วันนี้ (31 ต.ค. 67) เวลา 14:30 น. ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับนายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS แถลงข่าวเปิดตัวบริการ *1185# ในชื่อ “แจ้งอุ่นใจ ตัดสายโจร” ยกระดับการป้องกันประชาชนจากมิจฉาชีพหลังวางสาย เพื่อดำเนินการติดตามตรวจสอบ บล็อกสาย และใช้ในการสืบสวนสอบสวน เพื่อติดตามมิจฉาชีพมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
พล.ต.ท.จิรภพ เปิดเผยว่า คดีคอลเซ็นเตอร์ถือเป็นปัญหาระดับโลก และเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเรามีจำนวนเคสที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก และมีความเสียหายในมูลค่าสูงมาก โดยปัญหาคอลเซ็นเตอร์ ไม่ใช่แค่ปัญหาที่มีในประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่ในหลายประเทศในโลก ที่ตนได้ไปพูดคุย และดูปัญหาของประเทศต่างๆ เพื่อหาทางออก ซึ่งในหลายประเทศก็แก้ปัญหาได้ยไม่จบ และยังพยายามต่อสู้กับกลุ่มอาชญากรรมพวกนี้อยู่ ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกที่เทคโนโลยีเป็นประโยชน์ต่อพวกเรา แต่ในอีกมุมก็ถูกใช้ในการก่ออาชญากรรม
อีกทั้ง อาชญากรรมเหล่านี้ คือการตั้งคอลเซ็นเตอร์ที่เกิดขึ้นนอกประเทศไทย เพื่อให้ตำรวจไม่สามารถไปสืบสวนจับกุมได้ โดยส่วนมากมักอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน และใช้ระบบในการติดต่อเข้ามาในประเทศไทยด้วยวิธีต่างๆ หรือการสร้างเรื่องราวที่ใช้หลอกผู้คนจึงกลายเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ
สำหรับการแก้ปัญหาของเรา มีขีดจำกัด เช่น จากการสืบสวน เรามีข้อมูลของคนร้าย แต่ขีดจำกัด คือ กลุ่มเหล่านี้อยู่นอกประเทศ เมื่อเราแจ้งไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งหากเขาไม่ร่วมมือกับเราเต็มที่ ก็จะทำให้จับกุมผู้ต้องหาได้ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เราจึงต้องทำโดย 2 ส่วน คือการสืบสวน จับกุมปราบปรามให้ได้มากที่สุด และการทำโปรแอคทีฟ หรือ การป้องกัน
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวต่อว่า ปัญหานี้ตำรวจทำอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะเป็นปัญหาระดับชาติ เราจึงร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการให้ความร่วมมือด้วยใจ เพื่อการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ โดย AIS ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหานี้ และได้ร่วมมือกันมาในระยะหนึ่งแล้ว
ส่วนสถิติอาชญากรรมออนไลน์ ตลอดระยะเวลาหนึ่ง 1 ปี ที่มีการเก็บข้อมูลมา ซึ่งกรณีที่แจ้งเข้ามากว่า 3 แสนเคส มีมูลค่าความเสียหายกว่า 34,000 ล้านบาท ขณะที่แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ เราเก็บข้อมูลมาได้ จำนวนกว่า 20,000 เคส และมีมูลค่ากว่า 3,000 – 4,000 ล้านบาท
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวอีกว่า ในส่วนการปฎิบัติการ และเก็บข้อมูลอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยได้รับข้อมูลจาก AIS มา ก็ร่วมกันตรวจสอบ ฐานข้อมูล เพื่อมาตรวจสอบว่าใช่กลุ่มคนร้ายหรือไม่ และจะทำการบล็อกเบอร์ จากนั้นจะร่วมกันสืบสวนเพิ่มเติม และติดตามจับกุมคนร้าย และที่ผ่านมา ได้ร่วมกันดำเนินการติดตามจับกุมซิมบ็อกไปแล้วประมาณ 236 เครื่อง ทำให้คนร้ายใช้อุปกรณ์ในการหลอกเหยื่อได้น้อยลง
ทั้งนี้ เรายังมีโครงการต่างๆ เช่น AIS ก็มีระบบ AI ที่ไปตรวจดูข้อมูลในระบบที่ เมื่อเห็นข้อสงสัยก็จะแจ้งมาที่ตำรวจสอบสวนกลาง เราก็จะร่วมกันตรวจสอบในการดำเนินการสืบสวน และจับกุม
ด้านนายปรัธนา กล่าวถึงความตั้งใจของเอไอเอสว่า นอกจากการให้บริการเครือข่ายทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ไร้สาย และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง มีอีกหนึ่งความตั้งใจ คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศชาติเกี่ยวกับภัยไซเบอร์ โดย เอไอเอส เรามีโครงการ “AIS อุ่นใจไซเบอร์” โดยเปิดศูนย์ AIS Spam Report Center ที่ลูกค้าสามารถโทรไปแจ้งได้ที่ *1185# เมื่อเกิดเหตุ
ส่วนการป้องกัน AIS ได้ร่วมกับ Partner หลายราย โดยการนำซอฟต์แวร์มาใส่ในระบบคอมพิวเตอร์ของลูกค้า ที่มีการใช้ระบบอินเตอร์เน็ตของเอไอเอสในการสามารถป้องกันทางไซเบอร์ได้ และได้ร่วมมือกับ Google กรองเว็บไซต์ และป้องกันการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม
นอกจากนี้ ยังมีการเสริมสร้างความรู้ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ ในโครงการ “อุ่นใจไซเบอร์” ที่สร้างทักษะการใช้งานดิจิทัล โดยทำมาแล้วหลายปีให้กับโรงเรียนกว่า 30,000 โรงเรียนทั่วประเทศไทย มีผู้เข้าอบรมแล้วส่วนใหญ่เป็นนักเรียน มากกว่า 700,000 คน ที่เข้าโครงการอุ่นใจไซเบอร์ ที่ให้ความรู้เป็นระบบโครงสร้างเหมือนวิชาเรียนชนิดหนึ่ง และมีการทดสอบ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของเยาวชนในอนาคต รวมถึงการสร้างดัชนีชี้วัดภัยไซเบอร์ Wellness ที่เราตั้งใจเดินหน้าร่วมเสริมสร้างความเข้มแข็งทางไฟเบอร์ของประเทศ
สำหรับการแจ้งสายด่วน 1185 Spam Report Center ซึ่ง AIS ได้รับแจ้งจากลูกค้ากว่า 2.2 ล้านเคส ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็น SMS 500,000 เคส เป็นเบอร์โทร 1.7 ล้านเคส โดยเป็นโอเปอเรเตอร์รายอื่น 58% และ AIS 42% ซึ่งได้ส่งให้ กสทช. และตำรวจสอบสวนกลาง ดำเนินการแล้ว 1.6 ล้านเคส
นายปรัธนา กล่าวอีกว่า วันนี้เป็นอีกครั้งที่เราพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ที่จะช่วยส่งเสริมเพิ่มเติมให้กับลูกค้า สามารถแจ้งสแกมคอลมายัง AIS ได้ง่ายมากขึ้น โดยกด *1185# แล้วโทรออก ภายใน 5 นาที หลังวางสาย โดยที่เราไม่ต้องระบุหมายเลข ข้อมูลจะถูกส่งมาที่ AIS ทันที แล้วจะเช็คข้อมูลโดยระบบอัตโนมัติของเบอร์โทรล่าสุด เพื่อไปคัดกรองว่าเบอร์นั้นเข้าข่ายเกณฑ์การสแปม หรือสแกมคอลหรือไม่ ก่อนส่งข้อมูลให้ตำรวจสอบสวนกลางตรวจสอบ และดำเนินการ ซึ่งจะมีการแจ้งกลับลูกค้าภายใน 1 ชั่วโมง และหากเข้าข่ายก็จะดำเนินการบล็อกภายใน 48 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.จิรภพ ยังฝากถึงประชาชนว่า ภาครัฐ และภาคเอกชน ไม่ได้นิ่งนอนใจ และกำลังคิดวิธีต่างๆ ที่จะสู้รบกับกลุ่มพวกนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก และเรากำลังต่อกรกับกลุ่มนี้อยู่ เราจึงคิดวิธีต่างๆ ในการมาต่อสู้กับมิจฉาชีพ โดยบริการใหม่ของ AIS ถือเป็นการยกระดับ ที่จะสามารถทำให้ส่งข้อมูลได้ง่ายขึ้นรวดเร็ว และถูกต้องแม่นยำขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกัน และระงับเบอร์มิจฉาชีพ และทำให้เราสืบสวน และติดตามได้ดียิ่งขึ้น