วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  สวนป่าเศรษฐกิจ : ภารกิจกู้โลกร้อนที่ดีที่สุด (ตอนที่ 2)

Ittipan Buathong

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  สวนป่าเศรษฐกิจ : ภารกิจกู้โลกร้อนที่ดีที่สุด (ตอนที่ 2)

จากประสบการณ์ของผมในการสังเกตระบบราชการมาพอประมาณ สิ่งที่มักจะขาดไปอยู่บ่อยครั้งคือ เรื่องบางเรื่องจะขาดหน่วยงานเจ้าภาพที่จะเชิญสนทนาเพราะแต่ละหน่วยล้วนเป็นระดับกรมซึ่งย่อมทัดเทียมกัน การจะให้หน่วยใดหน่วยหนึ่งเล่นบทประธานของประเด็นเสียเองก็อาจจะถูกมองว่า ทำเกินงามไปได้

นี่ไง ถึงได้มีสารพัดคณะกรรมการในระบบราชการที่ต้องเชิญนายกบ้าง รองนายกบ้าง รัฐมนตรีบ้าง ลงมานั่งเป็นประธานการประชุมเรื่องที่ยังไม่ค่อยชัดว่า เรื่องไหนใครควรจะมีอำนาจและบทบาทอะไรเพียงใด

งบสนับสนุน กองทุน และการจัดโครงสร้างควรทำจากไหน และทำยังไง

อย่างไรก็ดี

เมื่อประเด็นนี้ ผู้มาร่วมสนทนามุ่งเป้าหมายที่ดีงามนี้ร่วมกัน

อย่างในคราวการเดินทางไปขอเยี่ยมที่ที่ทำการ ออป.ของผมก่อนวันสงกรานต์ปีนี้

นอกจากทีมผู้บริหารของออป.คือคุณสุกิจ จันทร์ทอง ผอ.ออป. และคุณถนอมศักดิ์ เฉียบแหลม รองผอ.ออป.จะมาให้ข้อมูลแล้ว

ทางออป.ยังเชิญชวนทีมที่ทำงานเรื่องป่าเศรษฐกิจจากกรมป่าไม้มาร่วมสนทนาด้วย เช่น คุณ สุวรรณ ตั้งมิตรเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมการปลูกป่า คุณสุทธิรัตน์ จันทร์เจริญ ผอ. สำนักเศรษฐกิจป่าไม้ คุณเสริมยศ ชำนาญค้า ผอ.ส่วนส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจเป็นอาทิ

เมื่อสนทนารับฟังกันและกันแล้ว ต่างหน่วยต่างใช้อำนาจหน้าที่ที่ตัวถืออยู่เอื้อให้เกิดปัจจัยสู่ความสำเร็จของการสนับสนุนคนไทยปลูกไม้ยืนต้นให้ได้รับประโยชน์ชัดขึ้น  ปฏิบัติตามได้ง่ายขึ้น

ยิ่งถ้าไทยจะมีคณะกรรมการกลางกำกับสนับสนุนการปลูกป่าเศรษฐกิจของชาติไว้ด้วย มีฝ่ายเลขาที่ระบุหน้าที่ให้ช่วยวางยุทธศาสตร์แม่นๆให้

เราจะได้เห็นภาคเกษตรและป่าไม้ของประเทศไทยเปลี่ยนได้อีกเยอะเลย

เพราะคณะกรรมการป่าปลูกจะมีบทบาทและมุ่งเป้าที่ต่างไปจากคณะกรรมการป่าไม้แห่งชาติที่ถูกออกแบบมาเพื่อการอนุรักษ์ รักษาป่าธรรมชาติให้คงเดิม

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  สวนป่าเศรษฐกิจ : ภารกิจกู้โลกร้อนที่ดีที่สุด (ตอนที่ 2)

ป่าปลูกนั้นปลูกมาเพื่อตัด ไม่ใช่ปลูกมาเพื่อสงวนรักษาอย่างป่าธรรมชาติ หรืออย่างป่าอนุรักษ์

เราเคยผ่านประสบการณ์กำหนดให้ไม้มีค่า สารพัดอย่าง เป็นสิ่งห้ามการตัดฟันทั่วราชอาณาจักรมาแล้ว

ผลคือยิ่งห้ามตัด คนเลยยิ่งไม่ปลูก!!

หลงจ้ง ไม้ดีๆในป่าก็ถูกหมายตาลักลอบโค่นกัน

พออนุญาตให้ตัดได้ ถ้าปลูกในที่ๆเป็นของเอกชนมีใบรับรองกันเปิดเผย

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  สวนป่าเศรษฐกิจ : ภารกิจกู้โลกร้อนที่ดีที่สุด (ตอนที่ 2)

ปรากฏว่ามีคนแห่ปลูกกันเพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ

ถ้าผลของเรื่องนี้สำเร็จ ในระดับชาติ

เราก็อาจได้เห็นพื้นที่ดินเอกชนอีกมากมาย ซึ่งยังมีอยู่ถึง 10.44 ล้านไร่  บวกที่ดินสปก. อีก 7.14 ล้านไร่ ที่จะเปลี่ยนที่รกร้างหญ้าขึ้นให้เป็นสวนป่าเศรษฐกิจ

เปลี่ยนพืชไร่บางกลุ่มที่ยังออกแนวทำลายล้างสิ่งแวดล้อม ให้กลายเป็นป่าไม้ยั่งยืนได้อีกมาก

เราอาจได้เห็นการจ้างงานเพิ่มในท้องถิ่นเพื่อให้มาช่วยถางหญ้า เพาะกล้าขาย รับจ้างลงกล้าในแปลงปลูก รับจ้างดูแลอนุบาลต้นไม้มีค่าที่กำลังจะโต รับจ้างเฝ้าสวนป่า รับจ้างริดแต่งกิ่งก้าน หรือตัดสาง

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  สวนป่าเศรษฐกิจ : ภารกิจกู้โลกร้อนที่ดีที่สุด (ตอนที่ 2)

นี่ไง อีกมิติของเศรษฐกิจภาคการบริบาลอีกแบบ

เป็นเศรษฐกิจสีเขียวหรือ green economy

เป็นเศรษฐกิจฐานชีวภาพ หรือ bio economy

รวมทั้งเมื่อตัดฟันก็มีการปลูกไม้ทดแทน มีการปลูกไม้อื่นควบคู่ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่บ้าง  เศษไม้ เศษรากที่เอาไปทำผลิตภัณฑ์อะไรไม่ได้ก็ยังสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ทางการผลิตพลังงานสะอาด  เป็น เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ circular economy หรือเข้ากระบวนการเทคโนโลยีระดับนาโนได้อีก

ทั้งยังเป็นเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีทั้งมิติการค้าระหว่างประเทศ มีมิติสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์ที่เป็นมิตรกว่า

เราอาจได้เห็นวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์สวนป่ามีบทบาทเพิ่มอีกในการช่วยหน่วยงานต่างๆสนับสนุนสมาชิกผู้ปลูกสวนป่าได้ทั้งมิติด้านสินเชื่อ มิติด้านการให้คำแนะนำด้านระเบียบกฏหมาย มิติการตลาด มิติวิชาการป่าไม้ การจดทะเบียนคาร์บอนเครดิตของป่าปลูก มิติการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากไม้ป่าปลูก มิติการส่งออกไม้ป่าปลูก

ซึ่งเรื่องส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้ป่าปลูกนี้ กรมป่าไม้ก็ได้ร่วมมือกับกรมศุลกากร และกระทรวงการคลัง ประกาศลดอากรส่งออกจนเหลือ 0%มาเรียบร้อยแล้วในกุมภาพันธ์ปี 2565 นี้อีกต่างหาก

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  สวนป่าเศรษฐกิจ : ภารกิจกู้โลกร้อนที่ดีที่สุด (ตอนที่ 2)

นี่ก็ควรปรบมือให้ทุกฝ่าย

ระบบการจ้าง การผลิต การบำรุงรักษา และการเกิดป่าในที่ดินเอกชนทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้  เราเห็นพ้องกันว่าเทียบได้กับเป็นหัวรถจักรใหม่ทางเศรษฐกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมที่จะสามารถเป็นดั่งรถไฟฟ้าที่สร้างสรรค์อาชีพและกิจกรรมใหม่ทั้งขบวน ที่มีทั้งมูลค่า และคุณค่ามหาศาลให้แก่สังคมเราได้อย่างเหลือเชื่อ

สวีเดนมีพื้นที่ป่าปลูกในที่ดินครอบครองของภาคเอกชนใหญ่กว่าป่าของกรมอุทยานของสวีเดนเกือบ4เท่าตัว สวีเดนส่งออกไม้เป็นอันดับสองของยุโรป ทั้งที่มีพื้นที่ประเทศไม่ใช่อันดับต้นเลย แถมสินค้าเฟอร์นิเจอร์จากอีเกียของสวีเดนก็เพิ่มมูลค่าการทำไม้และสร้างรายได้แก่การส่งออกนำเงินตราเข้าสวีเดนจากทั่วโลก มีรายรับจากคาร์บอนเครดิตเสริมเข้าไปอีก

ผมจึงเห็นว่า

ในวันที่โลกเรียกร้องหาพระเอกพระรองใหม่ในการแก้ปัญหาโลกร้อน

ในวันที่เรามีแรงงานหนุ่มสาวย้ายถิ่นกลับสู่บ้านเกิด เพราะโควิดปิดสารพัดกิจการที่เคยจ้างหนุ่มสาวไว้ในเมืองใหญ่

ในวันที่รางรถไฟของเราจะเป็นทางคู่ ทำให้การขนส่งไม้มีค่า ขนส่งปัจจัยการผลิตมีความคุ้มค่ากว่า

ในวันที่สินเชื่อภาคเกษตรไม่อาจทนเสี่ยงกับความผันผวนของราคาในตลาดได้ดีนัก

ในวันที่น้ำฝนเรามีมากแต่การกักเก็บยังทำได้น้อย

ในวันที่สถาบันการเงินยินดีนับต้นไม้มีค่าเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันระยะยาวได้

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  สวนป่าเศรษฐกิจ : ภารกิจกู้โลกร้อนที่ดีที่สุด (ตอนที่ 2)

ยิ่งเราส่งเสริมและลดอุปสรรคในการปลูกป่าเศรษฐกิจได้มากเพียงใด ก็จะยิ่งลดปัญหาการเผาตอซังของพืชไร่ และลดการเปาใบอ้อยออกก่อนเก็บเกี่ยวในแต่ละฤดูเพาะปลูกได้

ลดการทำเกษตรไม่ยั่งยืนทุกอย่าง ใช้สารเคมีน้อยกว่าหรือไม่ใช้เลยก็ยังได้

ซ้ำยังใช้ที่ดินน้อยกว่า เพียงแต่ต้องใช้ความรู้มาสนับสนุนมากกว่า

สว.สุรเดช จิรัตฐิติเจริญจาก จังกวัดสระแก้วลงมือลุยทำป่าปลูกมาเองแล้ว

คุณหมออำพล จินดาวัฒนะก็ลงมือลุยทำกับครอบครัว ในที่ดินเล็กๆกลางทุ่งรังสิต แปลงที่โล่งเป็นป่าละเมาะที่กลายเป็นที่มาอาศัยของสารพัดนกอพยพจนเป็น’’สวนป่าครอบครัว’’

ผมเคยฟังเรื่องสวนป่าครอบครัวในอีสานอีกหลายแห่งจากพลเอกโปฏก บุนนาค รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา อีกท่าน

เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้ในไม่กี่ปี(ดูภาพประกอบ)

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  สวนป่าเศรษฐกิจ : ภารกิจกู้โลกร้อนที่ดีที่สุด (ตอนที่ 2)

ทุกครอบครัวมีซุปเปอร์มารเก็ตส่วนตนให้เก็บกิน มีไม้ใช้สอย และกลายเป็นความร่มรื่นทางใจ

และทางกายให้สรรพสิ่งรอบด้าน

คุณสืบตระกูล วิศวกรผู้แปลงเรือชาวบ้านให้เป็นเรือไฟฟ้าในคลองอ้อมนนท์จไปทำสวนอดิเรกปลูกไม้สักที่กำแพงแสน จากต้นสูงยังไม่ถึงเข่าของลูก มาวันนี้ไม่กี่นาน ต้นงามจนปรกร่มให้เรียบร้อย พาลูกๆไปเลี้ยงเป็ด เล่นโคลน

ตัวอย่างแบบนี้ยังมีอีกมาก

หลายคนไม่ได้ทำเพราะจะขอลดภาษีด้วยซ้ำ แต่อยากทำด้วยใจรักธรรมชาติ อยากมีที่ร่มเย็นไว้พักหลบแค่นั้น

คุณพิพัฒน์ ชนินทยุทธวงศ์ อดีตผอ. ออป.ให้ข้อมูลกับผมไว้ว่า การเลือกชนิดไม้มีค่ามาปลูกในแต่ละพื้นที่นั้น ให้สังเกตไม้มีค่าที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติของย่านนั้นเป็นหลัก ถ้าเทวดายังเลี้ยงแล้วรอดมาในพื้นที่แถวนั้น เราเลี้ยงเองยังไงก็รอดได้มากแน่

ภาคใต้อาจเป็นตะเคียน ภาคเหนืออาจเป็นสัก ภาคอีสานอาจเป็นประดู่ และหรืออื่นๆ

เรื่องนี้นักวิชาการกรมป่าไม้ก็ยืนยันว่าจริง

ว่าแล้ว ทีมกรมป่าไม้ก็เล่าเพิ่มว่า ถึงเวลาต้องปรับปรุงเรื่องพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์เสียทีแล้วด้วย

เพราะถ้าราษฏรหันมาปลูกไม้มีค่ากันเยอะๆแล้ว ยังห้ามมีเลื่อยโซ่ยนต์แบบสุดโต่งอย่างสมัยก่อน แล้วการตัดสาง ตัดหันเอาไม้ที่ปลูกไว้อย่างถูกวิธีและถูกสตางค์จะให้เดินลากขวานไปจามไปฟันหรือไง

เรื่องนี้ผมเคยอภิปรายในที่ประชุมสภามาแล้ว

จึงแอบชื่นใจที่ได้ยินจากฝ่ายเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เองที่บอกมาตรงกันกับที่เราห่วง

ไทยใช้จ่ายไปกับการนำเข้าไม้จากต่างประเทศเข้ามาราวปีละ 3หมื่นล้านบาท

ถ้าป่าปลูกของไทยเข้ามาผลิตเนื้อไม้ทดแทนการนำเข้านี้ได้ เราก็ประหยัดการนำเข้าไปได้โขแน่นอน

ส่วนออป.และกรมป่าไม้เอง  ได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อไปจ่ายต่อเป็นค่าอุดหนุนราษฏรที่หันมาสู่วงจรการปลูกป่าเศรษฐกิจ ไร่ละประมาณไม่กี่ร้อยกี่พันบาท

แม้จำนวนการอุดหนุนไม่สูงพออุ้ม แต่ก็เพียงพอจะช่วยประคองเกษตรกรที่ต้องทนรอให้ไม้โตมานานพอจะตัดขายได้รอบแรก

เพราะการปลูกป่านั้นต่างจากปลูกพืชไร่ที่ไม่อาจเก็บเกี่ยวขายเอาเงินสดมาใช้ได้เร็วๆในแต่ละปี

ยิ่งชาวบ้านมีสายป่านสั้น ยิ่งไม่ง่ายที่จะพาให้เปลี่ยนจากพืชไร่ที่ทำร้ายดินมาเป็นพืชใหญ่ที่ดูแลรักษาโลก

แต่ด้วยจำนวนผู้ขอรับการอุดหนุนรายใหม่ตอนนี้มีมากกว่าจำนวนงบประมาณที่ได้รับมาในแต่ละปีหลายเท่าตัวมากๆ

จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อชาติและระบบนิเวศน์โดยรวม

ที่ฝ่ายบริหารประเทศจะจัดสรรเพิ่มงบอุดหนุนให้ราษฏรปลูกป่าได้กระจายออกมากกว่านี้

หรือจะพิจารณาใช้วิธีเดียวกับกองทุนการยาง ที่เก็บค่าธรรมเนียมส่งออกยางผลิตภัณฑ์ยางไว้จำนวนหนึ่งเพื่อนำกลับเข้ามาใช้ช่วยเกษตรกรที่ทำสวนยาง

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  สวนป่าเศรษฐกิจ : ภารกิจกู้โลกร้อนที่ดีที่สุด (ตอนที่ 2)

ด้วยการทำกองทุนป่าเศรษฐกิจ ที่เก็บค่าธรรมเนียมจากการส่งออกไม้ท่อนไปต่างประเทศเพื่อเวียนกลับเข้ามาช่วยประคองราษฏรที่ปลูกป่าเพิ่มให้สามารถกระจายพื้นที่สีเขียวได้มากขึ้นมากๆ

โดยเฉพาะรอบพื้นที่ที่กรมพัฒนาที่ดินระบุว่ามีความเสี่ยงที่หน้าดินของพื้นที่นั้นกำลังเสื่อมจนทำท่าจะเสียหายจนปลูกอะไรก็จะไม่ได้  ซึ่งมีกระจายในไทยอยู่ถึง 6.3ล้านไร่ เพื่อสกัดไม่ให้ลามเสียหายไปใหญ่โตกว่าเดิม

หรือจะหันมาใช้โครงการเเบบเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเป็นย่าน เป็นหย่อมให้มียุทธศาสตร์เลยก็น่าสนใจ

อนึ่ง เวลานี้กรมป่าไม้ยังได้ผลิตชุดความรู้เพื่อสนับสนุนผู้เข้าสู่วงการป่าปลูกรายใหม่ๆให้มีวิธีเลือกชนิดไม้ที่จะปลูกในแต่ละเขตแต่ละภาคได้ตรงกับลักษณะคุณภาพดิน ลักษณะที่ดิน ความสูงจากระดับน้ำทะเล ทั้งให้ข้อมูลความรู้การปลูก การดูแล และให้ข้อมูลราคา และตลาดไม้ชนิดต่างๆ รวมถึงแหล่งรับซื้อไม้ โดยทำเป็นระบบดิจิทัล ให้สืบค้น ปรึกษาได้ง่ายด้วย

ซึ่งท่านผู้อ่านอาจค้นเพิ่มเติมได้จากแผนที่ที่บรรจุพื้นที่ทั่วไทยไว้แล้วใน

https://site-matching.forest.go.th/

ใครมีที่มีทางอยู่จังหวัดใดก็ส่องดูได้

ทีมจากกรมป่าไม้อธิบายไว้ก่อนจบการประชุมสนทนาว่า ไม่ว่าท่านจะครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิจากกรมที่ดินออกไว้ หรือที่ดินสปก.ก็ตาม ก็สามารถลงทุนทำสวนป่าเศรษฐกิจได้ เพราะในการส่งมอบที่ดินป่าเสื่อมโทรมจากกรมป่าไม้ให้สำนักงานสปก.ไปแจกจ่ายนั้น มีความตกลงอยู่ว่าที่ดินสปก.ที่แจกจ่ายออกไปต้องมีเงื่อนไขกำกับให้ต้องมีการปลูกป่าเศรษฐกิจอย่างน้อย20%ด้วยเสมอ

เราจึงอาจต่อยอดตามนโยบายรัฐ และนโยบายที่กำลังกลายเป็นสากลที่ต้องการส่งเสริม ให้โลกนี้ปลูกไม้มีค่า ทำป่ากับชุมชน ยอมให้คนอยู่กับป่า ประชาได้มีที่ทำกิน แผ่นดินดูดซับความชื้น ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ประเทศได้ลดโลกร้อน ประชากรมีไม้ใช้สอย เศรษฐกิจสร้างสรรค์ภาคเกษตรได้กระจายถึงเกษตรกรรุ่นใหม่ๆที่ชายป่า เพื่อทุกฝ่ายร่วมสร้างคุณค่าและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติกันอย่างยั่งยืน

น่าชื่นใจครับ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  สวนป่าเศรษฐกิจ : ภารกิจกู้โลกร้อนที่ดีที่สุด (ตอนที่ 2)

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  สมาชิกวุฒิสภา

รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ประธานอนุกรรมาธิการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน วุฒิสภา

Leave a Comment