เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า หลังจากมีประเด็นถกเถียงทางกฎหมายถึงการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี2560 มาตรา258 วรรคสี่ ที่ระบุนายกรัฐมนตรีมีวาระดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วไม่เกิน 8ปีนั้น จะให้เริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่เมื่อใด โดยทางสภาผู้แทนราษฎรได้มอบให้ฝ่ายกฎหมายไปพิจารณาหาข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว ล่าสุดฝ่ายกฎหมายได้พิจารณาและส่งความเห็นให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร รับทราบแล้วข้อสรุปในประเด็นนี้แล้ว ตั้งแต่ปลายเดือนต.ค.2564 โดยเห็นว่า การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี2560 มาตรา158 วรรค 4 ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9มิ.ย.2562 ที่เป็นวันโปรดเกล้าฯให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี2560 เป็นต้นไป เพราะการกำหนดเงื่อนไขให้นายกฯดำรงตำแหน่งรวมแล้วเกิน 8ปีไม่ได้นั้น เป็นเงื่อนไขการจำกัดสิทธิบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการบัญญัติกฎหมายในทางเป็นโทษ จะนำมาบังคับใช้ย้อนหลังในทางที่เป็นโทษไม่ได้ การกำหนดเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญให้ผลย้อนหลังใช้บังคับกับการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ย่อมขัดหลักกฎหมาย
ส่วนประเด็นรัฐธรรมนูญปี2560 มาตรา 264 ที่แม้จะกำหนดให้ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้นั้น การปฏิบัติหน้าที่ของพล.อ.ประยุทธ์ตามมาตรา264 เป็นการปฏิบัติหน้าที่แทนครม. ตามบทหลักของรัฐธรรมนูญปี2560เพียงชั่วเวลาหนึ่ง และต้องพ้นจากหน้าที่ ภายหลังจากที่ครม.ตามรัฐธรรมนูญปี2560 เข้าปฏิบัติหน้าที่ หากรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้นับระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่นายกฯของพล.อ.ประยุทธ์ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ก่อนหน้านี้ จะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่า ให้นับระยะเวลาดังกล่าวรวมเป็นระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯของพล.อ.ประยุทธ์ด้วย ดังนั้นระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯของพล.อ.ประยุทธ์ ตามมาตรา264 นับตั้งแต่วันที่ 6เม.ย.2560 ที่รัฐธรรมนูญปี2560 บังคับใช้จนถึงวันที่ 9มิ.ย.2562 ที่พล.อ.ประยุทธ์ได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯตามรัฐธรรมนูญปี2560 จึงไม่ถือเป็นการดำรงตำแหน่งนายกฯตามรัฐธรรมนูญปี2560 มาตรา158