กมธ. พัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา แสดงพลังเชิงสัญลักษณ์รณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัว สตรี และเด็ก

Mummai Media

กมธ. พัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา แสดงพลังเชิงสัญลักษณ์รณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัว สตรี และเด็ก

วันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2567 เวลา 09.30 นาฬิกา ณ บริเวณหน้าห้องประชุม CA 330 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และความหลากหลายทางสังคม วุฒิสภา นำโดย นางวราภัสร์ ไพพรรณรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการ แถลงรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว โดยองค์การสหประชาชาติจัดอันดับให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรีมากที่สุดในโลก ซึ่งตั้งแต่ปี 2547 – 2566 ที่มีการตั้งศูนย์พึ่งได้ (One Stop Service Center : OSCC) ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุดเป็นเพศหญิง 165,494 ราย เด็ก 154,453 ราย เพศชาย 7,467 ราย และเพศทางเลือก 79 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567) โดยผู้ถูกกระทำความรุนแรงส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 10-20 ปี ซึ่งเป็นการกระทำความรุนแรงด้านร่างกายมากที่สุด รองลงมาเป็นความรุนแรงด้านจิตใจและทางเพศที่เป็นการกระทำจากบุคคลในครอบครัว จนทำให้เกิดปัญหาการหย่าร้าง การทะเลาะวิวาท หึงหวง นอกใจ การติดสุรา ยาเสพติด โดยวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี องค์กรสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้เป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล มีริบบิ้นสีขาวเป็นสัญลักษณ์สากลที่ทุกประเทศใช้ในการรณรงค์ยุติความรุนแรง ดังนั้น คณะกรรมาธิการฯ ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบต่อบุคคลทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน สตรี และความรุนแรงในครอบครัว

กมธ. พัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา แสดงพลังเชิงสัญลักษณ์รณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัว สตรี และเด็ก


นางอจลา ณ ระนอง รองประธานคณะกรรมาธิการและประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี และผู้มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่ให้การปกป้อง คุ้มครอง และเยียวยาผู้ถูกกระทำความรุนแรง กฎหมายที่ลงโทษและแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ซึ่งบางฉบับมีการบังคับใช้มาอย่างยาวนาน มีบางประเด็นที่ควรได้รับการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในด้านการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะการพัฒนากระบวนการทำงานแบบบูรณาการระหว่างสหวิชาชีพและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง

กมธ. พัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา แสดงพลังเชิงสัญลักษณ์รณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัว สตรี และเด็ก


ด้านนายชาญชัย ไชยพิศ โฆษกคณะกรรมาธิการฯ เรียกร้องให้สังคมไม่นิ่งเฉยกับปัญหาความรุนแรง หากพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงสามารถแจ้งและขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐหรือมูลนิธิ สายด่วน 191 แจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ทันที