คุณกฤษณะ และผม รวมทั้งคณะเดินทางค้างแรมคืนที่ผ่านมาที่บ้านเขาหลักบีชรีสอรท์ อำเภอตะกั่วป่า พังงา
โดยสาเหตุที่เราเลือกที่นี่เป็นที่หมาย ก็เพราะเจ้าของรีสอร์ตนี้ ทุ่มเทเรื่องอารยสถาปัตย์ด้วยใจ ที่ยิ่งใหญ่
และน่าจะเป็นรายต้นๆของประเทศก็ว่าได้
คุณแซม ศรัญย์ รองเรืองกุล เล่าว่า ที่ดินทำรีสอร์ตติดทะเลชิ้นนี้สมัยก่อนเป็นหาดที่เต็มไปด้วยการทำเหมืองดีบุก
วันหนึ่งเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 เสด็จมาที่บนเขาของอุทยานใกล้ๆ ทอดพระเนตรลงมาเห็นอ่าวนี้แล้วรับสั่งว่า ขอให้ไปเก็บรักษาหาดชิ้นนี้ไว้ให้ดี เพราะสวยงามมาก
คุณพ่อของคุณแซมซึ่งเฝ้ารอรับเสด็จในที่นั้น ในฐานะคหบดีของตะกั่วป่าได้ยินในหลวงมีพระราชดำรัสดังนั้น
จึงชักชวนบรรดานายหัวเถ้าแก่ในพังงาที่รู้จัก มาร่วมกันลงขันซื้อที่ดินนส.3 มารวมๆกันไว้
สมัยนั้น ใครๆก็ไม่นึกว่าที่ดินติดทะเลจะมีค่าอะไรนัก
แต่เมื่อถนนเพชรเกษมตัดผ่านด้านหลังที่ดินจึงค่อยๆมีการสร้างอาคาร สร้างที่พักแรมกัน
บริหารกิจการจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกมาเหมือนที่อื่นๆ
และก็ไม่ได้ปล่อยให้ใครมาทำเหมือง จนทำลายสภาพแวดล้อมได้ตามพระราชดำรัส
แต่พอเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ กวาดอาคารโรงแรมของคุณแซมพังหมดราบเรียบ
การสร้างโรงแรมครั้งใหม่นี้ คุณแซมจึงคิดทบทวนว่า ในเมื่อลูกค้าที่มาพักในยุคนั้นมักเป็นชาวสแกนดิเนเวีย และมาทั้งครอบครัว ในครอบครัวหนึ่งๆจะมีเด็กเล็กในรถเข็น มีพ่อแม่ มีปู่ย่ามาอยู่กันคราวละหลายๆสัปดาห์
หากสร้างโรงแรมโดยเน้นให้ไม่ค่อยมีขั้นบันได แต่เชื่อมส่วนต่างๆทั้งที่พัก ทางเดิน สระว่ายน้ำ โถงต้อนรับ ร้านอาหาร ห้องน้ำกลางให้เป็นทางเรียบทางลาดให้ดี น่าจะทำให้ผู้ใช้ไม้เท้า ใช้วอล์คเกอร์ ใช้วีลแชร์ และเด็กในรถเข็น สามารถเข้าถึงพื้นที่ต่างๆโดยไม่ต้องคอยห่วงเรื่องลื่น สะดุดล้ม
จากนั้นก็ควบคุมปรับปรุงแบบก่อสร้างให้เป็นเฟรนด์ลี่ดีไซน์โดยไม่ตั้งใจ
ปรากฏว่าเปิดโรงแรมครั้งใหม่ยังไม่ข้ามปี
ทางการไทยก็ประกาศกฏหมายบังคับให้โรงแรมที่มีขนาดเกิน100ห้องต้องมีห้องพักที่ออกแบบรองรับผู้พิการได้หนึ่งห้องหรือมีอย่างน้อยหนึ่งห้องในทุกชั้นของอาคาร
แต่ปรากฏว่าคุณแซมทำเสร็จหมด มีห้องและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการและผู้สูงอายุเลยเป้าที่กฏหมายระบุไปเรียบร้อยหลายสิบเท่าตัวแล้ว
นับเป็นจุดเริ่มของการทำงานด้วยความใส่ใจก่อนจะใช้ความรู้เสียด้วยซ้ำ
ทั้งที่คุณแซมจบสถาปัตย์มา แต่คุณแซมบอกว่า เรื่องการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลไม่มีบรรจุในการเรียนสมัยนั้น
แต่เมื่อมีใจอยากบริการ อยากให้ปลอดภัยแก่แขกที่มาพัก อยากให้ประทับใจในบริการ
โรงแรมเขาหลักบีชรีสอรต์ จึงกลายเป็นโรงแรมแรกๆที่ทำระบบ Universal Design ได้สำเร็จ
และใช้ทักษะและประสบการณ์ค่อยๆปรับแก้จุดนั้นจุดนี้ สิ่งละอันพันละน้อยมาเรื่อยๆ
จนกลายเป็นที่ติดใจของนักท่องเที่ยวทั้งจากสแกนดิเนเวียและเยอรมัน และภายหลังก็มาเพิ่มจากทั่วโลก
มีที่เดินทางหนีหนาวในวัยชรามาอยู่ทีละหลายเดือน มีที่มาเพื่อมุ่งอาบแดดไทยที่พังงาเพื่อรักษาโรคขาดแสงแดดที่พอเพียง
เพราะในสแกนดิเนเวีย แม้มีแสงก็จริง แต่ไม่ค่อยมีแดด แถมแดดที่มีก็มียูวีเข้มข้นเกินไป
คุณแซมจึงทำให้สระว่ายน้ำมีการออกแบบรองรับคนที่ต้องใช้ราวพยุงเดินลงน้ำ มีบันไดลงสระที่กว้างๆ มีบ่อจากุซี่ที่แขกในวีลแชร์สามารถยกตัวเองมานั่งเทียบขอบแล้วไหลลงไปนั่งแช่บ่อจากุชี่ได้เอง ขึ้นกลับบนรถเข็นตัวเองได้เอง มีอุปกรณ์ยกตัวผู้มีข้อจำกัดต่างๆในดารหย่อนตัวเองลงในสระว่ายน้ำ
มีการออกแบบพลิกแพลงทำเก้าอี้ชายหาดติดล้อที่มีหน้ากว้างเยอะๆให้ผู้พิการนั่งแล้วถูกเข็นผ่านลงไปนั่งรับลมรับแดดที่ชายหาดได้
ต่อมาพัฒนาเองอีกจนมีแกนและทุ่นลอยแขนกว้างมาประกอบเข้าไปเพิ่มจนแขกผู้พิการ สามารถไปแช่ในทะเลได้
มีการใส่ตาแมวหลังประตูห้องพักสองระดับทั้งแขกยืนมองดูผู้มาเคาะประตู หรือจะนั่งในระดับวีลแชร์ก็ใช้ตาแมวตัวล่าง ซึ่งเด็กก็มองผ่านช่องนี้ได้
ส่วนห้องน้ำมีทั้งขนาดและเครื่องอำนวยความสะดวกครบสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ จนถึงผู้สูงอายุ ปลั้กไฟ สวิตช์ต่างๆอยู่ระดับที่วีลแชร์เอื้อมถึงทั้งหมด
สร้างความประทับใจให้แขกที่พักและผู้พบเห็นให้บอกกันปากต่อปากไปจนกระทั่งที่นี่มีชื่อเสียงในวงการ Tourism for All ของระดับสากลไปเลยครับ
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา