วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  พลังงานไฮโดรเจน กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

Ittipan Buathong

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  พลังงานไฮโดรเจน กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ผมเพิ่งได้รับอนุญาตให้ไปขึ้นเรือ Energy Observer ซึ่งเป็นเรือสัญชาติฝรั่งเศส อยู่ระหว่างแล่นทำสถิติรอบโลก และแวะมาจอดพักเรืออยู่ที่ Racer มารีน่า แถวปราณบุรีครับ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  พลังงานไฮโดรเจน กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปกติ ผมไม่สู้จะสนใจเรื่องเรือหรู แต่พอได้ทราบจาก คุณตั้ว สืบตระกูล บินเทพ เจ้าของเรือไม้ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่เคยพาผมและคณะผู้พิการวีลแชร์ชมคลองอ้อมนนท์ ว่าสามารถประสานเวลาให้ผมไปชมเรือที่ ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และกำลังเดินทางรอบโลกโดยไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเลย

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  พลังงานไฮโดรเจน กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ผมจึงไม่ลังเลที่จะรับคำเชิญแล้วบึ่งจากกรุงเทพไปขอชมระบบบนเรือชื่อ Energy Observer ให้ทัน  ก่อนเรือจะบ่ายโฉมออกจากประเทศไทย ผ่านเกาะสมุยในวันถัดไปแล้วมุ่งสู่ท่าฟูก้วกของเวียดนาม เพื่อไปต่ออีกไกล

โอกาสจะได้เจอเรือนี้อีกที คงต้องหวังเอาตอนปารีสเป็นเจ้าภาพโอลิมปิค ในปี2024โน่นล่ะ ที่เรือจะแล่นรอบโลกกลับถึงอู่ที่เมือง Saint Malo ของฝรั่งเศสพอดี

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  พลังงานไฮโดรเจน กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

โครงการแล่นเรือลำนี้นี้รอบโลก ก็เพื่อจะพิสูจน์ให้เห็น ว่าการเดินทางรอบโลกโดยไม่ใช้น้ำมันเลย ไม่มีท่อไอเสียปล่อยอะไรออกมาเลย นอกจากก๊าซออกซิเจนนั้น

ทำได้!!

เรารู้ว่า ไฮโดรเจน 2 โมเลกุลเมื่อผสมกับออกซิเจนอีก 1 โมเลกุล จะได้’’น้ำบริสุทธิ์’’

ในทางกลับกัน หากนำน้ำไปผ่านวิธี electrolysis หรือการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า  เราจะได้ผลลัพธ์เป็นก๊าซไฮโดรเจนและก๊าซออกซิเจนแยกกันออกมา

ไฮโดรเจนเป็นธาตุที่มีน้ำหนักเบา สามารถให้พลังงานสูงกว่าน้ำมันถึง 3 เท่า

เรือเพรียวลมทรงทันสมัยกว้างเกือบ 13×30เมตรลำนี้ แม้ติดถังเก็บไฮโดรเจนได้เพียง63 กิโลกรัมก็จริง  แต่ปริมาณไฮโดรเจนเท่านี้ ก็เพียงพอจะผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนให้บ้านอาศัยขนาด 4 คนอยู่ใช้ชีวิตไปนานถึง 40 วันทีเดียว

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  พลังงานไฮโดรเจน กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ดี เมื่อนำระบบมาลงใช้ในเรือที่ติดเครื่องไปในทะเล ใช้ไฟฟ้าหุงหาอาหาร ใช้ไฟฟ้าแปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืด อาบน้ำอุ่น เปิดแอร์ จ่ายแสงสว่าง ควบคุมสมองกลของคอมพิวเตอร์ ตลอด24ชม. ไฮโดรเจน 63 กิโลกรัมนี้ สามารถดูแลเรือพร้อมลูกเรือ 4 และกัปตันอีก1 รวม5 คน ไปได้ ราวสองสัปดาห์ !

ต่อให้ไม่มีแดดส่องมาโดนเรือเลยตลอดสองสัปดาห์นั้นก็เถอะ

ถ้ามองจากภายนอก เราอาจนึกไปว่าแผงโซลาร์เซลล์ที่แปะอยู่ตามผิวเรือคือแหล่งพลังงานเดียวของเรือ

เปล่าครับ นั่นแค่ส่วนเดียว

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  พลังงานไฮโดรเจน กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

เพราะแผงโซลาร์เซลล์ที่มีทั้งหมดนี้ เพียงพอจะให้ใช้ชีวิตบนเรือไปได้ราว สองวัน

ผมจึงถามสาวนักวิทยาศาสตร์ประจำเรือMiss  Katia Nicolet  ซึ่งจบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล ในฐานะเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ประจำเรือ ที่มาพาชมเรือว่า งั้นพลังงานในเรือมาจากไหนอีก เธออธิบายว่า แผงโซลาร์เซลล์สร้างกระแสไฟฟ้าเก็บเข้าแบตเตอรี่ เมื่อแบตเตอรี่มีพลังเต็มที่  เรือจะดูดน้ำทะเลเข้ามาเข้าเครื่องelectrolysis โดยจะดึงเอาออกซิเจนออก ทิ้งออกซิเจนไปในอากาศ แล้วเก็บไฮโดรเจนที่สกัดออกมาได้เข้าถังบรรจุในเรือ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  พลังงานไฮโดรเจน กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

เรือคาร์บอนไฟเบอร์แบบสองท้องหรือ catamaran ลำนี้ต่อขึ้นที่แคนาดา ในปี1983 เพื่อใช้เข้าแข่งกีฬาเรือใบนานาชาติจนชนะรางวัลต่างๆ   ต่อมาทำสถิติโลกในปี 1988 ด้วยการใช้เวลาต่ำกว่า 75 วันแล่นด้วยใบรอบโลกสำเร็จเป็นครั้งแรก

ต่อมาเรือถูกเปลี่ยนเจ้าของ ในปี2013เป็นคนปัจจุบัน คือ คุณ Victorien  Erussard นำเรือขึ้นอู่ดัดแปลงใส่ระบบปฏิบัติการวิจัยและวิทยาศาสตร์ต่างๆพร้อมกับปรับปรุงเรือให้ทำจากวัสดุรีไซเคิล  จากนั้นเปลี่ยนใบเรือจากผ้าใบนุ่มๆมาเป็นใบแข็ง ซึ่งขนาดใบจะเล็กลงกว่าเดิมมาก แต่ให้ประสิทธิภาพในการจับลมได้ดีกว่า แถมไม่บังแสงอาทิตย์ที่ต้องการให้กระทบแผงโซลาร์เซลล์ที่นำมาติดอยู่ทั่วลำ ทั้งด้านบนดาดฟ้าที่แดดส่องถึงโดยตรง และด้านใต้แผงดาดฟ้าก็มีโซลาร์เซลล์รับแดดที่สะท้อนกลับขึ้นมาจากผิวน้ำทะเลด้วย

เก็บทุกเม็ด…ประมาณนั้น

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  พลังงานไฮโดรเจน กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

เรือนี้กินน้ำลึก 3 เมตรเศษ เรือค่อนข้างหนัก คือ 30 ตัน เนื่องจากบรรทุกสารพัดอุปกรณ์สำหรับพลังงานสะอาดรูปแบบต่างๆ ทั้งพลังลม พลังไฮโดรเจน พลังแสงอาทิตย์ และพลังคลื่น

เพราะในวันที่ลมแรง หรือคลื่นดันเรือไปได้แรงๆ ใบจักรของเรือจะทำหน้าที่เป็นกังหันไดนาโม  ปั่นไฟฟ้าเข้าสู่แบตเตอรี่เติมไปได้ด้วย

เก็บทุกเม็ด…ยืนยัน

เรือลำนี้จึงเป็นมากกว่าเรือสวยดูเก๋ๆที่แล่นพาลูกเรือทีละ 5 คนท่องโลกไปชุดละ 6 สัปดาห์ จากนั้นลูกเรือทั้งลำจะผลัดมือกับชุดใหม่อีก 5 คนที่จะบินไปดักรอขึ้นตามเมืองท่าต่างๆที่เรือจะเข้าเทียบไปเรื่อยๆจนกว่าจะเดินทางรอบโลกสำเร็จ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  พลังงานไฮโดรเจน กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

เรือ Energy Observer จึงเป็นทั้งทูตทางสิ่งแวดล้อม เป็นทั้งทูตของการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG (sustainable development goals) ที่แล่นไปให้ผู้คนในเมืองต่างๆทั่วโลกได้ประจักษ์ว่า  เจตนา ความมุ่งมั่น และความจริงจังที่กล้าให้สัมผัสได้จริง  อุปกรณ์อันซับซ้อนสามารถท้าลมพายุ ท้าแดดจัด และติดตั้งอยู่บนเรือที่ต้องแล่นบนพื้นที่ๆท้าทายที่สุดอย่างหนึ่ง นั่นคือในมหาสมุทร ผ่านเขตมรสุมสุดหินจนแม้ เขตหนาวเย็นสุดขั้ว

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  พลังงานไฮโดรเจน กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ตลอดการเดินทางของเรือ มีการบันทึกข้อมูลผู้ขึ้นมาเยี่ยมเยือน บันทึกข้อมูลการใช้พลังงาน บันทึกนโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศที่ไปจอดท่า ตลอดถึงมีการทดสอบเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทางทะเล แถมอุตส่าห์มีจักรยานพับได้มาเองด้วยอีกสองคันเล็กๆ ไว้ให้ใช้ปั่นไปซื้อกับข้าวบนฝั่ง…หรือใช้ออกกำลังกายบนบก หลังจากลูกเรือใช้ชีวิตบนเรือในทะเลคราวละนานๆ

ในภารกิจแล่นรอบโลก เรือ Energy Observer มีทีมวิศวกรเต็มชุดคอยสนับสนุนจากทางไกล ผ่านศูนย์ปฏิบัติการที่ฝรั่งเศสตลอดเวลา บนเรือมีกล้องวงจรปิดหลายๆจุด มีคอมพิวเตอร์สองชุดที่ช่วยควบคุมทุกอุปกรณ์ ด้วยจำนวน1,500 เซนเซอร์ที่กระจายติดตั้งทั่วทั้งลำเรือและคอยตรวจสอบระบบตลอด 24 ชั่วโมง

ราวกับยานอวกาศทีเดียว…

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  พลังงานไฮโดรเจน กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

คณะของเราได้ทราบเพิ่มมาอีกว่า เรือลำถัดไปของโครงการนี้  จะเป็นระดับเรือขนส่งสินค้า ซึ่งแปลว่าลำจะใหญ่กว่านี้มาก อุปกรณ์ทำไฮโดรเจนจากน้ำทะเลจะใหญ่ขึ้นอีก ถังเก็บจะทันสมัยขึ้นไปอีก

และอาจเปลี่ยนโฉมการขนส่งต่างๆ ทางน้ำ  เปลี่ยนแปลงการผลิตพลังงานสะอาดต่างๆไปได้อย่างพลิกโลกทีเดียว

อนึ่ง   เกร็ดเล็กน่าสนใจอื่นที่ผมสังเกตได้บนเรือยังมีอีก เช่น

หลังคาห้องโดยสารหลายส่วนได้อาศัยแสงสว่างของแดดที่ส่องผ่านแผงโซลาร์เซลล์ลงมาทำให้ประหยัดการเปิดไฟในช่วงวัน ห้องนอนของลูกเรือ มีเพดานที่ติดแท่งปริซึมสามเหลี่ยม 1 ชิ้นต่อห้อง เพื่อรับแสงดาดฟ้าลงมากระจายในห้องนอน และช่วยให้แสงหลอดไฟในห้องตอนกลางคืนทะลุไปปรากฏบนหลังคาเรือในยามฟ้ามืดอีกต่างหาก

นับว่าช่างออกแบบ…

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  พลังงานไฮโดรเจน กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ส่วนโพรงช่องว่างต่างๆทั้งหมดในเรือก็ถูกออกแบบให้สามารถใช้เก็บสารพัดอุปกรณ์ ทั้งตุนอาหารแห้ง อุปกรณ์ดำน้ำ เก็บจักรยาน เก็บเรือแคนูยาวเพื่อใช้ในการเข้าน้ำตื้น มีทางเดินใต้ดาดฟ้าเรือที่ขึงจากตาข่าย ทำให้มีลมอ่อนๆใต้เรือเวียนขึ้นมายังห้องโดยสารสม่ำเสมอ  นับเป็นการเพิ่มประโยชน์และพื้นที่ใช้สอยได้เยอะทีเดียว

Miss Nicolet เปิดเผยว่าปัจจุบันเทคโนโลยีไฮโดรเจนนี้ก้าวหน้าไปมากกว่าที่ติดตั้งในเรือนี้อีก  ถังเก็บเท่าเดิมที่ออกแบบปรับปรุงใหม่ๆสามารถอัดก๊าซไฮโดรเจนเข้าไปได้แน่นกว่าเดิมอีก สามเท่า หรือแม้กระทั่งเป็นไฮโดรเจนเหลวซึ่งขนส่งง่ายมาก เหมือนขนน้ำมัน

แต่เธอก็ดีใจที่เรือลำนี้ได้นำเอาความสำเร็จของเทคโนโลยีพื้นฐานของไฮโดรเจนออกมาพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า พลังงานไฮโดรเจนนั้น ทำในสเกลที่สามารถใช้งานได้จริง สามารถเอาทั้งระบบมากระแทกกระทั้นในเรือที่ต้องฝ่าเกลียวคลื่น สู้กับไอเกลือกัดกร่อน อุณหภูมิที่ขึ้นลงและมีผลให้วัสดุข้อต่อต่างๆยืดหดได้อย่างเหลือเชื่อ

เธอว่าพลางชี้ให้ดูช่องโบ๋ตรงปีกหลังคาเรือ ที่ควรจะมีแผงโซลาร์เซลล์เหมือนช่องอื่นๆว่า แม้มีน้อตยึดแน่นหนา แต่ก็ยังเคยถูกคลื่นแรงๆกระแทกขึ้นจากด้านใต้ของลำเรือจนแผ่นโซลาร์เซลล์แตกหลุดหายไปยกแผงมาแล้ว

พวกเรายืนมองนิ่งด้วยความตระหนักต่อพลังธรรมชาติ

แสดงว่าเรือไฮเทคลำนี้ไปผ่านคลื่นลมกันมาพอควร

กัปตันบอกว่า เสียดายที่เรือไม่สามารถหาที่จอดเทียบที่ว่างให้สักสล้อตในกรุงเทพ เพราะที่จริงอยากเปิดโอกาสให้ผู้คนได้สัมผัสกับเรือนี้ได้เยอะๆ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  พลังงานไฮโดรเจน กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

และในช่วงสองปีที่ผ่านมา ขั้นตอนอันไม่แน่นอนของแต่ละเมืองท่าต่อโควิด19 ก็ได้ทำให้เรือมีอันต้องล่าช้า และหลายครั้งจึงเข้าไม่ถึงสาธารณชนไปอย่างน่าเสียดาย

 ผมจึงต้องอาศัยจำข้อมูลมาเรียบเรียงเขียนเผยแพร่ออกมาให้สังคมได้อ่านและอาจเกิดแรงบันดาลใจในการพยายามปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินชีวิต

ชีวิตที่ต่างสามารถจะลดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์อันละเอียดอ่อนยิ่งของโลกเรา

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา

รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา