วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ความน่าทึ่งของวาฬในทะเลต่อการเกิดออกซิเจนของโลก

Ittipan Buathong

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ความน่าทึ่งของวาฬในทะเลต่อการเกิดออกซิเจนของโลก

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนกับการก้าวต่อของ ภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ ในหลักสูตรอบรมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่จังหวัดภูเก็ต

หนึ่งในสาระสำคัญที่ผมนำเสนอก็คือ เมืองท่องเที่ยวทางทะเลทุกเมืองควรพัฒนาให้มีชุดความรู้ที่ลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆเกี่ยวกับปัญหาที่จะมากับภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง นั่นคือน้ำทะเลจะท่วมสูง

ท่วมสูงแค่ไหนคงเห็นต่างกันไปได้ แต่ในบางการคำนวณ ชายฝั่งใหม่ของพื้นที่ภาคกลางอาจลึกเข้าไปหลายกิโลเมตร ถ้าเป็นย่านที่ชายฝั่งดั้งเดิมเป็นแนวราบ ไม่ใช่แนวเนินเขา

อันนี้เพื่อเตรียมเมืองชายฝั่งทั้งหลายให้สามารถออกแบบตัวเองเพื่อรอรับการมาถึงของผลกระทบจากน้ำทะเลยกระดับแบบถาวร  เพราะภูเขาน้ำแข็งทั่วโลกกำลังมีอัตราการละลายที่รวดเร็วจนควรกังวลใจ

จริงอยู่ ว่าเหตุการณ์นี้อาจไปเกิดในช่วงปี2100 คืออีกเจ็ดสิบกว่าปีจากนี้

ในนั่นคือแค่หนึ่งชั่วอายุคนเท่านั้นนะครับ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ความน่าทึ่งของวาฬในทะเลต่อการเกิดออกซิเจนของโลก

สอง เมืองชายฝั่งทั้งหลายพึงรู้ว่า ออกซิเจนที่โลกมีนั้น แหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่แพลงตอนพืชที่อยู่กันมากมายในมหาสมุทรทั่วโลก

การรักษาทะเลให้ไม่มีมลพิษลงไปปนเปื้อน ไม่มีพลาสติกลงไปลอยฟ่อง ไม่มีน้ำมันรั่วไหลเข้าไปรบกวน จะช่วยทำให้แพลงตอนที่มีหลายหมื่นชนิดในมหาสมุทร ยังคงทำภารกิจของมันต่อไปได้เรื่อยๆ

สาม การพานักท่องเที่ยวและนักดำน้ำออกไปชมวาฬในทะเลนั้น ควรให้ความรู้ด้วยว่า วาฬคือสัตว์สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ช่วยให้แพลงตอนพืชได้รับสารอาหารสำคัญที่แพลงตอนต้องการ

เพราะวาฬจะไม่สามารถขับถ่ายมูลในขณะที่มันดำน้ำอยู่ลึกๆ เนื่องจากความดันใต้น้ำจะอุดทวารของมันไว้ด้วยแรงดัน

วาฬทั้งหมดจึงต้องลอยขึ้นมาใกล้ผิวน้ำเพื่อขับถ่าย และหายใจ เพราะวาฬไม่ใช่ปลา    มันไม่มีเหงือก !!

มูลของวาฬอุดมไปด้วยสารอาหารที่แพลงตอนใช้ในการเติบโต แพลงตอนพืชหลายอย่างโดนแสงอาทิตย์แล้วจะสังเคราะห์แสง ปล่อยออกซิเจนออกมาที่ผิวน้ำ และดูดซับเอาคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในตัวของมันแทน

คล้ายกระบวนการที่ใบไม้บนบกทำตอนกลางวันนั่นเอง

แต่ด้วยปริมาณแพลงตอนมีอยู่ทั่วทุกมหาสมุทร และมหาสมุทรก็คือพื้นผิวส่วนใหญ่ของโลกที่มีสารอาหารไม่เท่ากัน วาฬทั่วโลกราวหนึ่งล้านตัวท่องไปไม่มีหยุดในทุกน่านน้ำ ได้เป็นผู้พาสารอาหารที่อุดมไปปล่อยไว้ในย่านที่สารอาหารมีน้อยกว่า

ทำให้แพลงตอนที่สังเคราะห์แสงได้ ได้รับสารอาหารที่จำเป็น

การสังเคราะห์แสงปริมาณมหาศาลนี้เองที่ผลิตออกซิเจนเกิน60%ของโลกและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ถึง30% อันเป็นวงจรสำคัญยิ่งสำหรับทุกอย่างบนดาวเคราะห์สีฟ้าดวงนี้

ทีนี้เราจึงยิ่งเห็นเหตุผลชัดขึ้น ว่าทำไมจึงต้องช่วยกันอนุรักษ์วาฬ

IMFระบุว่า ถ้าเพิ่มปริมาณแพลงตอนพืชขึ้นเพียง 1 % ก็จะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ไว้เทียบเท่าต้นไม้2ล้านล้านต้น!

แต่วาฬกำลังตายเพราะถุงพลาสติกอุดตันในท้องบวกการถูกล่าเอาไขมัน

ท่านที่สนใจอาจค้นความรู้เรื่องนี้มาศึกษาเพิ่มเติมได้จากรายงานวิจัยที่มีให้อ่านทั้งในภาคภาษาอังกฤษและภาษาไทย ซึ่งค้นได้ไม่ยากทางออนไลน์ เช่นกัน

ถ้าเมืองชายฝั่งและเมืองท่องเที่ยวทางน้ำเข้าใจเรื่องนี้ดีขึ้น อาจสามารถสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกับทะเลได้อย่างอย่างยั่งยืนขึ้นกว่าเดิมมาก และอาจทำให้เปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตสำหรับทั้งผู้อยากมาอยู่และผู้มาเยือนได้เห็นเป็นตัวอย่าง

การใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศทางทะเล ดูจะเป็นสิ่งที่มีมนุษย์ฝึกฝนเอาไว้น้อยมาก ก็ถ้าไม่เริ่มจากคนใกล้ฝั่งทะเลแล้วจะให้เริ่มจากใคร

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ความน่าทึ่งของวาฬในทะเลต่อการเกิดออกซิเจนของโลก

นี่อาจจะเป็นอีกพลังครั้งสำคัญที่จะช่วยถนอมเผ่าพันธุ์ต่างๆบนโลกเอาไว้ก็ได้

การพัฒนาอย่างยั่งยืนมีโมเดลที่สากลรณรงค์กันในปัจจุบันด้วยอักษรย่อว่า ESG

คือE มาจาก Environment แปลว่าสิ่งแวดล้อม

S มาจาก  Social  แปลว่าการปฏิบัติที่ดึงภาคสังคมมีบทบาทร่วมดูแลกันและกันได้เต็มที่

และ G มาจาก Governance มาจากการเน้นที่ธรรมาภิบาล ในการจัดการในทุกๆเรื่องราว

เรื่องนี้มีคนเขียนเล่าได้เป็นตำราอีกหลายเล่ม และเป็นหัวข้อสนทนาจริงจังในทั่วโลก

เมื่อผมบรรยายเสร็จ หมดธุระ ก็ได้รับคำชวนจากคุณโก้ ภูมิกิตต์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวภูเก็ตว่า แนะนำให้ใช้เวลาที่เหลือไปแวะเดินป่าบนเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขาพระแทว ซึ่งอยู่ห่างจากสนามบินภูเก็ตเพียง 4 กิโลเมตร

คุณโก้บอกว่าอาจารย์เอจะได้แวะให้อาหารชะนีด้วย

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ความน่าทึ่งของวาฬในทะเลต่อการเกิดออกซิเจนของโลก

ผมเห็นว่ายังไงก็ต้องนั่งรถผ่านเพื่อไปขึ้นเครื่องบินกลับอยู่แล้วจึงจัดเวลาไปแวะเสียหน่อย

ส่วนเรื่องให้อาหารสัตว์ป่านั้น ผมไม่ค่อยจะอินนัก เพราะรู้อยู่ว่าถ้าเราให้อาหารสัตว์ป่าจะทำให้มันเคยชิน และจะเข้ามาใกล้มนุษย์เกินระยะที่ปลอดภัยของทั้งสองฝ่าย

แต่ทริปเดินป่าสั้นๆ4ชั่วโมงครั้งนี้ให้ข้อมูลน่าสนใจเกินคาด

เมื่อไปถึงที่หมายก็ได้เห็นป้ายโครงการคืนชะนีสู่ป่า มีคุณปั๊ม ธนพัฒน์ พยัคฆาภรณ์ หนุ่มไทยใจอาสาที่รับภารกิจต่อมาจากคุณแม่พร้อมภรรยาคือคุณโน้ต บัณทิตสาวจากอักษรศาสตร์จุฬา ดีกรีปริญญาโทจากออสเตรเลีย ทั้งคู่พาผมและนต.วรวิทย์ เตชะสุภากูร อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีท่องเที่ยวและคุณเจี้ยบพร้อมพี่ชาติจากทีมภูเก็ตที่เพิ่งฟังผมบรรยายมาหยกๆออกไปเดินเส้นทางธรรมชาตบนเขา

คุณปั๊มพาเราเดินขึ้นเขาพระแทวไปช้าๆ เส้นทางชัน

ที่นี่เป็นป่าฝนเขตร้อนชื้นที่ยังอุดมสมบูรณ์

ที่นี่เป็นเสมือนโอเอซิสกลางเมืองท่องเที่ยวชั้นนำอย่างภูเก็ต เพราะนักสำรวจพบนกสารพัดสายพันธุ์ที่นี่มากกว่า200ชนิด พบสัตว์ป่าขนาดเล็กที่คนนึกไม่ถึงว่ามีที่ภูเก็ต เช่น แมวดาว 

ในอดีต ป่านี้เคยมีเสือด้วยซ้ำ แต่เกลี้ยงไปหมดนานแล้ว

ชะนีนั้นเคยมี แต่ก็ถูกล่าเกลี้ยงเหมือนกัน

จนกระทั่งพอมีโครงการคืนชะนี (ของกลาง) สู่ป่านี่แหละ เลยทำให้ป่าละแวกนี้มีชะนี ราชินีแห่งสัตว์ป่ากลับมาอาศัย ส่งเสียงร้อง …ผัว…ผัว…ผัว กันยาวเป็นทอดๆตอนคณะของเรามาถึง ซึ่งตอนนี้มีชะนีกลับมาในป่าเขาพระแทวถึง 50 ตัว รวมรุ่นลูก รุ่นหลานที่เกิดในป่าหลังการปล่อยอีกด้วย

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ความน่าทึ่งของวาฬในทะเลต่อการเกิดออกซิเจนของโลก

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้ๆกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทวนี้ปลูกไม้ผลอย่างทุเรียน ลองกอง เงาะ มังคุด ถึงแม้ชะนีที่ปล่อยคืนป่าจะไปฉวยผลไม้ในสวนมากินกันบ้าง ชาวบ้านก็น่ารักไม่โกรธไม่เคือง คนเก่าคนแก่บอกว่าให้มันกินเถอะ เพราะรอฟังเสียงพวกมันกลับมากว่า30-40ปีแล้ว

ชาวบ้านบอกว่าเคยได้ยินเสียงร้องของพวกมันตั้งแต่ชาวสวนเพิ่งโต แต่แล้วอุตสาหกรรมท่องเที่ยวบูม พวกมันก็เงียบหายไปหมด

เพราะธุรกิจจำนวนมากสั่งพรานให้ออกหาลูกชะนีไปขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว!!

คุณปั๊มอธิบายว่าตั้งแต่คุณปั๊มยังเด็ก คุณแม่ก็เริ่มออกไปช่วยรับชะนีที่ถูกช่วยเหลือออกมาจากสถานที่ที่เอาชะนีไปขังไปเลี้ยงไว้โดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย

ที่บ้านส่วนตัวที่กรุงเทพเลยมีชะนีและสารพัดสัตว์ป่าที่เข้าข่ายเป็นของกลางในคดีความผิดเกี่ยวกับการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ารวมๆแล้วเป็นร้อยตัว

สัตว์ป่าเหล่านี้จึงโตมากับคุณปั๊มนั่นแหละ

ชะนีนั้นมีDNA คล้ายมนุษย์มากที่สุดแล้ว ในบรรดาสัตว์ป่าใดๆของไทย

ในโลกสากลนั้น มีสัตว์ป่าอยู่4อย่างที่ได้ชื่อว่ามีชุดรหัสโครโมโซมที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ที่สุด

ทั้ง4อย่าง เป็นลิงไม่มีหาง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า APE

APE  3อย่างไม่มีในป่าของไทย นั่นคือ ชิมแปนซี กอริลลา และ อุรังอุตัง

อย่างสุดท้ายคือชะนี ซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น รวมทั้งไทยด้วย

และความที่โครโมโซมชะนีเหมือนคนมากที่สุดแล้วนี่เองที่ทำให้ชะนีสามารถมีบุคลิกหลายอย่างซับซ้อนแบบมนุษย์

ภาษาพจนานุกรมไทยไม่เรียกกลุ่มนี้ว่าลิง แต่เรียก วานร!

เช่น ชะนีสามารถมีอายุได้ยาวถึง40ปี ซึ่งมนุษย์สมัยก่อนที่จะมีหยูกยาดีๆใช้ก็มีอายุขัยมากกว่านี้ไม่มาก

ชะนีเป็นสัตว์ที่สร้างครอบครัวและมีคู่ที่ไม่มั่ว ถ้าได้จีบได้ปิ๊งกันก็จะอยู่กินกันไปจนตายจาก

เคยมีความพยายามคลุมถุงชนให้ชะนีมาแล้ว จึงได้ข้อสรุปว่า ถ้าไม่ปิ๊งกัน เค้าก็ไม่ผสมพันธุ์กันให้เสียแรงหรอก

และเมื่อสังเกตนานพอจึงมีแม้แต่ข้อค้นพบใหม่

ชะนีที่เป็นชายรักชายก็มีด้วยนะ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ความน่าทึ่งของวาฬในทะเลต่อการเกิดออกซิเจนของโลก

อันนี้ใครอยากติดตาม ขอแนะนำให้ไปที่ศูนย์คืนชะนีสู่ป่า ที่ภูเก็ต เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทว ได้เลย

ชะนีที่มาถึงมือคุณปั๊มและคุณโน้ตนั้น ล้วนแต่ผ่านการใช้ชีวิตที่รันทดมาหนักๆทั้งนั้น ถูกขังถูกล่ามจนเสียสัญชาตญาณ ถูกให้ลองสารเสพติดบ้าง บุหรี่บ้าง สารกระตุ้นบ้างเพื่อให้ชะนีตื่นมารับแขกในแหล่งบันเทิงกลางคืน ทั้งที่ธรรมชาติของชะนีป่าจะนอนแต่หัวค่ำแล้วตื่นเช้าๆไปหากิน อย่างที่มนุษย์ทำกัน

ความโลภของมนุษย์ทำให้อ่านใจนักท่องเที่ยวออกว่า พวกนักท่องเที่ยวมีความรู้เรื่องแบบนี้น้อยมาก พอมาเจอลูกชะนีอายุระหว่าง2-7ปีจะหลงไหลลูกชะนีได้ง่ายๆ เพราะนั่นคือชะนีเด็กที่เขี้ยวยังไม่ยาวและยังติดที่จะกอดอยู่ที่อกของแม่หรืออกของใครก็ตามที่ให้ความอบอุ่นแก่มัน

ยุคนั้น ฝรั่งต่างชาติที่มาเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงได้พบกับลูกชะนีตามแหล่งท่องเที่ยวที่ทำราวกับว่าที่นั่นใจดีช่วยรับดูแลลูกสัตว์หน้าตาบ้องแบ๊วไม่มีหางเหล่านี้

การได้ลูกชะนีมามีทางเดียว

คือยิงตัวพ่อของครอบครัวให้ตาย ไม่งั้นพ่อจะโดดลงมากัดผู้รุกรานที่พยายามเข้าถึงลูกของมันแน่นอน

ส่วนตัวแม่ก็เช่นกัน พรานต้องยิงให้ร่วงลงมาเพื่อจะพรากลูกชะนีจากอกแม่เท่านั้นจึงจะได้มา

ส่วนลูกชะนีที่ร่วงลงมาพร้อมกับร่างของแม่ ส่วนมากจะพิการหรือกระอักจากการตกจากที่สูงจนตาย ว่ากันว่า อัตราเสี่ยงที่จะได้ลูกชะนีมาให้แหม่มฝรั่งโอบกอดถ่ายรูปเป็นที่ระลึกที่บาร์ตามแหล่งท่องเที่ยวจะอยู่ที่ ได้ลูกชะนีมาหนึ่ง แต่ต้องมีชะนีตายไปอย่างไร้ค่าไร้เหตุผลไปเกือบสิบ

ครั้นพอลูกชะนีโตเกิน7ปี เขี้ยวจะยาวโง้งออกมา และมีพละกำลังแข็งแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ชะนีมีอารมณ์รัก โกรธ เบื่อ อิจฉาหมั่นไส้ แค้น อาฆาตแบบมนุษย์  ใครไปกลั่นแกล้งหรือทำร้ายเค้า เค้าจะจดจำหน้าไว้ และรู้จักจะรอแก้แค้นเอาคืนเมื่อสบโอกาส

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ความน่าทึ่งของวาฬในทะเลต่อการเกิดออกซิเจนของโลก

ดังนั้นพอลูกชะนีชักดุไม่เอาแต่โอบกอดอย่างน่าเอ็นดูแล้ว

มันก็จะถูกล่าม

เป็นการล่ามทั้งกายและจิตวิญญาณของมันแบบตลอดชีวิต นี่จึงสะสมความยากในการเยียวยาก่อนจะสามารถพัฒนาความพร้อมที่จะปล่อยชะนีคืนกลับป่า

ชะนีตัวสูงเท่าเอวผู้ชายหนึ่งตัว ถ้ากำลังโมโห จะสามารถใช้แม้แขนข้างเดียววิ่งฉุดลากลูกน้องชาย 3คน ของคุณปั๊มไปตามพื้นได้อย่างน่าทึ่ง

ชะนีแขนยาวจนเหมือนคนผอมแห้งก็จริง แต่พละกำลังในกล้ามแขนที่ใช้โหนตัวที่โดยปกติจะไม่ลงเหยียบพื้นเลยถ้าไม่จำเป็นนั้น ได้ทำให้พลังมัดกล้ามส่วนต่างๆส่งถึงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงยิ่ง

คนเลี้ยงจึงมักขัง ไม่ก็ล่าม เพราะไม่รู้จะทำยังไงกับพวกมันในอาคารสถานที่แคบในเมืองและมีเสียงรบกวน

และด้วยช่วงอายุขัยที่ยาวนาน ชะนีจำนวนมากจึงเหมือนนักโทษที่ถูกลืมยาวนานกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นที่อายุขัยสั้นกว่า

เวลาที่มีคดีจับกุมผู้ครอบครองสัตว์คุ้มครอง สัตว์ป่าจะตกเป็นของกลาง แต่รัฐไม่ค่อยมีงบในการเลี้ยงดูได้เพียงพอ จึงมักมองหาอาสาสมัครที่มีใจและมีประสบการณ์ช่วยรับไปดูแลให้

ร้อยทั้งร้อย คดีที่มีชะนีของกลางไม่มีจำเลยไหนชนะคดีได้หรอก เพราะแค่มีก็เป็นความผิดอยู่แล้ว

การส่งชะนีที่ไม่มีทักษะอยู่ป่า และติดที่จะให้คนหาเลี้ยงให้ทุกอย่าง จึงยิ่งเป็นไปได้ยากยิ่งที่จะปล่อยป่าแล้วรอดอยู่ต่อได้

ชะนีเหล่านั้นไม่รู้จักว่าควรทำยังไงเมื่อมีงู หรือมีเหยี่ยวเข้ามาในระยะล่า ไม่รู้ว่าควรบริหารอาณาเขตของตัวเองอย่างไร ฯลฯ

สังคมไม่รู้ว่า

ชะนีกลับมีคุณต่อป่าได้อย่างมากไม่ต่างจากที่วาฬมีต่อแพลงตอน

ชะนีเลือกกินผลสุกของไม้ในป่าอย่างพิถีพิถัน อะไรที่หอมที่อร่อย เค้าจะไปเลือกเด็ดกิน และเค้าไม่คายเมล็ด

ชะนีจะโหนตัวไปในอาณาเขต ขับถ่ายจากเรือนยอดไม้ของป่าดิบชื้น

มูลชะนีจะมีเมล็ดพืชที่ติดออกมากับมูลที่เปียกเป็นเมือก

เมื่อตกพื้นจะงอกง่ายเพราะมีปุ๋ยและความชื้นมาพร้อมมัน

ชะนีแต่ละตัวที่อยู่ในป่านั้น จะสามารถเป็นผู้เพาะกล้าไม้ขึ้นจากเมล็ดได้ถึง 1 หมื่นต้นต่อปี

ชักน่าสนใจขึ้นแล้วใช่มั้ยครับ…

รอเล่าต่อตอนจบในภาค2นะครับ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ความน่าทึ่งของวาฬในทะเลต่อการเกิดออกซิเจนของโลก

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์   สมาชิกวุฒิสภา

รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

วุฒิสภา

Leave a Comment