วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ความน่าทึ่งของชะนีในการปลูกป่าดิบชื้น (ตอนจบ)

Ittipan Buathong

ความตอนที่แล้วเล่าความน่าทึ่งของวาฬที่ช่วยให้ปุ๋ยแก่แพลงตอนพืชแล้วแพลงตอนพืชสังเคราะห์แสงแดด จึงคายออกซิเจนออกมาและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป จนกลายเป็นแพแห่งเป็นมหาโรงงานลอยฟ่องตามผิวทะเล ที่ผลิตออกซิเจนสู่ชั้นบรรยากาศของโลกที่สำคัญที่สุดมานับล้านปี

บทความตอนที่แล้วจบลงที่บทบาทของชะนีป่าแต่ละตัวที่สามารถเสาะหาผลไม้สุกที่มันชอบแล้วขับถ่ายมูลออกมาพร้อมเมล็ดพันธ์จากพืชและผลไม้ที่มันเลือก  การกระทำของชะนีจึงเสมือนผู้คัดเลือกพันธุ์เด่นให้พืชที่โตเต็มที่ไปก่อให้เกิดไม้ผลต้นใหม่ในป่าดิบชื้นมากนับหมื่นต้น ในตลอดอายุขัย 40 ปีของมัน

ข้อเขียนในตอนจบนี้ จะโฟกัสไปที่วิธีอันประณีตที่ใช้พาชะนี(ของกลางในคดี) ให้สามารถกลับไปสู่การใช้ชีวิตที่สามารถออกหาอาหารเอง สร้างครอบครัวเองและกลับไปอยู่ในป่าดิบธรรมชาติได้ครับ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ความน่าทึ่งของชะนีในการปลูกป่าดิบชื้น (ตอนจบ)

ประการแรก ชะนีที่มาจากคดีนั้น มักผ่านการดูแลไม่ถูกต้อง ประสบปัญหาทางสุขภาพกาย จิตใจ อย่างดุเดือดและยาวนานมาทั้งนั้น

เรื่องราวของชะนีแต่ละตัว ถ้าซักกันจริงๆ รับรองว่าสร้างละครเรียกน้ำตาแน่นอน

สอง มันถูกพรากจากแม่มาตั้งแต่อายุน้อย จึงโตแบบไม่มีทักษะการใช้ชีวิตอิสระ และการอยู่กับธรรมชาติ

สาม มันจะผวาและมุ่งหน้ากลับเข้าหาคน หรือกลับไปที่ชุมชน เพราะนั่นคือแหล่งเดียวที่มันพอจะรู้จัก ส่วนคนจะดีหรือร้ายกับมันเป็นอีกเรื่อง

สี่ มันไม่เคยได้รับวัคซีนอะไรในช่วงที่อยู่กับมนุษย์  เพราะมันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่ห้ามครอบครองเด็ดขาด  ต่างกับลิงกัง ลิงวอก ลิงเเสมที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าที่บุคคลอาจขออนุญาตเลี้ยงจากทางการได้ 

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ความน่าทึ่งของชะนีในการปลูกป่าดิบชื้น (ตอนจบ)

ดังนั้นเมื่อการครอบครองชะนีมีความผิดในตัวเอง การลักลอบเลี้ยงชะนีในเมืองโดยไม่เจอสัตวแพทย์ จึงเผชิญกับสารพัดโรคติดต่อ ตั้งแต่โรคที่สัตว์เป็นและโรคที่มนุษย์เป็น มีทั้งเอดส์ ทั้งไวรัสบี  ติดสารเสพติด โดนยาเมา โดนยากระตุ้น โดนพ่นควันบุหรี่ใส่ โดนเหล้า โดนท่อไอเสีย โดนกาแฟ ตามแต่สภาพการลักลอบเลี้ยงจะเป็นไป

การปล่อยคืนสู่ป่าจึงต้องบำบัดประเด็นข้างต้นก่อนเป็นพื้นฐาน ส่วนการฝึกให้ชะนีใช้ชีวิตกับป่าให้เป็น  ก็เป็นอีกชุดความท้าทาย

คุณปั๊มพาเราไปเยี่ยมพื้นที่เลี้ยงชะนีของกลางในเขตเฉพาะ มีสแลนล้อมแต่ละกรงใหญ่ ป้องกันความเป็นส่วนตัวของชะนี คุณปั๊มอธิบายว่านอกจากสกัดการมองเห็นกันระหว่างคนกับชะนีให้จำกัดลงเรื่อยๆแล้ว ทีมงานจะคอยสังเกตดูความมีไมตรีระหว่างชะนีกรงข้างเคียงว่า  ถ้าเค้าพอใจในกันและกันก็จะเอาสแลนออกเพื่อให้เค้าคุ้นเคยกันมากขึ้น บางคู่พบรักจีบกันติดก็จึงค่อยพัฒนาไปสานสัมพันธ์กันต่อ เพราะการมีคู่ ของชะนีเป็นกำลังใจที่จะฟื้นฟูเค้าได้อีกด้านที่สำคัญมาก  แต่ถ้าเค้าเห็นกันแล้วไม่ปลื้มกันก็จะเอาวัสดุอื่นมากั้นไม่ให้ต้องมองเห็นกัน

ครอบครัวเป็นแรงส่งของชีวิต…แม้แต่กับชะนี

วิธีส่งอาหารจากคนดูแลไปให้ชะนีในกรงปรับสภาพ  จะไม่ให้มีการเข้าใกล้เลยโดยใช้การชักรอกตะกร้าใส่ผลไม้ยกขึ้นไปส่งให้ที่ข้างกรงในที่สูงๆวันละสองครั้ง

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ความน่าทึ่งของชะนีในการปลูกป่าดิบชื้น (ตอนจบ)

สร้างความชินในการอยู่ในที่สูงให้ชะนีของกลาง

และช่วยลดความใกล้ชิดอันคุ้นเคยกับมนุษย์ลงไปได้เรื่อยๆ

เราต้องทำให้เค้าไม่คิดหวนกลับมาเข้าใกล้มนุษย์อีก ไม่งั้นความเสี่ยงก็จะไม่สิ้นสุด

ชะนีที่พร้อมปล่อยจะถูกพาขึ้นไปรอในกรงใหญ่บนเขา ลึกขึ้นไปให้ห่างจากชุมชน มีทีมเฝ้าสังเกต

แม้เปิดประตูกรงให้แล้ว แต่เค้ามักไม่ออกจากกรงไปง่ายๆ แม้เมื่อหิวจึงจะยอมไปลองค้นหาอาหารจากต้นไม้ใกล้ๆแล้วกลับมาเข้ากรงอย่างเดิม

เสรีภาพไม่อยู่ในพจนานุกรมของพวกเค้ามานานมาก เพราะถูกขังลืมมาตลอด

ในการสังเกต ทีมงานจะบันทึกต้นไม้ที่เค้าไปแตะไปเอื้อมไปเรื่อยๆว่าเค้าเริ่มขยายความมั่นใจไปเพียงใด ในระยะเวลาเท่าไหร่ เพราะข้อมูลเหล่านี้จะถูกรวมมาใช้ประโยชน์เพื่อเสริมความสำเร็จในการวางแผนปล่อยคืนป่าของชะนีตัวถัดๆไป

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ความน่าทึ่งของชะนีในการปลูกป่าดิบชื้น (ตอนจบ)

ตัวที่เริ่มเข้าป่าได้จะเริ่มวางอาณาเขตของตัว และจะเข้าตี ถ้ามีชะนีตัวใหม่ล่วงล้ำเขตที่ตัวแรกครองอยู่

สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ทีมงานต้องคำนวณเยอะขึ้นทุกครั้งที่จะปล่อยชะนีคืนสู่ป่าตัวถัดไป

กิจกรรมของศูนย์คืนชะนีสู่ป่าที่ภูเก็ตนี้ก่อตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกในโลก คุณปั๊มคุณโน้ตไม่ใช่คนภูเก็ต แต่เมื่อต้องพาชะนีชุดต้นๆไปหาแหล่งปล่อย จึงค้นเจอว่าที่ป่าเขาพะแทวนี้ เคยมีชะนีชนิดเดียวกันแต่สูญจากธรรมชาติไปหมดพักใหญ่แล้ว

จึงดั้นด้น มาเปิดโครงการที่นี่และเรียนรู้เอาจากงานภาคสนามสะสมไปจนเชี่ยวชาญเพียงพอ

 มีนักวิชาการและนักเดินทางจากต่างประเทศสนใจมาขอเรียนรู้บ่อยๆ  มีอาสาสมัครทั้งระดับนักเรียนนักศึกษานานาชาติ  มีครอบครัวนักท่องเที่ยวต่างชาติในภูเก็ตมาช่วยงานเป็นกลุ่มเล็กๆบ้าง รายได้หลักของศูนย์ไม่ได้มาจากค่าผ่านประตู แต่จะได้จากค่าบริจาคหรือไม่ก็จากแพคเกจการร่วมเรียนรู้ครึ่งวันบ้าง เต็มวันบ้าง

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ความน่าทึ่งของชะนีในการปลูกป่าดิบชื้น (ตอนจบ)

หลายคณะมาอยู่ช่วยตั้งครึ่งปี!!

นี่ไง Volunteer Tourism หรือ

การท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัคร

ที่นี่บริหารงานในนาม ‘’มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย ‘’ ผู้ที่มาช่วยงานจะได้ฝึกคืนชะนีสู่ป่าโดยสัมผัสหรือเข้าใกล้ชะนีให้น้อยที่สุด

ที่นี่จึงไม่มีเรื่องเอาชะนีมาให้คนอุ้มถ่ายรูป หรือให้ทำอะไรที่ฝืนหลักการข้างต้น

กระบวนการคืนชะนีให้คืนป่าจึงมักจะกินเวลาและความพยายามสูงมาก

เมื่อรู้ว่านี่ไม่ใช่เพียงเรื่องคนเมตตาสัตว์ หรือความพยายามลดทุกข์คืนสุขอิสระให้สัตว์ป่าเท่านั้น แต่เมื่อคำนึงว่าชะนีเป็นผู้ปลูกป่าที่สำคัญยิ่ง การส่งนักสร้างป่าตลอดชีพให้สามารถกลับไปทำภารกิจจึงคุ้มค่าต่อความอดทนของทีมทำงาน

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ความน่าทึ่งของชะนีในการปลูกป่าดิบชื้น (ตอนจบ)

ในวันที่ผมไปเยี่ยมกิจกรรมนี้ ผมได้พบนักเรียนนานาชาติระดับมัธยมที่มาช่วยงานหลายๆคน มีมาจากจีน อินโดนีเซีย ลาว จากโมร็อคโกในแอฟริกาเหนือ และมีมาจากเอกวาดอร์ในอเมริกาใต้

ทุกคนยืนยันว่าน่าทึ่งมากๆ

หนุ่มสาวเหล่านี้แหละที่จะนำประสบการณ์ดีๆที่ได้เรียนรู้กลับออกไปบอกกล่าวได้ตลอดชีวิตของการเติบโตของพวกเขา

ว่าเมืองไทยมีมากกว่าอาหารอร่อย แหล่งท่องเที่ยวสวย โรงเรียนนานาชาติได้มาตรฐาน

แต่มีสังคมความรู้ในภาคสนามชั้นแนวหน้า และหัวใจที่มุ่งมั่น

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ความน่าทึ่งของชะนีในการปลูกป่าดิบชื้น (ตอนจบ)

ที่นี่มีเจ้าหน้าที่ประจำที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ แต่เล็งแล้ว คงไม่มีมือทำเรื่องการประชาสัมพันธ์เพราะทุกคนติดหนึบ จมอยู่กับงานดูแลชะนีนับร้อยอย่างประณีตบรรจง

ผมเห็นแล้วนึกเสียดายที่กิจกรรมดีๆมีความคิดริเริ่ม และมีอัตราการประสบความสำเร็จในการคืนนักปลูกป่าธรรมชาติที่ดี  จนชะนีที่ปล่อยไปเริ่มมีลูกออกหลานเป็นรุ่นๆแล้ว แต่กลับยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนไทยที่ไปภูเก็ต

หรือแม้แต่คนภูเก็ตก็อาจไม่รู้ว่ามีเรื่องงดงามระดับโลกเกิดขึ้นที่นี่

วันนั้น ผมจึงเดินป่าไปราว4ชั่วโมง จากพื้นราบขึ้นสู่ยอดจนมองออกไปทางทะเลจนเห็นเกาะต่างๆที่อยู่ไกลออกไปในอ่าวพังงา  สนทนากับคุณปั๊มและทีมงานอย่างมีสมาธิในการซักถาม เพื่อเก็บความเอามาเขียนเล่าต่อได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยระมัดระวังฝีก้าวในการเดินชมเส้นทางธรรมชาติของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาพระแทวที่เป็นป่าดิบชื้น

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ความน่าทึ่งของชะนีในการปลูกป่าดิบชื้น (ตอนจบ)

ผมเคยเดินป่าภาคเหนือ ภาคอีสานและป่าในเทือกเขาฝั่งตะวันตกมาพอควร แต่ป่าดิบชื้นในภูเก็ตนี่ก็เพิ่งเคยสัมผัสหนนี้แหละครับ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง หูก็คอยฟัง ปากก็คอยซัก ตาก็คอยสังเกตสิ่งรอบด้านทั้งที่พื้นดิน ที่ระดับสายตา ที่เหนือศรีษะขึ้นไป มือก็คอยจับไม้เท้าไม้ไผ่คอยค้ำยันก้าวเดินให้มั่นคง ขาก็คอยยกก้าวอย่างระมัดระวัง  เพราะตลอดทางจะมีรากไม้พูพอนและก้อนหินตลอดทั้งขอนไม้ผุที่ถูกใบไม้สดร่วงลงมาทับถม ได้บรรยากาศผจญภัยแนวนิยายเพชรพระอุมาตลอดเส้นทาง

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ความน่าทึ่งของชะนีในการปลูกป่าดิบชื้น (ตอนจบ)

มีผ่านน้ำตก ผ่านลำธาร ผ่านแอ่งน้ำ ผ่านไหล่เขา ผ่านป่าไผ่ ป่าตะเคียนสูงใหญ่ ป่าหวาย(ซึ่งมีหนามแยะ) มีแม้แต่รางส่งน้ำที่ทำด้วยการเรียงหินตั้งแต่สมัยโบราณเพื่อส่งน้ำจากภูเขาเข้าไปถึงตัวชุมชน

ตลอด4 ชั่วโมงของการเดินป่านี้ ไม่ยักมีแดดส่องลงถึงใบหน้าเราเลยสักนิด สาวๆที่จะมาเดินจึงไม่ต้องกลัวฝ้าแดด อากาศชื้นเย็นตลอดทาง มีแสงรำไรให้เห็นทางเดินชัดเจน แต่ไม่มีแดด!! ยืนยันได้

เพราะความรกครื้มของไม้เรือนยอด

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ความน่าทึ่งของชะนีในการปลูกป่าดิบชื้น (ตอนจบ)

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติมีอะไรน่าสนใจให้หยุดเพื่อส่อง และหยุดเพื่อซักไซ้สอบถามเยอะทีเดียว ปลายยอดก้านหวายมีดอกที่คมกริบไว้เกี่ยวปลายยอดของตัวเองให้สามารถไต่ต้นอื่นเพื่อขึ้นที่สูงได้  ผมลองเอามันรูดเบาๆกับปล้องไผ่ที่ผิวลื่น มันก็ยังสามารถเกาะหมับเข้าให้ ดังนั้นถ้าเกี่ยวเสื้อผ้าก็ติดแน่นแน่นอน

ส่วนที่โคนและก้านใบของหวายนั้น หนามแหลมแน่นหนาไปหมด การเดินใกล้ๆดงหวายจึงต้องเล็งให้ดีๆ ไม่งั้นมีโอ๊ยอ๊ายกันง่ายๆ

เดินๆไปเจอกล้วยไม้ดินที่จู่ๆก็แทงทะลุพื้นดินชะลูดสูงเท่าตัวผมเป็นก้านเดี่ยวแล้วออกดอกมาให้เห็นทุกทิศทาง

เดินๆไปเจอพวงองุ่นป่าที่ยังอ่อนๆอยู่ ดูแล้วคล้ายสาหร่ายพวงองุ่นขนาดเล็กๆมากกว่า

เดินๆไปเจอคราบจั้กจั่นขนาดใหญ่ คุณสายัณห์คนเดินนำบอกว่าเจ้าหมอนี่ส่งเสียงได้ลั่นป่ามากๆ

เดินๆไปเจอต้นไม้สูงที่แผ่พูพอนที่โคนออกมาใหญ่โต บางต้นในภาคอื่น ผมเคยแนบหูกับพูพอนได้ยินเสียงการปั้มท่อน้ำเลี้ยงจากรากขึ้นสู่ยอด แปลกดี แต่ต้นที่เจอวันนี้คงต่างไป ไม่มีเสียงอะไรรอดออกมา

มีเพียงว่าสัมผัสแล้วรู้สึกเย็นฝ่ามือดี

เดินๆไปเจอน้ำตกขนาดเล็กแต่สายน้ำทิ้งตัวจากหน้าผาสูง มีฝรั่งหนุ่มสาวนุ่งบิกีนีมาเล่นน้ำกันเงียบๆหลายกลุ่ม

เดินๆไปเจอตะเคียนทองสูงลิ่วหลายๆต้น เราแหงนหน้ามองด้วยความตื่นตา

มองที่พื้นก็เดี๋ยวๆได้ลูกขนุนป่าซึ่งหน้าตาคล้ายทุเรียนขนาดแคระจิ๋วหนามแน่นทั้งลูกบ้าง เจอดอกสะตอที่ปกติคนภาคอื่นไม่คุ้นตาร่วงลงมาจากต้นซึ่งสูงใหญ่ต้องแหงนคอ

คุณปั๊มบอกว่าถ้ากลางคืนมาส่องไฟเดินจะเจอดวงตาสัตว์สะท้อนกลับออกมาจากในป่าเยอะแยะไปหมด

สิ่งละอันพันละน้อยนี้สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจจากฐานชีวภาพสามารถเกิดจากความหลากหลายที่เรายังไม่ได้แบ่งความสนใจให้ได้อีกมาก

นับเป็นทริปเดินป่าสั้นๆ แต่ได้ความหลากหลายทางชีวภาพเยอะดี

ผมอ่านเพิ่มเติมจากข่าวในมือถือเกี่ยวกับเขาพระทายที่ภูเก็ต จึงได้ทราบว่า  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณวราวุธ ศิลปอาชาก็เพิ่งนำทีมข้าราชการมาเยี่ยม ท่านประกาศจะผลักดันพื้นที่นี้เข้าเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere ) ซึ่งจะช่วยให้เกาะไข่มุกแห่งอันดามันอย่างภูเก็ต มีจุดดึงดูดนักวิจัยและนักเดินทางที่อยากได้ความรู้และความรักต่อธรรมชาติมาเยี่ยมกันมากขึ้น

วันหนึ่งข้างหน้า ชาวต่างประเทศอาจมีเหตุมาจัดประชุมสัมมนา และร่วมนิทรรศการนานาชาติด้านสายพันธุ์อันหลากหลายเป็นประจำ หรือมีทุนไทยตั้งกิจการร่วมกับท้องถิ่นสกัดสารชีวภาพไปส่งขายเป็นเครื่องประกอบในเวชภัณฑ์หรือเครื่องสำอาง

เมืองไทยนั้นอากาศร้อนก็จริง แต่ร้อนชื้นอย่างนี้แหละที่ทำให้เรามีดีซ่อนอยู่ในดงข้างทางเยอะไปหมดให้รอค้นเจอ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ความน่าทึ่งของชะนีในการปลูกป่าดิบชื้น (ตอนจบ)

ขอส่งท้ายบทความตอนจบนี้ ด้วยการกล่าวยกย่องน้องสองท่านนี้คือคุณปั๊มและคุณโน้ต ที่เรียนจบด้านอื่นไม่เกี่ยวกับเรื่องป่าและชะนีเลย แต่มีใจอาสาที่ผูกพันทุ่มเทเข้าไปลงแรงด้วยชีวิตคู่  เพื่อทำระบบอันประณีตในเขตป่า มุ่งมั่นจะคืนเสรีภาพตลอดชีพที่เหลือให้แก่ชะนีนักปลูกป่าที่เคยต้องโทษจองจำ  ถูกคนบางประเภทในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ขาดทั้งความรู้และความรับผิดชอบย่ำยีโดยไม่ถูกต้องเลย

ขอบคุณแทนคนไทยและระบบนิเวศน์ที่น้องทั้งสองทำไปโดยไม่มีเงินเดือน ไม่มีทุนใหญ่สนับสนุน ใช้ใจของคนเจนวายล้วนๆ

ที่ทำมาทั้งหมด เพราะเพียงคำสอนสั้นๆของคุณแม่ของปั๊มที่บอกว่า

‘’…ลูกผู้ชายอย่าทิ้งเพื่อนนะลูก…’’

ผมมองหน้าปั๊มอย่างงงๆ

และใจผมต้องพองโตด้วยความซาบซึ้งเมื่อได้รับคำอธิบายก่อนผมขึ้นรถอำลาจากออกมาเพื่อขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพฯว่า

‘’…เพราะผมโตมาในกรุงเทพตั้งแต่เด็กท่ามกลางเพื่อนเล่นคือพวกเค้า ชะนีที่ถูกช่วยเหลือออกมาจากชีวิตรันทดนั่นเอง … คุณแม่จึงเห็นว่าพวกเค้าเหล่าชะนีของกลางก็คือเพื่อนของผมมาตั้งแต่เด็กทั้งนั้นครับ…’’

ขอยกย่องด้วยความทึ่งจริงๆ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ความน่าทึ่งของชะนีในการปลูกป่าดิบชื้น (ตอนจบ)

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา

รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

Leave a Comment