“สว.ชีวะภาพ” เตือนรัฐบาลรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย-เสี่ยงเพดานกู้เงิน

Mummai Media

“สว.ชีวะภาพ” ประธานกมธ.ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 68 เตือนรัฐบาลมีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายเสี่ยงเพดานกู้เงิน แนะต้องมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม

"สว.ชีวะภาพ" เตือนรัฐบาลรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย-เสี่ยงเพดานกู้เงิน

วันนี้ 9 ก.ย. 67 นายชีวะภาพ ชีวะธรรม สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 รายงานผลการศึกษาว่า คณะกรรมาธิการฯ ใช้เวลาทำงานศึกษาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว จำนวน 15 วัน พร้อมมีข้อสังเกตถึงรัฐบาล 8 หัวข้อ ดังนี้

1.แนวเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย รัฐบาลควรเร่งทำงาน 3 เรื่อง คือการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการใช้จ่ายลงทุนเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว และการเร่งรัดการลงทุนในโครงการลงทุน นอกจากนี้ รัฐบาลควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือน เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และการรักษาพื้นที่ทางการคลัง และปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์

2.ความเสี่ยงทางการคลังในการจัดทำงบประมาณ รัฐบาลมีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายมาตลอด ทำให้สัดส่วนการกู้เงินเพื่อชดเชยอยู่ในระดับสูงขึ้นตามไปด้วย คณะกมธ.จึงมีข้อสังเกตว่าการจัดทำงบประมาณสุ่มเสี่ยงต่อเพดานกู้เงินเพื่อชดเชยงบประมาณตามที่กฎหมายกำหนด จากการจัดเก็บรายได้ที่ได้น้อยกว่าประมาณการทำให้พื้นที่การคลังมีจำกัด ดังนั้น รัฐบาลต้องเพิ่มศักยภาพจัดเก็บรายได้ให้ใกล้เคียงหรือสูงกว่าที่ประมาณการ และกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการลดรายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายประจำ

3.สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ตั้งแต่ปี62-65 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องแม้ยังอยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนด แต่หากรัฐมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายมากขึ้นผ่านกู้เพื่อชดเชย แต่การชำระต้นเงินกู้จะทำให้ยอดลดลงไม่มาก ทำให้การรักษากรอบวินัยการเงินการคลังสุ่มเสี่ยม ดังนั้น รัฐต้องจัดงบประมาณเพื่อชำระต้นเงินกู้เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.5 แต่ไม่เกินร้อยละ 4.0

4.ประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ เพื่อให้มีรายได้ที่พอเพียงหรือใกล้เคียงกับรายจ่าย การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล รัฐบาลจำเป็นต้อนขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจให้มีผลเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร เอสเอ็มอี ปรับเปลี่ยนโครงสร้างพลังงาน สร้างรายได้ท่องเที่ยว เป็นต้น

5.การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ รัฐบาลควรหาแนวทางเพื่อลดจำนวนเงินกู้ เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และต้องรักษากรอบวินัยการเงินการคลัง ให้เป็นไปตามที่กำหนด รวมถึงหลีกเลี่ยงนโยบายหรือโครงการที่จะส่งผลให้ใช้เงินกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณในจำนวนที่สูงขึ้นในอนาคต เพื่อให้การจัดทำงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

6.การจัดทำงบประมาณเพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ ควรเพิ่มสัดส่วนงบประมาณกับยุทธศาสตร์ชาติ จัดทำแผนงานหรือโครงการ และจัดสรรงบประมาณให้กับแผ่นแม่บท และควรกำกับติดตาม รวมถึงควรจัดทำแผนงานให้สอดคล้องกับคำนิยามของแผนงาน ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

7.เพิ่มประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายและการกันเงินเหลื่อมปี โดยปี68รัฐบาลควรเพิ่มประสิทธิภาพ หรือเร่งรัดการบเบิกจ่าย เพื่อให้เม็ดเงินของรัฐเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ

8.การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานเชิงพื้นที่ ควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้กับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเต็มกรอบวงเงิน 2.8 หมื่นล้านบาท จัดทำแผนงานพัฒนาจังหวัด ไม่ควรกำหนดรูปแบบให้เหมือนกันทุกจังหวัด แต่ควรให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผนให้เหมาะสมกับทิศทางตามศักยภาพพื้นที่

"สว.ชีวะภาพ" เตือนรัฐบาลรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย-เสี่ยงเพดานกู้เงิน

"สว.ชีวะภาพ" เตือนรัฐบาลรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย-เสี่ยงเพดานกู้เงิน