กมธ.สิ่งแวดล้อม วุฒิสภา แนะพึ่งศาลโลกหยุดเหมืองรัฐฉาน วอนรัฐแจงความเสี่ยงคุณภาพแม่น้ำกก
วันที่ 27 พ.ค.68 นายชีวะภาพ ชีวะธรรม สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาข้อเท็จจริงกรณีสารพิษปนเปื้อนในแม่น้ำกก จนส่งผลกระทบต่อชาวอ.แม่อาย จ.เชียงใหม่และชาวจ.เชียงราย
โดยเชิญอธิบดีกรมควบคุมมลพิษและเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ( สทนช.) หรือผู้แทนเข้าร่วมชี้แจง แต่กรมควบคุมมลพิษแจ้งว่าติดภารกิจในพื้นที่จึงไม่ได้ส่งตัวแทนมาร่วมประชุม
น.ส.นันทวัน สุวรรณสถิตย์ ผอ.กลุ่มวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม สทนช. กล่าวว่า ทางสทนช.ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โดยที่ผ่านมาได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศ , สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง ( MRCS ) และคณะทำงานร่วมตามกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ( MLC ) เพื่อขอให้ประสานประเทศเมียนมาพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 68 แต่ได้รับคำตอบกลับมาว่า ตรวจสอบคุณภาพน้ำแล้ว ไม่พบสารโลหะหนักเกินค่ามาตรฐาน นอกจากความขุ่นในแม่น้ำ
สทนช.จึงอีเมล์ไปขอพิกัดและวันเวลาในการตรวจวัดคุณภาพน้ำทั้ง 5 จุด แต่กลับได้รับผลการตรวจวัดคุณภาพของแม่น้ำสายและแม่น้ำโขง ซึ่งไม่ใช่บริเวณแม่น้ำกกตามที่ต้องการ หลังจากนั้นจึงได้ประสานไปอีกครั้ง ก็ได้รับคำตอบว่าเดี๋ยวจะเข้าพื้นที่ไปดำเนินการให้
ด้านนายไวฑิต โอชวิช ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์น้ำ สทนช. กล่าวว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงและผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้ประสานระดับพื้นที่ตลอดเวลา เพียงแต่ว่าหน่วยงานท้องถิ่นยังไม่สามารถเจราจรากับชนกลุ่มน้อยได้ แต่ล่าสุดได้รับรายงานว่า นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำผิวดิน จะเดินทางไปเจรจากับเมียนมาเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา โดยคาดว่าจะสามารถนัดคุยกับประเทศเมียนมาได้ในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนหรือต้นเดือนกรกฎาคมนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับทางเมียนมาว่าจะตอบรับหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาไทยได้ติดต่อไปเจรจาหลายครั้งแล้ว แต่เขายังไม่สะดวกที่จะมาพูดคุย
ขณะที่นายชีวะภาพ กล่าวว่า ขณะนี้มีแม่น้ำ 2 สายที่มีปัญหาเรื่องสารปนเปื้อนคือแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย ปีที่แล้วมีข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษว่ามีสารปนเปื้อนในแม่น้ำและจากภาพถ่ายทางอากาศก็พบว่ามีการทำเหมืองในประเทศเพื่อนบ้าน ใกล้แหล่งน้ำ จึงมองว่าต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะการสร้างเขื่อนดักตะกอนเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ จะทำได้ต่อเมื่ออยู่ในขั้นตอนของการฟื้นฟู ดังนั้นจึงควรเดินหน้าเจรจา หรือสุดท้ายอาจต้องฟ้องร้องโดยใช้กฎหมายระหว่างประเทศ ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ นอกจากนี้เรื่องสำคัญคือต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ต้องมีการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้อง และชี้แจงเรื่องความเสี่ยงกับประชาชนว่าอันตรายระดับไหน วันนี้เท่าที่เห็นข้อมูลยังแกว่งอยู่
“เรื่องสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก คงต้องเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ถ้าเจรจาไม่ได้ และเข้าขั้นวิกฤต เราอาจจะต้องพึ่งกระบวนการกฎหมายระหว่างประเทศ หรืออาจต้องพึ่งศาลโลก” นายชีวะภาพ กล่าว
ส่วนกรณีแม่น้ำสาย นายชีวะภาพ กล่าวว่า กรรมาธิการฯ จะเน้นเรื่องสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำลำน้ำ เพราะจากการศึกษาพบว่าการก่อสร้างตึกขนาดใหญ่ไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งใน 1 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ดำเนินคดี ก็ต้องตอบให้ได้เพราะเป็นการทำผิดไม่ว่าจะขนาดใหญ่แค่ไหนก็ต้องรื้อถอน ซึ่งในส่วนของประเทศเพื่อนบ้านหากรุกล้ำก็ต้องรื้อถอนเช่นกัน แต่ต้องเริ่มที่ฝั่งไทยก่อนตามกฎหมายของไทย.