เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และคณะอนุกรรมการสนับสนุนการเตือนภัยในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (ฝ่ายไทย) นำโดย ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการมูลนิธิฯ และ ประธานคณะอนุกรรมการฯ เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก มยะ ทุน อู รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและการสื่อสาร พร้อมผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงฯ และหน่วยงานฝ่ายเมียนมาที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือเรื่องการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ เพื่อใช้ในการเฝ้าระวัง เตือนภัยจากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก และวางกรอบแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน ณ Government Office No. 5 กระทรวงคมนาคมและการสื่อสาร กรุงเนปยีดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
จากการหารือ ได้ข้อสรุปเบื้องต้น ดังนี้
1) ฝ่ายเมียนมาขอบคุณในการให้ความช่วยเหลือของฝ่ายไทย ทั้งในระหว่างเกิดภัย และการเฝ้าระวังก่อนเกิดภัย โดยฝ่ายเมียนมาพร้อมอำนวยความสะดวกในการติดตั้งสถานีโทรมาตรฯ จำนวน 4 จุด ในจังหวัดท่าขี้เหล็ก
2) ในช่วงการติดตั้ง ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2567 กรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์เมียนมา มอบหมายให้ รองอธิบดีกรมอุตุฯ และ วิศวกรเชี่ยวชาญ ร่วมสำรวจพื้นที่ติดตั้งสถานีโทรมาตรฯ จุดใหม่ทดแทนจุดเดิมที่เสียหายจากอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา และติดตั้งสถานีโทรมาตรฯ ที่สามารถดำเนินการได้ ด้วย
3) กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานร่วมกันในการเฝ้าระวังภัยพิบัติ โดยอิงจากแนวทางการดำเนินงานที่ฝ่ายไทยเคยทำร่วมกับฝ่ายสปป.ลาว ทั้ง 2 ฝ่าย จึงเสนอให้มีการทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) โดยสามารถทำเป็นระหว่าง มูลนิธิฯ (ฝ่ายไทย)และ กระทรวงคมนาคมฯ (ฝ่ายเมียนมา) หรือ ผ่านช่องทางคณะกรรมการระดับสูง ไทย-เมียนมา (HLC: High Level Committee)
จากนั่นได้เดินทางไปยัง ณ สำนักงานกรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ กรุงเนปยีดอ ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ และคณะทำงานฝ่ายไทย เข้าพบ อธิบดีและคณะผู้บริหาร กรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ เมียนมา เพื่อหารือแนวทางการดำเนินงานและให้ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ดังนี้
1.ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับสถานีโทรมาตร
2.แผนการติดตั้งสถานีโทรมาตร ที่ จังหวัดท่าขี้เหล็ก จำนวน 4 สถานี ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2567
3.แผนการเดินทางสำรวจจุดติดตั้งสถานีโทรมาตรเพิ่มเติม (จุดใหม่ทดแทนจุดที่ติดตั้งไม่ได้)
4.รูปแบบการดำเนินงานโครงการที่ไทยให้การสนับสนุน เช่น การถ่ายทอดองค์ความรู้, การอบรมการใช้งานให้เจ้าหน้าที่กรมอุตุฯ เมียนมา เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง, การบำรุงรักษาสถานีโทรมาตรฯ รวมไปถึงการสร้างความเข้าใจและสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของในประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเฝ้าระวังก่อนเกิดภัย