สานต่อเวที “มุ่งเป้าอนาคตประเทศไทย” ที่เชียงราย-พะเยา เดินหน้าขับเคลื่อนประเทศปลอดภัยจาก PM2.5 และน้ำมั่นคง ไม่ท่วม ไม่แล้ง
.
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จัดกิจกรรมต่อเนื่องภายใต้ชื่อ “มุ่งเป้าอนาคตประเทศไทย” ณ ห้องยูโทเปีย ชั้น 3 โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงราย รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สำคัญของชาติด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5 และน้ำมั่นคง ไม่ท่วม ไม่แล้ง” เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568
.
ภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดงานและนำเสนอแนวทางการสนับสนุนการบูรณาการกลไก ววน. (วิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม) สู่การปฏิบัติในพื้นที่ โดยมีผู้ร่วมงานระดับนโยบายและภาคปฏิบัติจากทั้ง จังหวัดเชียงราย และ จังหวัดพะเยา อาทิ นายรุจติศักดิ์ รังษี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, นายภูธนะ ชมภูมิ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา, ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมแผนงานเป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ ววน. “ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5“และประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ, ผู้แทนจากหน่วยงานท้องถิ่น, นักวิจัย และภาคีเครือข่ายจากหลากหลายสถาบัน
.
ไฮไลต์ของงาน คือพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น และภาควิชาการในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและพะเยา เพื่อร่วมกันผลักดันแผนงานวิจัยในประเด็นสิ่งแวดล้อม พร้อมจัดเวที เสวนาแลกเปลี่ยนความเห็น หัวข้อ “ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5 และน้ำมั่นคง ไม่ท่วม ไม่แล้ง” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เช่น ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมแผนงานเป้าหมายสำคัญ
ตามยุทธศาสตร์ ววน. “ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5“และประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ, นายสุธีระพงษ์ วันไชยธนวงศ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย, นายสุรสิทธิ ปุสุรินทร์ ประธานสภาลมหายใจจังหวัดเชียงราย, และนายนัฐนที ศรีวิราช รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา
.
นอกจากนั้น แผนงานวิจัย “การลดไฟในป่า: กรณีศึกษาอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ–ปุย” โดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการ เพื่อเผยแพร่แนวทางการวิจัยที่มุ่งลดปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน PM2.5 อย่างเป็นระบบ ผ่านการบูรณาการ ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) การวิเคราะห์เชิงพื้นที่ และการขับเคลื่อน นโยบายและการสื่อสารเชิงรุกในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
โดยมีผศ.ดร.ว่าน วิริยา หัวหน้าโครงการสร้างความร่วมมือและเครือข่ายการสื่อสารภาคประชาชน เพื่อพัฒนาการจัดการปัญหา PM2.5 ในระดับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่อย่างยั่งยืน เป็นตัวแทนในการนำเสนอผลงานวิจัยและแนวทางดำเนินงานต่อผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้
.
กิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการระหว่างนักวิจัย ภาคนโยบาย และภาคประชาชน เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทยในมิติด้านคุณภาพอากาศและทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงฤดูแล้งและฤดูฝน