วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงเพิ่มเติมต่อข้อเสนอแนะและข้อซักถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเด็นเรื่องการเรียนและการปฏิรูปการศึกษา ยืนยันได้ขับเคลื่อนนโยบาย Coding มา 3 ปีแล้ว เน้นเรียนใช้ความคิด วิเคราะห์ ไม่เน้นท่องจำ ชี้เป็นการปฏิรูปการศึกษาถึงตัวเด็กอย่างแท้จริง พร้อมได้จัดหา Smart Devices และเตรียมความพร้อมเด็กในการสอบ PISA ยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้นานาชาติได้เห็น
คุณหญิงกัลยา ได้กล่าวในรายการ @จันทรเกษม ของกระทรวงศึกษาธิการวานนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2565)โดยมีนายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาและประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ และนโยบาย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) ร่วมรายการ และนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีทำหน้าที่ดำเนินรายการ
โดยได้ชี้แจงถึงกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางท่านได้แสดงข้อห่วงใยและกล่าวถึงประเด็นเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 ระหว่างวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดยมีข้อซักถามว่า ทำไมการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการยังเน้นการท่องจำ จึงอยากจะชี้แจงว่าตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ทางกระทรวงศึกษาธิการโดยตนเองได้ผลักดันให้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลนี้ ให้ทุกชั้นเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ให้เรียน Coding ซึ่งเป็นการเรียนที่เน้นการใช้กระบวนการคิด เพื่อเตรียมเยาวชนของไทยสำหรับศตวรรษที่ 21 หรือยุคดิจิทัล โดยไม่เน้นการเรียนการสอนแบบท่องจำ เปลี่ยนเป็นการเรียน Coding ที่เน้นการคิด วิเคราะห์ คิดเชิงคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งเป็นทักษะใหม่ที่โลกสมัยใหม่ต้องมี ซึ่งปัจจุบันได้มีการขับเคลื่อนนโยบาย Coding อย่างต่อเนื่อง ทั้งการอบรมครูผู้สอนไปแล้วกว่า 300,000 คน และได้มีโครงการเฉพาะลงไปในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงการขยายการเรียนรู้ Coding ไปในทุกภาคส่วน ภายใต้แนวคิด Coding for All
นอกจากนี้ยังได้มีการใช้ Coding กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำไปประยุกต์ใช้กับการเกษตรจนประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สมัครเข้าร่วมโครงการฯ กว่า 600 โรงเรียนแล้ว โดยทาง สพฐ. จะดำเนินการขยายผลไปสู่โรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำไปสู่การผลักดัน ให้เกิดการยกระดับองค์ความรู้ทางด้านเกษตรกรรมโดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ จนสามารถขยายประโยชน์ไปต่อชุมชนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับประเด็นเรื่อง Smart Devices เพื่อรองรับการเรียนการสอนออนไลน์ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 นั้น คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาได้เห็นปัญหาตั้งแต่แรกแล้ว และได้นำเรียนถึงท่านนายกรัฐมนตรีผ่านคณะกรรมการโค้ดดิ้งแห่งชาติที่มี ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และตนเองเป็นรองประธาน ท่านนายกฯ จึงมีข้อสั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการเรื่องนี้ให้กับเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน โดยได้มีการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นเจ้าภาพหลัก และมีภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ มูลนิธิต่างๆ เป็นหน่วยงานสนับสนุนอุปกรณ์ รวมถึงการระดมทุนจากแหล่งต่างๆ เช่น สมาคมศิษย์เก่าของสถานศึกษา ภาคเอกชน มูลนิธิ รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีทั้งการซื้ออุปกรณ์ใหม่และรับบริจาคอุปกรณ์ที่สามารถใช้งานได้ เพื่อนำมาปรับปรุงหรือพัฒนาให้สอดคล้องกับการใช้งานจริง ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดต้องมีมาตรฐานที่ทางกระทรวงกำหนด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการแล้วเช่นกัน
ส่วนประเด็นเรื่องการสอบ PISA ที่มี สมาชิกสภาฯ หลายท่านพูดถึงว่าทำอย่างไรที่จะทำให้คะแนน PISA ของเด็กไทยสูงขึ้น ซึ่งการสอบจะมีทั้งหมด 3 วิชา คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งทั้ง 3 วิชานี้ได้เตรียมการเพื่อให้มีความพร้อมในการสอบในเดือนสิงหาคม 2565 นี้แล้ว โดยที่ผ่านมาได้มีการอบรมครูและทำเวิร์กช็อปสอนครูแกนนำเพื่อให้ครูแกนนำไปพัฒนานักเรียนต่อไป ส่วนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์นี้ มีโครงการวิทย์พลัง 10 ที่เปิดโอกาสให้เด็กทุกคนในประเทศไทยตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมัธยมได้มีโอกาสเรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นทั้ง 2 โครงการนี้ Coding และวิทย์พลัง 10 จะตอบโจทย์ของ PISA เราจะเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้นานาชาติได้เห็น
ด้านนายภูมิสรรค์ กล่าวว่า วันนี้การศึกษาไทยเปลี่ยนไปแล้ว ขณะนี้ พรบ.การศึกษาแห่งชาติอยู่ในสภาแล้ว ซึ่งเป็นพรบ.ที่เน้นหลักสูตรฐานสมรรถนะ สิ่งที่คุณหญิงกัลยาทำคือการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า เพื่อรองรับการปฏิรูปการศึกษา และพรบ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการวางรากฐานของสภาการศึกษาซึ่งถือเป็นเสาหลักด้านการศึกษาของชาติภายใต้แนวคิดเข็มทิศประเทศไทย โดยสร้างมิติใหม่ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ผสานศาสตร์และศิลป์เปลี่ยน STEM เป็น STEAM รวมถึงเรื่องครู ซึ่งได้วางนิยามหน้าที่ของครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก เป็นผู้ดูแล เป็นโค้ชชิ่ง เพื่อตอบโจทย์ฐานสมรรถนะในอนาคต ซึ่งสภาการศึกษาเปรียบเสมือนเข็มทิศการศึกษาของชาติ จะไม่ใช่องค์กรที่เป็นนโยบายอย่างเดียวแล้วจะต้องลงไปปฏิบัติทั้งในระดับชาติและระดับโลกต่อไป
“ด้วยข้อจำกัดของเวลา เสียดายที่ดิฉันไม่ได้มีโอกาสลุกขึ้นขี้แจงในสภาฯ ขอขอบคุณทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นสส. หรือประชาชนทุกท่านที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา อยากเน้นว่าบอกว่ากระทรวงศึกษามีการเรียนการสอนที่ไม่ได้เน้นเรื่องการท่องจำอีกต่อไปแล้ว เราทำ Coding มาแล้ว 3 ปี ได้มีการเตรียมความพร้อมให้เด็กได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิสรัปชั่น นับเป็นการปฏิรูปไปถึงตัวเด็กเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ขอให้ท่านเชื่อมั่นว่าต่อไปนี้เด็กจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเรียนรู้ได้ รวมถึงดิฉันยังได้น้อมนำเอาพระราชดำรัสและพระราชปณิธานของล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 มาสอนให้นักเรียนบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริเพื่อให้เกษตรกรและคนไทยทั่วไปมีน้ำใช้ตลอดปี ลดความยากจนให้คนในประทศอีกด้วย” คุณหญิงกัลยา กล่าว