ปชป.เสนอ7นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเพิ่มศักยภาพประเทศลดเหลื่อมล้ำแก้จน

Mummai Media

เวทีประชาธิปัตย์เดโมแครต ฟอรั่มแนะรัฐขจัดการผูกขาดลดทุจริตเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติ
ปชป.เสนอ7นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเพิ่มศักยภาพประเทศลดเหลื่อมล้ำแก้จน

ในการจัดเสวนา เดโมแครต ฟอรั่ม (Democrat Forum) ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “ขจัดการผูกขาด: ปฏิรูปเศรษฐกิจลดเหลื่อมล้ำแก้จน” ที่พรรคประชาธิปัตย์วันนี้เป็นการนำเสนอแนวทางในการขจัดการผูกขาดเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผ่านการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์จากหลายหน่วยงาน อาทิ ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายนริศ ขำนุรักษ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตรมช.มหาดไทย ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ผศ. ดร. พรเทพ เบญญาอภิกุล ผู้อำนวยการโครงการเศรษฐศาสตร์บัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ รศ. ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีนายพลีธรรม ตริยะเกษมทำหน้าที่พิธีกร

ปชป.เสนอ7นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเพิ่มศักยภาพประเทศลดเหลื่อมล้ำแก้จน

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นตัวแทนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน)เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษว่าการผูกขาดทางเศรษฐกิจเป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำและความยากจนของประเทศ ตัวอย่างเช่นประเทศจีน ประธานาธิบดีสีจี้นผิงดำเนินการปราบทุจริตคอรัปชั่นอย่างเฉียบขาดและตั้งแต่ปี 2564 ได้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาการผูกขาด และปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยให้เจ้าหน้าที่รัฐมุ่งต่อต้านการผูกขาดเพื่อนำไปสู่การแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมาย ‘ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน’ และลดความเหลื่อมล้ำที่พุ่งสูงขึ้นมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา แม้จะเป็นประเทศมหาอำนาจทั้งทางทหารและเศรษฐกิจแต่ก็ยังเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ และประธานาธิบดีโจ ไบเดนถึงกับประกาศความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาดังกล่าวเพราะคนระดับกลางหรือคนส่วนใหญ่ไม่สามารถสร้างฐานะได้เหมือนคนรุ่นก่อนหน้า ในขณะที่กลุ่มรวยสุด 1% ของอเมริกากอบโกยประโยชน์ทางเศรษฐกิจ คิดเป็น 21% ของ GDP ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 10% ของ GDP เมื่อปี 1979

ปชป.เสนอ7นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเพิ่มศักยภาพประเทศลดเหลื่อมล้ำแก้จน


ในขณะที่World Bank และ IMF ได้จัดสัมมนาประจำปี 2021 เรื่อง Taxation of the Wealthy in Developing Countries เพื่อมุ่งแก้ปัญหาความร่ำรวยสุดขั้วที่กระจุกอยู่บนยอดปิรามิด อันเป็นปัญหาร่วมที่รุนแรงมากขึ้นในหลายประเทศกำลังพัฒนา เพราะคนรวยสุด 10% ทั่วโลก ถือครองความมั่งคั่งในประเทศเฉลี่ย 60-80% แต่คนฐานะ 50% ล่างของสังคม ถือครองเพียงแค่ 5% ของความมั่งคั่ง

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยพบว่า
สินทรัพย์ของคนทั้งประเทศไทยมากกว่า 2ใน3กระจุกอยู่กับกลุ่มคนรวยที่มีสัดส่วนเพียง 10% ของประชากรทั้งหมด
คนไทย 10% หรือประมาณ 7 ล้านคน ยังมีชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน
คนไทยมากกว่า 3 ใน 4
ไม่มีที่ดินของตัวเอง
โฉนดที่ดิน 61% ของประเทศไทยอยู่ในมือประชากร 10%

ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก 
และเป็นประเทศที่มีการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรมสูงมาก อยู่ลำดับที่ 162 จาก 174 ประเทศ
“กฎหมายสู้ทุนผูกขาดไม่ได้ เรามีกฎหมายหลายฉบับเกี่ยวกับการป้องกันการค้ากำไรเกินควร ป้องกันการผูกขาด ซึ่งกฎหมายป้องกันผูกขาดมีมาตั้งแต่ปี2522 และรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้ออกพรบ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 และต่อมามีการปรับปรุงเป็น ฉบับแก้ไขพ.ศ.2560 ปรากฎว่า ไม่มีแม้แต่คดีเดียว ที่เกิดข้อพิพาทนำคดีขึ้นสู่ศาล จากการแข่งขันไม่เป็นธรรม จนประเทศไทยเป็นประเทศเสรีในการผูกขาด”
นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า วันนี้ทุนผูกขาดได้เข้ามามีอิทธิพลต่ออำนาจรัฐ เข้ามามีอิทธิพลสนับสนุนพรรคการเมืองจนท้ายที่สุดลงมาเล่นการเมือง มีตำแหน่งทางการเมืองด้วย จนต้องตั้งคำถามว่าปัญหาเหล่านี้จะสามารถจบลงในรุ่นเราได้หรือไม่ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่รับทุนสามานย์ผูกขาดทางการเมือง จึงมีการรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนบริจาคภาษี 001 เพื่อให้เป็นพรรคการเมืองที่เป็นอิสระไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของทุนผูกขาด ทุนสามานย์ ทุนสีเทาทั้งหลาย และเป็นการบริจาคอย่างโปร่งใส เพื่อให้พรรคการเมืองนำเงินบริจาคดังกล่าวไปดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนต่อไป

นายอลงกรณ์ยังนำเสนอแนวนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ในการขจัดการผูกขาดลดความเหลื่อมล้ำประกอบไปด้วย การส่งเสริมระบบเศรษฐกิจเสรีที่เป็นธรรม การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศ การลดความเหลื่อมล้ำ ปรับปรุงกฎหมายแข่งขันทางการค้า การกระจายอำนาจให้เป็นธรรมและทั่วถึง จำกัดการถือครองที่ดิน และการกำจัดคอรัปชั่นทุกรูปแบบ
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า การผูกขาดเกิดขึ้นมานานตั้งแต่ในอดีต มีมหาเศรษฐีในประเทศไม่กี่ราย มาในยุคที่อำนาจทหารเรืองรองมีการตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมามากมายถึง 140 แห่ง แม้วันนี้จะถูกแปรสภาพไปหมด แต่รัฐวิสาหกิจไทยในขณะนั้นได้ใช้ทรัพยากรของรัฐไปเป็นจำนวนมาก แต่ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับผู้มีอำนาจและกลุ่มนายทุนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

“คนไทยในอดีตหากอยากรวย ถ้าไม่กอดปืนก็ต้องกอดคนมีอำนาจในขณะนั้น การกอดปืนหรือกอดอำนาจมีมาจนถึงทุกวันนี้เพียงแค่รูปแบบลดความชัดเจนลง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมากระบอกปืนกลับมามีอำนาจจึงเห็นกลุ่มคนที่มีอำนาจไปกอดปืนอีกรอบหนึ่ง ทำให้มีคนบางกลุ่มร่ำรวยแบบก้าวกระโดด ซึ่งหากดำเนินการตรวจสอบในวันนี้จะเห็นว่าหลายกลุ่มได้งานสัมปทานของรัฐแบบผิดกฎหมาย” ดร.มานะ กล่าว

พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ธุรกิจที่เข้าสู่การผูกขาดจะมีลักษณะดังต่อไปนี้ มีอัตราการขยายตัวของ product ต่ำ มีศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมต่ำเกินความเป็นจริง มียอดการส่งออกต่ำเนื่องจากมีฐานในต่างประเทศน้อย และมีการลงทุนต่ำเกินจริงเนื่องจากมีรัฐอุดหนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองน้อย แต่จะใช้สิ่งที่มีอยู่เพื่อกอบโกยเงินของหลวงให้มากที่สุด จากปรากฏการณ์ดังกล่าวถือเป็นการทำลายศักยภาพการพัฒนาประเทศ จนเกิดเป็นกับดักทางรายได้ของประเทศ เนื่องจากผลประโยชน์ไปตกอยู่กับคนกลุ่มเดียว

ด้าน ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง คุณภาพชีวิตของคนไทยวันนี้พัฒนาต่ำลง ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันให้กับชีวิต ที่ผ่านมาจากเหตุการณ์รถบัสไฟไหม้ ไปจนถึงสะพานถล่ม ทั้งที่ลาดกระบัง และล่าสุดพระราม 2 ล้วนเป็นภัยที่เริ่มใกล้ตัวมากกว่าที่คิด วันนี้ภาคประชาชนจึงได้เสนอกฎหมายความปลอดภัยสาธารณะ เพื่อมีคนกลางเข้ามาทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ

“ผมอยากใช้เวทีนี้ซึ่งเป็นเวทีที่ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น แต่เป็นการทำเวทีเพื่อให้บ้านเมืองหลุดพ้นเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องคอรัปชั่น จึงอยากให้มาร่วมกันสนับสนุนพระราชบัญญัติเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ให้เกิน 10,000 ชื่อ เพื่อให้มีเจ้าภาพคนกลางที่จะลงไปดูติดตามรายงานตรวจสอบและป้องกัน จะได้รู้สักทีว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากสาเหตุอะไร” ศ. ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

ด้าน ผศ. ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล ผู้อำนวยการโครงการเศรษฐศาสตร์บัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ ระบุว่า ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ จึงเห็นว่าการแข่งขันจะช่วยเพิ่มการจัดสรรทรัพยากร เป็นการเปลี่ยนจากตลาดผูกขาด เป็นตลาดแข่งขันจะทำให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มถูกลง ทั้งเป็นการกระจายผลประโยชน์ ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้

นอกจากนี้ ผศ. ดร.พรเทพ ได้ยกตัวอย่างปัญหาการดำเนินการของ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) ขาดการทำงานเชิงรุกเพื่อยับยั้งป้องกันหรือเยียวยาผลกระทบการกระทำอันไม่เป็นธรรมทางการค้าผู้บริโภคไม่สามารถใช้สิทธิ์ในการร้องเรียนโดยตรงได้ ทั้งยังขาดศักยภาพทางวิชาการและแรงจูงใจ ดังนั้นเพื่อการกำกับดูแลการแข่งขันของไทยให้มีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้า ตลอดจนพิจารณาเรื่องบทลงโทษทางอาญาด้วยเนื่องจากกระบวนการทางอาญาที่ใช้เวลานาน อีกนัยหนึ่งก็สามารถเป็นอุปสรรคในการกำกับดูแลเช่นกัน

ปชป.เสนอ7นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเพิ่มศักยภาพประเทศลดเหลื่อมล้ำแก้จน

สำหรับ รศ. ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้ระบุว่า อำนาจกับผลประโยชน์อยู่คู่กันมาโดยตลอด และมีพัฒนาการจากเดิมที่อำนาจและประโยชน์ทางเศรษฐกิจอยู่ในกลุ่มทหาร ปัจจุบันจะเห็นว่ากลุ่มทุนได้ย้ายมาอยู่เบื้องหลังพรรคการเมือง และสื่อมวลชน นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่าไม่ได้มีแต่การผูกขาดเฉพาะทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีการผูกขาดทางการเมือง ไปจนถึงการผูกขาดทางทรัพยากร และลุกลามไปถึงการผูกขาดในกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย

รศ. ดร.เจิมศักดิ์ ยังได้ตั้งคำถามถึงผู้มีอำนาจในปัจจุบันว่า เมื่อพวกเขาเติบโตมาจากการผูกขาดการค้า ก็ย่อมจะเห็นประโยชน์ของการผูกขาด เมื่อผู้นำไม่รังเกียจการผูกขาด วิธีหนึ่งที่ทำได้คือการแจกเงินคนจน ซึ่งวิธีดังกล่าวยังเป็นการตอกย้ำระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย จะเห็นได้ว่านอกเหนือจากเรื่องความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการผูกขาดโดยรัฐแล้ว ยังมีปัญหาซ้ำเติมในเรื่องความเหลื่อมล้ำ และในอนาคตอันใกล้เมื่อประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จึงไม่ต่างจากระเบิดเวลาที่กำลังจะทำให้ประเทศเดินต่อไปไม่ได้

ทั้งนี้ในช่วงท้ายของการสัมมนา ยังมีการเปิดเวทีให้ผู้เข้าชมได้แสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ อาทิ ดร.เพ็ญจันทร์ ล้อสีทอง นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง นายปรพล อดิเรกสาร นายราม คุรุวาณิชย์ นายเมฆินทร์เอี่ยมสอาด กก.บห.พรรคประชาธิปัตย์นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิทเป็นต้น

ปชป.เสนอ7นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเพิ่มศักยภาพประเทศลดเหลื่อมล้ำแก้จน