“เอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์”ผนึก “เกาหลี” กระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

“อลงกรณ์”ชี้ การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-เกาหลีช่วยยกระดับศักยภาพใหม่ 2 ประเทศ ขยายการลงทุนเพิ่มมูลค่าการค้า 5 แสนล้าน

วันนี้ 5 ก.ย.67 นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ. ไทยแลนด์ (FKII Thailand: Field for Knowledge Integration and Innovation) เปิดเผยวันนี้ว่า สถาบันเอฟเคไอไอ. ไทยแลนด์(FKII Thailand) สถาบันทิวา(TVA)และสมาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเกาหลี-เอเซีย(Korea-Asia Economic Cooperation Association :KOAECA)จับมือจัดงานสัมมนา(seminar)และจับคู่ธุรกิจ(business matching) “เอฟเคไอไอ. โกลบอล บิสสิเนส ฟอรั่ม : ความร่วมมือ ไทย-เกาหลี” (FKII GLOBAL BUSINESS FORUM: THAI – KOREA COLLABORATION) ในวันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2567 เวลา 9.00-13.30 น. ณ สวนเสียงไผ่ ทาวน์อินทาวน์


โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุนการท่องเที่ยวรวมทั้งด้านเกษตรอัจฉริยะและธุรกิจไบโอเทคโนโลยีด้านสุขภาพ
เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับไทยมาถึง66 ปีซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันเกาหลีใต้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และเป็นประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่อันดับ 6 ของโลก มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีชั้นสูง รวมทั้งยังเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงอย่างยิ่งในการใช้ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์”เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่าง 2 ประเทศนั้นเกาหลีใต้เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญ

ในปี 2566 เกาหลี เป็นคู่ค้าอันดับ 12 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน14,736.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า 5 แสนล้านบาทโดยไทยส่งออกไปสาธารณรัฐเกาหลี 6,070.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐและนำเข้าจากสาธารณรัฐเกาหลี 8,666.42 ล้านดอลลาร์


สำหรับด้านการท่องเที่ยว ในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 มีนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้หลั่งไหลเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยประมาณ 2 ล้านคนต่อปี
ทั้งประเทศไทยและเกาหลีใต้ได้ร่วมกันจัดแคมเปญเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยให้ปี 2566 และปี 2567 เป็น “ปีแห่งการเยี่ยมเยียนระหว่างสองประเทศ”


ส่วนทางด้านการลงทุนมีบริษัทเกาหลีมากกว่า 400 ราย ที่เข้ามาลงทุนในไทยและประสบความสำเร็จอย่างดี โดยบริษัทรายใหญ่หรือกลุ่มแชโบล เช่น ซัมซุง แอลจี พอสโก ฮันวา และฮันซอล ถือเป็นคลื่นการลงทุนลูกแรกจากเกาหลีที่เข้ามาไทยเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว และได้ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีโครงการลงทุนจากเกาหลีเข้ามาอย่างต่อเนื่องปีละเฉลี่ย 30 โครงการ เงินลงทุนราว 5 พันล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่ทั้งสองประเทศมีความสนใจร่วมกัน และเกาหลีมีความเชี่ยวชาญ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เซมิคอนดัคเตอร์ ระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีชีวภาพ ดิจิทัล โดยเฉพาะการพัฒนาเกมและระบบอัจฉริยะใน Smart City รวมทั้งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์


อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบในประเทศอาเซียน เกาหลีใต้ยังลงทุนในไทยน้อย โดยอยู่ในอันดับที่ 8 ซึ่งมากกว่าเพียงแค่ลาวและกัมพูชาเท่านั้นจึงเป็นโอกาสที่จะขยายการลงทุนได้อีกมาก


“ผมเห็นด้วยกับการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement: EPA) ไทย-เกาหลี  ซึ่งเริ่มการเจรจาและตั้งเป้าเจรจาเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2568 หรือต้นปี 2569 เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัดการจัดทำความตกลงการค้าเสรีของไทยให้มากขึ้น

เอฟทีเอฉบับนี้ จะเป็นการต่อยอดจากเอฟทีเอที่ไทยและเกาหลีเป็นภาคีร่วมกัน ทั้งความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–เกาหลี (AKFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย อีกทั้งยังช่วยดึงดูดการลงทุนจากสาธารณรัฐเกาหลีเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น”


นายอลงกรณ์กล่าวว่า สัปดาห์ที่แล้ว ตนและ ดร.อาณัฐชัย รัตตกุล รองประธานFKII ด้านต่างประเทศได้สนทนากับฯพณฯมุน ซึง–ฮย็อน (Moon Seoung–hyun) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ประจำประเทศไทยซึ่งสถานเอกอัครราชทูตยินดีเข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไทย ฯพณฯมุน ซึง–ฮย็อน (Moon Seoung–hyun) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ประจำประเทศไทยได้ชี้ให้เห็นโอกาสใน 4 ด้านที่จะเพิ่มความร่วมมือระหว่างกัน

ด้านที่ 1 คือ ความร่วมมือกันในด้าน EV (Electric Vehicle) ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเกาหลีใต้มีผู้ผลิตที่สำคัญ อย่าง “Hyundai” และ “Kia” รวมทั้งแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีซัมซุง และแอลจีเป็นผู้นำ นอกจากนี้ ยังมองว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ EV จะมีส่วนช่วยสำคัญในนโยบายการดูแลสิ่งแวดล้อม และการไปถึงเป้าหมาย Zero Corbon ในปี 2593


ด้านที่ 2 “ความร่วมมือด้านดิจิทัล” โดยการเพิ่มความร่วมมือในธุรกิจอี-คอมเมิร์ช (E-commerce) ดิจิทัลแบงกิ้ง (Digital Banking) และธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ซึ่งเป็นธุรกิจที่เป็นที่นิยมในเกาหลีใต้ และธนาคารในเกาหลีใต้ได้ยกระดับเป็น Digital Banking เกือบทั้งหมดแล้ว ทำให้สามารถเพิ่มความร่วมมือระหว่างกันได้ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่เกาหลีใต้สนใจมาลงทุน


ด้านที่ 3 คือ ความร่วมมือในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์Soft Power เพื่อประชาสัมพันธ์ และเพิ่มมูลค่าของทั้งคนไทย และประเทศ ยกตัวอย่าง เกาหลีใต้ มีอุตสาหกรรม K-POP หรือการสอดแทรกส่งเสริมวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ สถานที่ท่องเที่ยว หรือตัวสินค้าในซีรีส์เกาหลี ซึ่งจะเห็นว่าสามารถทำเงินได้มหาศาลโดยมองว่า ทั้งสองประเทศมี “จุดแข็ง” ร่วมกันที่จะช่วยส่งเสริม Soft Power ได้ อย่าง Lisa BLACKPINK ซึ่งนอกจากจะทำเงินได้มากมายแล้ว ยังเปรียบเสมือนเป็น “ผู้เชื่อมโยงสานสัมพันธ์ระหว่างไทยและเกาหลีใต้”

และด้านที่ 4 “ความร่วมมือกันในอุตสาหกรรมอนาคต” ซึ่งอาจเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ยานอวกาศ ฯลฯ.

สำหรับสถาบันเอฟเคไอไอ. ไทยแลนด์(FKII Thailand: Field for Knowledge Integration and Innovation)เป็นองค์กรวิสาหกิจเพื่อสังคม(Social Enterprise)ทำหน้าที่สนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศรวมทั้งเป็นตัวกลางเชื่อมประสานระหว่างหน่วยงานวิจัยกับภาคเอกชนภาครัฐทั้งในและต่างประเทศทางด้านนวัตกรรมและองค์ความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพใหม่ของประเทศและการพัฒนาอย่างยั่งยืนตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ของโลกปัจจุบันและอนาคต.

ฮอนด้า แอคคอร์ด

ที่สุดแห่งเทคโนโลยีการขับเคลื่อนระดับพรีเมียม