นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากนโยบายการแก้ไขปัญหา หนี้นอกระบบ ของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดรับลงทะเบียนให้ประชาชนที่มีความประสงค์ให้ทางราชการช่วยแก้หนี้นอกระบบ ซึ่งขณะนี้พบว่ามีประชาชนมาลงทะเบียนรวมทั้งสิ้น 153,400 รายแล้ว มีลูกหนี้ที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 144,998 ราย มูลหนี้ลดลงรวม 1,190.970 ล้านบาท โดยยังคงเหลืออีก 8,402 ราย ที่อยู่ระหว่างการดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ย ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้เชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้มาพบปะพูดคุยกัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประสบความสำเร็จครบทั้งกระบวนการต่อไป นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ เจ้าหนี้-ลูกหนี้ มีความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ได้ส่งต่อเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ดำเนินคดี จำนวน 456 คดี
ทั้งนี้ รัฐบาลขอย้ำเตือนให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการแก้ไขหนี้ ขอให้รีบมาลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการแก้ไขหนี้ตามมาตรการของรัฐ ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 นี้ เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐและสามารถแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้อย่างครบถ้วน รวดเร็ว และเป็นธรรม รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของลูกหนี้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ในส่วนของเจ้าหนี้ หากไม่มาลงทะเบียนภายในเวลาที่กำหนด จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป
ขณะเดียวกันในวันที่ 24 พฤษภาคม 2567) เวลา 13.30 น ที่ห้องประชุม ชั้น7 ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) ดร. พีระพันธ์ เหมะรัต เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และรองศาสตราจารย์พิเศษ พลโท ดร. วีระ วงศ์สรรค์ ประธานชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด ในฐานะผู้แทนทั้งสององค์กร ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ในการร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการร่วมเป็นสักขีพยาน
สำหรับเนื้อหาหลักของการทำความร่วมมือครั้งนี้ คือ 1 ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด ให้ความร่วมมือกับสกสค.ให้บริการทางวิชาการด้านการบริหารหรือวางแผนทางการเงินแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา 2 ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด ให้ความร่วมมือกับ สกสค. ในการให้คำปรึกษาทางการเงินและกฎหมายแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา
เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ผลจากการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นสมควรให้ สกสค. ได้ประสานงานกับสถาบันการเงินและทำหนังสือถึงธนาคารออมสิน เพื่อขอความร่วมมือในการบรรเทาความเดือดร้อน โดยขอให้ชะลอหรือระงับการฟ้องร้องและบังคับคดีให้มีการไกล่เกลี่ยเจรจาหาทางแก้ไขร่วมกันขอให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ยหรือสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำในการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ รวมทั้งการขอให้ระงับการคิดดอกเบี้ยทันทีที่ผู้กู้เสียชีวิต
“ปัญหาทางการเงินเป็นภาระหนึ่งของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องเร่งเข้าไปดำเนินการช่วยแก้ไข โดยที่ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด ที่มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ ทั่วประเทศเป็นสมาชิก และสมาชิก ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูก็คือครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนั้นสกสค. และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทยฯ จึงมีความเห็นร่วมกันว่าการแก้ไขปัญหาเพื่อลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นภารกิจร่วมกันของทั้งสองฝ่าย”เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. กล่าว