมรส และร้อยละ 1.99 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 24.50 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 36.18 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.31 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่าร้อยละ 25.73 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 4.28 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
ตัวอย่าง ร้อยละ 8.47 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 17.02 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.76 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 11.99 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.11 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.85 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 5.80 เป็นนักเรียน/นักศึกษา
ตัวอย่าง ร้อยละ 23.36 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 19.24 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 29.31 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 9.39 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 3.13 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 4.43 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 11.14 ไม่ระบุรายได้