กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เตรียมเสนอจัดตั้งหน่วยต่อต้านดินโคลนถล่มและภัยพิบัติ พร้อมถอดบทเรียนบ้านดอยแหลมโมเดล สร้างความรับรู้ให้ชาวบ้านเชื่อการเตือนภัยของเจ้าหน้าที่รัฐ
คณะกรรมาธิการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา นำโดย นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการ และนายจำลอง อนันตสุข เลขานุการคณะกรรมาธิการ ได้เดินทางไปที่บ้านดอยแหลม อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 พ.ย.67 ที่ผ่านมา เพื่อศึกษาดูงานสภาพความเสียหายที่ถูกน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนจำนวน 7 หลังคาเรือน รวมทั้งได้คร่าชีวิตนายนายธีรยุทธ สิริวรรณสถิต ผู้ใหญ่บ้าน บ้านดอยแหลม หมู่ 13 ที่ถูกดินสไลด์พัดพาร่างไปจนเสียชีวิตในขณะที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือลูกบ้าน ซึ่งเหตุการณ์สะเทือนใจนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567
โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาให้ข้อมูลพร้อมแนวทางการป้องกันที่จะไม่ให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินในอนาคต อาทิ นายสมศักดิ์ วัฒนปฤา ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม นางสาวน้ำฝน คำพิลัง นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ, นางสาวสลีลญา คำภาแก้ว นายอำเภอแม่อาย, นางสาวนิภาพร ไพศาล หัวหน้าหน่วยอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก และบรรดาผู้นำชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่าคณะกรรมาธิการทรัพยากรฯ ไม่ได้มารับทราบข้อมูลเพียงอย่างเดียว แต่จะสรุปเป็นแนวทางการแก้ปัญญาและมาตรการการป้องกันเพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินของพ่อแม่พี่น้องประชาชน โดยจะได้รวบรวมทั้งหมดเสนอต่อรัฐบาลให้เร่งดำเนินการ ส่วน 30 ครอบครัวที่ยังไม่มีบ้าน ทางอำเภอและกรมอุทยานฯ ก็จะทำการจัดหาพื้นที่ให้สร้างบ้านใหม่ ที่ต้องอยู่ในเงื่อนไขตาม ม.64 โดยมีนักวิชาการของกรมทรัพยากรธรณีจะช่วยวิเคราะห์หาพื้นที่ที่ปลอดภัยให้อยู่อาศัยได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะต้องประสบอันตรายจากน้ำป่าไหลหลากอีกต่อไป
ประธานชีวะภาพ กล่าวอีกว่า จากที่ได้รับฟังข้อมูลจากนายอำเภอ ทุกครั้งที่มีฝนตกหนัก ก็ได้ออกประกาศแจ้งเตือนอยู่ตลอด ชาวบ้านก็ไม่ตื่นตนก ขนาดเสาไฟฟ้าล้มทับหลังคาบ้าน ทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปแจ้งให้อพยพ ก็ไม่ยอมเชื่อ ซึ่งนั้นอาจจะเป็นเพราะไม่เคยประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน และไม่เชื่อว่าจะมีน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มรุนแรงอย่างนี้ จึงจะใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาส เป็นบทเรียนที่จะนำมาสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้ประชาชนได้เชื่อมั่นในการข่าวสารที่ทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งเตือนอย่างจริงจัง
“จากเหตุการณ์ดินโคลนถล่มครั้งนี้ทั่วประเทศมีผู้เสียชีวิตถึง 20 ราย ประเทศเราไม่เคยสูญเสียมากขนาดนี้มาก่อน ดังนั้นคณะกรรมาธิการ จึงได้มีแนวคิดที่จะเสนอให้มีหน่วยต่อต้านดินโคลนถล่มและภัยพิบัติ โดยในฤดูฝนก็มีหน้าที่ในการตรวจวัดปริมาณน้ำฝน เมื่อพบว่าพื้นที่ไหนปริมาณมากจนน่าจะมีอันตราย ก็จะต้องทำการแจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบและเตรียมพร้อมที่จะอพยพหรือรับมือกับภัยที่คาดว่ากำลังจะมาเยือน ถ้าเป็นฤดูแล้งก็จะไปช่วยเรื่องไฟป่าหรือเป็นตัวช่วยในการต่อต้ายภัยพิบัติอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในประเทศไทย” ประธานชีวะภาพ กล่าวในตอนท้าย