วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ท่องเที่ยวทางน้ำ…มิติที่จะเพิ่มมูลค่าของไทย

Ittipan Buathong

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ท่องเที่ยวทางน้ำ…มิติที่จะเพิ่มมูลค่าของไทย

ท่องเที่ยวทางน้ำ ในประสบการณ์ส่วนตัวของผม คงแบ่งได้คร่าวๆสัก4แบบ

1.ท่องเที่ยวลงเรือไปในน้ำทะเล

2.ท่องเที่ยวลงเรือหรือแพในลำน้ำภายในแผ่นดิน อันนี้น้ำจืดบ้าง น้ำกร่อยบ้าง

3.ท่องเที่ยวในทะเลสาป หรือสระหรือบึงขนาดใหญ่

4.ท่องเที่ยวลงเรือในถ้ำหรือตามแก่งหิน

สิ่งที่เห็นว่าต่างกันใน4แบบนี้คือ การเคลื่อนตัวของน้ำซึ่งจะมีผลต่อเรือต่างกันไป

น้ำทะเลมีคลื่นใหญ่น้อยเสมอ เรือขนาดต่างๆที่จะถูกใช้ให้บริการนักท่องเที่ยวอย่างมีมาตรฐาน จึงควรต้องถูกพัฒนาแบบมาให้ถูกต้อง

ถ้าเราจะยังเอาดีด้านการท่องเที่ยว เพราะทะเลเราสวย เราต้องทำให้มีความรู้ในเรื่องการพัฒนาแบบของเรือท่องเที่ยว มีหลักสูตรมาตรฐานสำหรับคนเรือให้กว้างขวาง และเร่งไต่อันดับให้ดีด้านความปลอดภัย

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ท่องเที่ยวทางน้ำ…มิติที่จะเพิ่มมูลค่าของไทย

น้ำในแม่น้ำและลำน้ำภายในประเทศ มีคลื่นธรรมชาติน้อย แต่น้อยคนจะตระหนักว่าคลื่นจากเรือใหญ่กว่าจะกระทบเรือเล็กโดยหลีกเลี่ยงแทบไม่ได้

และคลื่นจะกระทบทางกราบ เพราะต่างก็จะแล่นตามทางยาวของลำน้ำเป็นส่วนมาก

ต่างจากทะเลที่ทางน้ำกว้างกว่ามาก หากเจอคลื่นใหญ่ เรือสามารถหันหัวเรือเข้าฟันคลื่น แต่ในลำน้ำ มักทำแบบนั้นไม่ได้ด้วยเส้นทางที่ร่วมใช้ จะไม่เอื้อให้ทำอย่างที่สามารถทำได้ในทะเล

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ท่องเที่ยวทางน้ำ…มิติที่จะเพิ่มมูลค่าของไทย

แถมมีเรื่องคานสะพานเตี้ย ไม่ว่าจะในลำคลองหรือแม่น้ำ มีเรื่องน้ำขึ้นน้ำลง ถ้าเป็นช่วงของการเดินเรือในลำน้ำที่อยู่ใกล้ทะเล มีเรื่องประตูน้ำที่ต้องเปิดปิดเป็นช่วงๆตามเวลา และมีเรื่องการแล่นในยามหัวค่ำ หรือเทียบท่ายามฟ้ามืด

เรือท่องเที่ยวเล็กตามชายฝั่งทะเล เท่าที่รู้ยังไม่ค่อยมีการเข้าเทียบหรือออกเรือหลังฟ้ามืด เพราะกิจกรรมทางทะเลมักจะคึกคักตอนมีแสงเพียงพอ ส่วนอนาคต อาจมีมากก็ได้ ถ้ากิจกรรมลงเรือในทะเลจะมีมากกว่าไปเที่ยวชมเกาะหรือออกไปเล่นกีฬาทางทะเล

ส่วนการท่องเที่ยวเล่นกับน้ำในทะเลสาปนั้นแทบไม่มีคลื่นอะไร เพราะแม้มีคลื่นจากเรืออื่นบ้างแต่ชายฝั่งของทะเลสาปจะกว้างขวาง พลังงานของคลื่นจึงกระจายตัวออกได้ง่าย ไม่เหมือนแล่นเรือในแม่น้ำ ที่ยังไงแม่น้ำก็แคบกว่าทะเลสาป แถมน้ำยังไหลอีกต่างหาก

ดังนั้นการใช้แพที่จะลากไปในทะเลสาป การใช้ทุ่นลอย รวมทั้งการใช้เรือจึงดูจะไม่ค่อยมีอะไรซับซ้อน เว้นเรื่องต้องระวังตอหรือต้นไม้ใต้น้ำ ถ้าทะเลสาปนั้นเกิดเพราะการกั้นเขื่อนให้น้ำท่วมเก็บไว้ในหุบเขา  ต้องอาศัยแผนที่เดินเรือที่บอกมากกว่าความลึก เพราะต้องคิดไปถึงต้นไม้เนื้อแข็งที่ยืนต้นจมน้ำอยู่เหมือนกัน

เท่าที่สังเกตอีกอย่าง อุณหภูมิใต้น้ำในทะเลสาปมักจะเย็นกว่าน้ำตามแม่น้ำหรือทะเล คนจะลงเล่นน้ำจึงควรต้องระมัดระวังมากหน่อย

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ท่องเที่ยวทางน้ำ…มิติที่จะเพิ่มมูลค่าของไทย

ส่วนการลงเรือเที่ยวในถ้ำ ในแก่ง แม้ยังมีน้อยแห่ง แต่ต้องอาศัยความชินทางของผู้ควบคุม เพราะในถ้ำมีแสงจำกัด อากาศถ่ายเทจำกัดและเสียงจะก้อง แถมอาจมีหินย้อยลงมาจากเพดานถ้ำ  เรือใช้ในถ้ำจะใช้แรงคนเสียมากกว่า ส่วนจะพาย จะถ่อ จะฉุดด้วยเชือกที่ผูกไว้แล้ว ก็ว่าไป

ส่วนในแก่ง  น้ำมักเชี่ยวและตื้น ท้องเรือจึงแบนกินน้ำไม่ลึก หรือไม่ก็มักใช้เรือยางเพื่อหากเรือกระทบกับโขดหินจะได้ไม่ถึงกับเสียหายอันตรายต่อเรือ ต่อคน และต่อหิน!

กิจกรรมทางน้ำเหล่านี้  สมัยก่อนมักทำโดยคนและเรือของพื้นที่ ซึ่งไม่ค่อยเป็นปัญหา เพราะเขาพัฒนาแบบเรือของเขามาอย่างที่ไปกันได้กับลักษณะน้ำและภูมิประเทศของเขา

แต่ถ้าเปลี่ยนจากเจ้าของเรือใช้พาตนเองไปทำกิจกรรมของเจ้าของ  มากลายเป็นเรือพานักท่องเที่ยวออกไปในน้ำ แบบเน้นเป็นอาชีพ  ทีนี้อาจติดขัดในเรื่องมาตรฐานการจะเป็นเรือท่องเที่ยวได้ เพราะกรมธรรม์ประกันภัยอาจมีข้อความจำกัดความครอบคลุมที่กรมธรรม์จะคุ้มครองให้นักท่องเที่ยว ถ้าไปใช้พาหนะที่ระบบมาตรฐานยังไม่รับรอง

ท่าน้ำสำหรับเทียบเพื่อขึ้นลงเรือก็เช่นกัน

มาตรฐานแบบบ้านๆที่เจ้าถิ่นคุ้นเคยอาจไม่ค่อยตรงกับมาตรฐานที่เขาใช้ในระดับสากล

การท่องเที่ยวและนันทนาการของมนุษย์ดูจะหันมาใช้ทางน้ำมากขึ้นเรื่อยๆเสมอครับ

ครั้งหนึ่งเราเคยผ่านบทเรียนรถบัสนำเที่ยวที่ยังไม่ถูกมาตรฐานพอในการใช้บนถนน ซึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายและต่อมาหน่วยงานต่างๆก็ได้แก้ไขกันไปแล้วพอควร

เรื่องเรือนำเที่ยวก็เช่นกัน ต้องรีบป้องกันดีกว่า

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ท่องเที่ยวทางน้ำ…มิติที่จะเพิ่มมูลค่าของไทย

แต่พาหนะทางน้ำและสิ่งอำนวยความสะดวกทางน้ำดูจะยังไม่ค่อยมีเว็บที่เปิดข้อมูลให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานเรื่องนี้อย่างละเอียด เข้าใจง่ายสักเท่าไหร่

ประเทศไทยยังมีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำอีกเยอะมาก

และจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มาก กระจายกิจกรรมได้เยอะ กระจายรายรับแก่ชุมชนได้อีกมาก

การรวบรวมความรู้ด้านนี้ทั้งเรื่องการพัฒนาฝีมือกลุ่มคน พัฒนาท่าเทียบ และพาหนะทางน้ำที่เหมาะกับแต่ละน่านน้ำและลำน้ำในไทยจึงควรมีขึ้น

คือต้องเอาจริงเอาจังกันทีเดียว

ท้องถิ่นและภูมิภาคต่างๆควรสนับสนุนการรวมตัวตั้งชมรม สมาคม ของประชาชนที่ทำกิจกรรมทางน้ำทั้งในระดับลุ่มน้ำ ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติให้มากพอ

เพื่อให้มีสมาชิกได้รวมตัว แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ควรใช้ประโยชน์ได้ร่วมกันสม่ำเสมอ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ท่องเที่ยวทางน้ำ…มิติที่จะเพิ่มมูลค่าของไทย

รัฐควรมีทีมติดตามความรู้เรื่องนี้ให้ต่อเนื่อง จัดเสวนากระจายความรู้เพื่อลดความเสี่ยงและบริหารความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยวและนันทนาการทางน้ำที่เหมาะสม

กิจกรรมนันทนาการทางน้ำนี้จะช่วยเป็นเครื่องมือใหม่ในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พร้อมไปกับการสร้างเศรษฐกิจและสร้างธุรกิจตามลำน้ำต่างๆด้วย

และถ้าสามารถส่งเสริมให้มีเรือไฟฟ้าได้ยิ่งมากยิ่งดี

อย่างไรก็ดี สังคมไทยควรมีระบบบังคับกติกา มารยาทการจราจรทางน้ำที่ดีลดการกระทบกระทั่งระหว่างกลุ่มต่างๆ  โดยเฉพาะระหว่างคนชายฝั่งกับคนใช้เรือ ระหว่างเรือใหญ่กับเรือขนาดเล็ก ระหว่างกลุ่มคนทำประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คนวางเบ็ด วางโพงพาง หรือทอดแห  กับคนใช้พาหนะทางน้ำเพื่อความบันเทิง

เรื่องนี้เปราะบาง กันไว้ดีกว่า อย่ารอจนเกิดเรื่องห้ำหั่นประจันบานกันได้

เท่าที่สังเกต มักมาจากความเร็ว ความดังหนวกหู และคลื่นน้ำที่เกิด มักเป็นสาเหตุกระทบกระทั่ง

หน่วยงานและสมาคมชมรมจึงควรมีแผนจัดทำคู่มือกติกาการใช้ลำน้ำที่เข้าถึง เข้าใจและใช้ร่วมพัฒนาได้ แม้แต่กับผู้โดยสาร หรือคนมาชมกิจกรรมที่ชายฝั่งก็สามารถร่วมปฏิบัติได้อย่างมีระเบียบแบบแผน

การงดเบิ้ลเรือโชว์พลังแล้วสร้างคลื่นไปทำให้เรืออื่นที่จอดลอยต้องกระแทกกันโดยไม่จำเป็น การแล่นตัดหน้ากันกระชั้นชิด การมีเขตเดินเครื่องเบาก่อนเข้าจอดเทียบท่า ล้วนเป็นมารยาทที่ควรนำมารวบรวมบอกกล่าวกันแต่เนิ่นๆ

คนเเล่นเรือในคลอง ในลำน้ำมักมีประสบการณ์รู้ว่ามีของแข็งอะไรแอบๆอยู่ใต้น้ำที่ไหน อยู่ราวเสาไฟฟ้าต้นที่เท่าไหร่ มีตอม่อเก่าของสะพานที่เลิกใช้แต่ผู้รับเหมาไม่ได้ตัดออกให้ถึงโคนหลบอยู่ใต้น้ำแถวไหน

ดังนั้นน่าจะต้องส่งเสริมให้เผยแพร่แผนที่เดินเรือเล็กในลำน้ำ หรือเผลอๆต้องใส่ในกูเกิ้ลแมปทางน้ำให้รู้แล้วรู้รอดไปเลยก็น่าจะเป็นประโยชน์ยิ่ง สำหรับคนเดินเรือเล็กที่มาจากต่างถิ่น

เรือเล็กสมัยเก่า เขาพายเรือไม้ไปมา  แม้เผอิญชนอะไรเข้า เรือก็ไม่แตกง่ายๆ แต่เรือเล็กรุ่นใหม่ไปได้เร็วกว่าด้วยเครื่องยนต์ แม้จะเดินเครื่องแล่นช้าแต่ท้องเรือรุ่นใหม่มักเป็นไฟเบอร์ หากชนอะไรแข็งๆเข้าท้องเรืออาจแตกร้าวหรือทะลุง่ายกว่า จึงควรป้องกันไว้

การฝึกกู้ภัยทางน้ำจึงต้องมีไปพร้อมกัน แม้ไม่ชนไม่โดนกัน ก็อาจมีประเภทเรือดับ เรือรั่วอยู่กลางทางเพราะเหตุต่างๆ

การสร้างธรรมเนียมที่เรือผ่านไปมามีหน้าที่ต้องเข้าช่วยเหลือเมื่อถูกร้องขอก็อาจจำเป็นต้องเสริมสร้าง

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ท่องเที่ยวทางน้ำ…มิติที่จะเพิ่มมูลค่าของไทย

ถ้าธรรมเนียมความสามัคคีในลำน้ำมีได้มาก สังคมเราอาจได้กิจกรรมอาสาเก็บขยะลอยตามผิวน้ำเพิ่มอีกมาก  เพราะคนมีเรือเล็กรู้ว่าถ้าปล่อยไว้ขยะเหล่านี้จะกลายเป็นอุปสรรคต่อเรือทุกชนิด กิจกรรมนัดกันเก็บขยะลำน้ำ จะได้มีขึ้นสม่ำเสมอให้เป็นอีกประเพณี   เทศบาลและหน่วยที่มีบทบาทดูแลลำน้ำ สนับสนุนให้มีเรือใหญ่มาช่วยรับไปดำเนินการต่อหรือจะจ้างชาวบ้านที่มีเรือนั่นแหละช่วยดำเนินการ  ก็จะสร้างรายได้ให้ชาวริมน้ำได้มีกิจกรรมไปด้วย

ขยะลำน้ำไม่ได้มาจากคนใช้ลำน้ำเสมอไป ขยะบกจากที่อื่นเจอฝนก็เคลื่อนตัวออกจากที่ตั้งมุ่งมาลำน้ำเยอะมาก

ปล่อยเป็นภาระคนที่อยู่ทางน้ำเห็นจะเกินกำลัง

นอกจากท่องเที่ยวทางน้ำแล้ว ผมเล็งเห็นว่า ในอนาคตอันใกล้ ความแพร่หลายของกีฬาทางน้ำก็จะเพิ่มอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเพิ่มสีสรร ต่อการร่วมใช้ทางน้ำอีกแยะ ทีนี้ เรือแคนู เรือคายัค จักรยานน้ำ ซับบอรด์ และแม้แต่โฮเวอร์บอรด์ และแม้แต่เรือเป่าลมอีกสารพัดแบบคงจะแห่กันมาลงน้ำในอีกไม่นานแน่

ทุกวันนี้ไปดูที่ดินริมน้ำราคาแพงทะลุฟ้า

มีหรือที่เจ้าของที่จะไม่ใช้ให้เกิดกิจกรรม

ในขณะที่ชาวบ้านเรือนไม้เรือนแพ อยู่ริมคลองอยู่มาแต่เดิมก็ยังเยอะมากเช่นกัน

คงต้องยึดหลักเรือเครื่องต้องเกรงใจเรือพาย

เรือใหญ่ต้องเกรงใจเรือเล็ก

และต้องรู้ว่าเรือใดๆนั้นล้วนแล้วไม่มีเบรคอย่างห้ามล้อรถบนถนน

ระยะห่างระยะชิดต้องไม่ใช้ความชินจากการขับรถมาประเมิน

เรื่องนี้คนเรือที่มีประสบการณ์คงสอนเราได้อีกแยะ

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้สัมผัสกับกิจกรรมนันทนาการทางน้ำในลำน้ำลำคลองหลายๆแบบ ได้เห็นความตั้งใจของท้องถิ่นบ้าง  คณะบุคคลบ้าง จังหวัดบ้าง ในการจะพยายามฟื้นชีวิตชีวาทางเศรษฐกิจผ่านการนันทนาการของสายน้ำในหลายๆแห่ง ในทุกๆภาคของไทย

ได้เห็นและทดลองนั่งเรือไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ทั้งกลางวันและกลางคืน ได้พาผู้พิการทางการเคลื่อนไหวออกทดลองการลงเรือ หรือแม้แต่ลงพายแคนู

เห็นการประยุกต์ใช้กว้านรอกไฟฟ้าที่ปกติเห็นติดไว้กับรถออฟโรดมาเป็นลิฟต์ให้คนทุกกลุ่มสามารถขึ้นลงท่าเทียบไปถึงระดับข้างกราบเรือได้อย่างปลอดภัยในราคาที่ไม่แพงอย่างที่คาด

ได้เห็นการติดไฟ LED ส่องสว่างของสะพานมหาเจษฏาบดินทร์ที่นนทบุรี สว่างทั้งบนราวสะพาน ใต้สะพานและตอม่อริมตลิ่งช่วยให้เกิดทั้งความ สว่าง ความสวยงามและเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้คนใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเดิม

ปี2565 หรือคศ.2022นี้ แม้หากตัวเลขนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะยังไม่ทะยานไต่ได้เร็วนัก  แต่ก็ควรจะเป็นปีทองของการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานสำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำและทางทะเลครั้งสำคัญ เพื่อเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพให้ดีขึ้นได้อีก

กิจกรรมนันทนาการทางน้ำมักมีมูลค่าสูงกว่าทางบก ไม่ว่าทางน้ำนั้นจะลึกหรือตื้นเพียงใด ขอเพียงเอาใจใส่เป็นได้สร้างเสน่ห์ที่มีมูลค่าเสมอ

ขอขอบคณที่มีผู้ช่วยบันทึกภาพส่งมาให้ใช้ประกอบงานเผยแพร่ชิ้นนี้ที่ผมคงเอ่ยนามได้ไม่ครบหมด

หวังว่าข้อเขียนนี้จะช่วยปลุกประกายให้เรามีความหวังในการทำเสน่ห์ไทยในสายน้ำให้กลับมารุ่งเรืองสว่างไสวอีกครั้งหนึ่ง

ให้โลกกลับมาเห็นเราเป็นเวนิสตะวันออก ที่คลองสวย น้ำสะอาด ทะเลงามและชายฝั่งที่มีชีวิตชีวาอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดไป

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

สมาชิกวุฒิสภา

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา

Leave a Comment