ความเหลื่อมล้ำกัดกินประเทศไทยรุนแรงเพราะสถานการณ์โควิด-19 ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้คนไทยว่างงานและเสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น และข้อมูลจากกองทุนเสมอภาคทางการศึกษาชี้ว่า เด็กเกือบสองล้านคนเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา
นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในการแถลงข่าวของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจและการศึกษาจากผลของโควิด-19
จากข้อมูลในไตรมาส 4 ปี 2564 มีผู้ว่างงานและเสมือนว่างงาน 3.2 ล้านคน ว่างงานเกินหนึ่งปีจำนวน 1.6 แสนคน และผู้ไม่เคยมีงานทำ 2.7 แสนคน โดยยังไม่นับรวมแรงงานที่ย้ายถิ่นกลับต่างจังหวัดมากถึง 1.7 ล้านคน
ขณะที่โควิด-19 ยังคงเป็นปัญหาของโลก ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นทำให้ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศเริ่มมีการฟื้นตัว อย่างไรก็ตามคาดว่าจะสามารถฟื้นตัวเต็มที่ได้ในช่วงปลายปี 2566
“สภาพการณ์ต่าง ๆ กดดันให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในอนาคต เพราะนอกจากหนี้ครัวเรือนจะขึ้นถึงระดับ 89.3% ของ จีดีพี เมื่อสิ้นปีที่แล้ว โควิดยังทำให้มีความเสี่ยงที่นักเรียน 1.9 ล้านคนจะหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะความยากจน”
นายจิตเกษม กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาควรดำเนินการในแบบ “One Thailand” เพื่อบูรณาการทรัพยากร บุคลากรและความรู้ ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดในแต่ละพื้นที่ โดยสร้างเป็นระบบการทำงานร่วมกันของภาครัฐ เอกชน และชุมชน
นอกจากนี้ประเทศไทยยังจะต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและแรงงาน โดยใช้องค์ความรู้ท้องถิ่นมาเพิ่มศักยภาพของคน ส่งเสริมเศรษฐกิจผู้สูงวัย พัฒนาเศรษฐกิจใหม่บนฐานทุนทรัพยากร Bio-Circular-Green และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งในภาคการค้า อุตสาหกรรม เกษตรและท่องเที่ยว