รมช.เกษตร ลงพื้นที่ติดตามงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเน้นโครงการแม่ฮ่องสอนโมเดล 6 โมเดลย่อย ได้แก่ โมเดลดิน น้ำ พืช ปศุสัตว์ ประมง และโมเดลการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อติดตามงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายปกรณ์ จีนาคำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแม่ฮ่องสอนเขต 1 และหน่วยงานกระทรวงเกษตร จังหวัดแม่ฮ่องสอนในพื้นที่ให้การต้อนรับ โดยคณะได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินโครงการช่วยเหลือคนพิการ ณ ห้องประชุมคริสตจักรความคาดหวังแม่ฮ่องสอน ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
นายเอกวิทย์ ผดุงกิจ นายกสมาคมคนพิการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประธานสภาคนพิการทุกประเภทประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีคนพิการ จำนวน 9,455 คน ส่วนใหญ่เป็นคนยากจน อยู่ในพื้นที่หางไกล คนพิการที่สามารถดำรงชีวิตและช่วยตัวเองได้ ต้องการที่จะพึ่งพาตนเอง ไม่อยากเป็นภาระของครอบครัวและสังคม สมาคมคนพิการจังหวัดแม่ฮ่องสอนเห็นถึงความสำคัญของการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีของคนพิการ และเห็นได้ว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีขยะทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก และขยะเหล่านี้ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม คนพิการจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีแนวคิดในการแปรรูปขยะทางการเกษตรให้เป็นสินค้ามูลค่าสูง
จึงได้ของบประมาณจากกองทุนเพื่อเป็นต้นแบบในการจัดการขยะ และการแปรรูปขยะทางการเกษตร ผลิตถ่านไบโอชาร์อัดแท่ง จากเศษวัสดุทางการเกษตร (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) แปรรูปถ่านดูดกลิ่น ดูดความขึ้นในตู้เย็น และในรถยนต์ ถ่านสำหรับกรองน้ำ ส่งจำหน่าย เพื่อลดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM 2.5
จากนั้นคณะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปตรวจติดตามการนำเสนอแม่ฮ่องสอนโมเดล 6 โมเดลย่อย และชมนิทรรศการและผลิตภัณฑ์เด่นจากหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ ณ โครงการชลประทานแม่ฮ่องสอน ต.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน และร่วมประชุมติดตามผลการดำเนินงานโครงการแม่ฮ่องสอนโมเดลและรับฟังปัญหาในพื้นที่โดยกลุ่มเกษตรในพื้นที่และผู้ประกอบการพร้อมเยี่ยมชมศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ (ท่าโป่งแดง) ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแม่ฮ่องสอน
นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า โครงการแม่ฮ่องสอนโมเดล ได้ดำเนินการจากเดิม ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบแนวทางการพัฒนา โครงการแม่ฮ่องสอนโมเดล เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ผ่านมา การขับเคลื่อน แม่ฮ่องสอนโมเดล จะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับนไยบายและระดับพื้นที่ ในการสนับสนุนงบประมาณ ทรัพยากร องค์ความรู้ และบุคลากร ซึ่งบูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบ ภายใต้แผนการปฏิบัติงานที่ชัดเจน เพื่อให้จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้นแบบของการทำงานแบบบบูรณาการเชิงพื้นที่ ปัจจุบันการดำเนินโครงการแม่ฮ่องสอนโมเดล 6 โมเดลย่อย ได้แก่ โมเดลดิน น้ำ พืช ปศุสัตว์ ประมง และโมเดลการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง เริ่มต้นเมื่อวันที่ 18 ก.ค.67 และในปี 68 อยู่ระหว่างดำเนินการของแต่ละหน่วยงาน ทั้ง 6 โมเดล
ภาพข่าว-ทศพล / แม่ฮ่องสอน