29 มีนาคม 65 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ( ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ในการส่งเสริมและพัฒนารายวิชาและหลักสูตรการ เรียนการสอนที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการการผลิตสินค้าและบริการฮาลาล ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยว่า ศธ.มีความยินดีที่จะสนับสนุน พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับนักเรียน นักศึกษาอาชีวเกษตร โดยเฉพาะการพัฒนาหลักสูตรเพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเข้าสู่ระบบมาตรฐานของตลาดโลก อย่างมาตรฐานฮาลาล ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับทั้งในเชิงคุณภาพและความปลอดภัยจากผู้บริโภคทั่วโลกเป็นอย่างดี เห็นได้จากการขยายตัวของเศรษฐกิจฮาลาลอย่างต่อเนื่อง ทั้งสินค้ากลุ่มอาหาร และกลุ่มที่มิใช่อาหาร เช่น เครื่องสำอางและการบริการ เป็นต้น
“สินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศไทยเป็นอย่างมากทั้งในแง่ของการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การจัดระบบการบริหารจัดการกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรเหล่านี้ให้เป็นไปตามมาตรฐานฮาลาล หรือการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการเพิ่มมูลค่าสินค้าหรือลดต้นทุนการผลิตจะสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและสร้างรายได้ให้กับประเทศเพิ่มขึ้น” คุณหญิงกัลยากล่าว
คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า การพัฒนาอาชีวศึกษาให้มีความก้าวไกลจะเป็นอีกคำตอบหนึ่งของการพัฒนาประเทศ เพราะกำลังคนอาชีวศึกษาถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญ ทั้งในภาคเกษตรกรรมอุตสาหกรรม รวมถึงในภาคธุรกิจบริการ ดังนั้น อาชีวศึกษาจึงต้องเร่งสร้างขีดความสามารถในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะที่จำเป็น เพื่อให้มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงาน หรือองค์กรวิชาชีพ ที่มีความเชี่ยวชาญ เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างคนที่มีคุณภาพ ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะนำพาให้การจัดการอาชีวศึกษาบรรลุสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จได้ในอนาคต
ด้านนายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษากล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ตกลงทำความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนารายวิชาหรือหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการผลิตสินค้าและบริการฮาลาล โดยใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากงานวิจัย เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในการบริหาร การจัดการ และการควบคุมการผลิตตามมาตรฐานฮาลาล สามารถบูรณาการเข้ากับวิชาชีพ สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันหรือเป็นที่ต้องการของสถานประกอบการและตลาดแรงงาน