ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(เสาชิงช้า) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย พระพุทธนวราชบพิตร ศาลพระภูมิ “หลวงปู่มงคลประสาท” ศาลจีน “เจ้าพ่อเพ่งนั้มกิมไช” สักการะพระพุทธชินราช รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9 ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากนั้น ร่วมพิธีส่งมอบงานในหน้าที่ ในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จาก นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ บุคลากรกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธี
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. แก่นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร จากนั้นปลัดกทม.ลงนามในหนังสือมอบหมายงานให้ผู้ว่าฯกทม. ทั้งนี้ปลัดกทม.ในนามข้าราชการและบุคลากรกรุงเทพมหานคร กล่าวต้อนรับ และมอบกระเช้าดอกไม้แสดงความยินดี โดยนายขจิต กล่าวว่า ขอขอบคุณนายชัชชาติ ที่เสียสละเวลาตัวเองเป็นเวลา 2 ปีกว่า เพื่อทำการบ้านในกทม.ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำให้คนกทม.มีความสุขและโชคดีที่ประสบความสำเร็จ โดยหวังว่าจะสามารถนำพวกเราไปข้างหน้าได้ เพื่อความเป็นอยู่ของประชาชนและขอให้นายชัชชาติ เชื่อมั่นว่าพวกเราจะทำงานตามที่ได้รับมอบหมายได้อย่างดี
ด้าน นายชัชชาติ กล่าวว่า เราเดินมานานกว่า 2 ปีกว่า และวันนี้ก็ได้เดินต่อ ตอนนี้ดีใจที่มีเพื่อนร่วมเดินทางกับเราคือข้าราชการ ลูกจ้าง กทม.ทั้งหมด ซึ่งตนไม่ใช่นาย ขอให้เรียกว่าอาจารย์ ตนอยากจะให้เราเดินไปด้วยกัน มีอะไรคุยกันได้ และตนก็เป็นคนใหม่ของกทม. หลักการคือถ้าตนทำอะไรไม่เหมาะก็ขอให้พูดกัน ยกตัวอย่างเช่น นโยบาย 214 ข้อ ตนอยากให้ทุกคนอ่านเพราะเราอยากได้ความเห็นของท่าน หากท่านมองว่านโยบายของเราทั้งหมดดีหรือไม่ดีอย่างไร ไม่ได้บอกว่าให้ท่านปฏิบัติตาม แต่อยากได้ความเห็นว่าควรจะปรับปรุงอย่างไร ตนคิดว่าหลายๆท่านรู้มากกว่า และเราอาจจะเพิ่มเป็น 300 ข้อ หากพวกเรามีพลัง แต่ตนเชื่อว่า 8 วันที่ผ่านมาเห็นว่าข้าราชการกทม.มีทั้งคนเก่งและคนที่พร้อมทำงานเพื่อประชาชนจำนวนมาก ทุกคนพร้อมที่จะมาลุยด้วยกัน ขอให้เดินไปด้วยกันและมีอะไรขอให้พูดคุย อย่าเก็บไว้ในใจ ถ้ามีเรื่องอะไรที่ไม่เหมาะสม ต้องพูดออกมา ไม่งั้นจะไปผิดทางได้
“เรื่องความโปร่งใส สุจริต ผมจะไม่ทนต่อการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งตอนนี้มีคนมาแอบอ้างชื่อตนแล้ว หากมีคนแอบอ้างว่าเป็นทีมงานอาจารย์ชัชชาติให้ทำอะไร ขอให้รู้ไว้ว่านั่นไม่ใช่ผม ทีมงานของเราก็จะเป็นคนของเรา หากมีคนแอบอ้างขอให้แจ้งทีมงานทันที เพราะเรามาด้วยความโปร่งใส สุจริตจริงๆ เพราะอยากทำให้กทม.มีชื่อเสียงว่าเป็นหน่วยงานที่สุจริต และผมเชื่อว่าทุกคนอยากทำงานให้โปร่งใส และความยุติธรรมในการแต่งตั้งที่เป็นธรรม คนเก่งและคนที่ทำงานมีโอกาสจะเติบโตในหน้าที่ได้ ผมสัญญาว่าจะทำให้เป็นอย่างนั้น” นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ตนเป็นคนตื่นเช้า แต่ไม่ต้องกังวล ซึ่งทุกคนก็ต้องทำกิจวัตรประจำวัน ขอให้ไม่ต้องทำตามตน แต่เมื่อไปลงพื้นที่ไม่ต้องมาเยอะ มาเท่าที่จำเป็น ขอให้ที่เหลือทำหน้าที่ให้ประชาชนต่อไป และบางครั้งตนไปไหนจะไม่บอกล่วงหน้า ตนไม่ได้จะไปจับผิดอะไร แต่บางครั้งเกรงใจเพราะอยากไปคุยกับประชาชนจริงๆ ว่าเขาอยากจะพูดอะไรกับเรา ส่วนเรื่องป้ายชื่อ ห้ามมีชื่อและรูปของตน เพราะเราไม่ต้องการประชาสัมพันธ์ตัวเอง และเราทำงานในนามของผู้ที่มารับใช้ประชาชนชน เพราะฉะนั้นไม่ต้องการเอาชื่อหรือรูปตนไปติดที่ไหน ขอให้ห้ามมี ไปไหนขอให้เรียบง่าย คนจำนวนน้อยๆ เมื่อลงพื้นที่อย่าทำความเดือดร้อนให้ประชาชน หากคงมีโอกาสได้คุยกันอย่างละเอียดอีกที นอกจากนี้เราจะมีนโยบายที่จะเป็นผู้ว่าฯสัญจร ในการลงไปทุกเขต ซึ่งอาจจะเป็นวันทุกวันอาทิตย์ 1 ปีก็อาจจะครบทั้ง 50 เขต แต่ขอให้ทางสำนักงานเขตไม่ต้องกังวลตนแค่ต้องการไปเยี่ยม ส่วนในเรื่องของเขต ผมคิดว่ามีนโยบายสำคัญที่อยากทำ คือ เรื่องปลูกต้นไม้ล้านต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ตนเชื่อว่าสามารถเปลี่ยนกรุงเทพได้ อยากจะขอให้เขตช่วยดูว่าจะปลูกอย่างไรให้ได้เขตละ 20,000 ต้น โดยเราจะมีโจทย์ให้แต่ละเขตทั้งเรื่องของปลูกต้นไม้ จุดน้ำท่วมซ้ำซาก หาบเร่แผงลอย จุดรถติด จุดก่อสร้าง เราเป็นทีมงานเดียวกันและจะมาช่วยกันแก้ปัญหาไป
“ผมก็ขอฝากเนื้อฝากตัวกับพวกเราทุกคนนะครับแล้วก็อย่างที่บอก ผมต้องการคำว่า ทำงานกับผมอย่าเก็บไว้ในใจ ถ้าผมทำอะไรไม่ดียกมือพูดได้เลย แต่ต้องมีเหตุผลนะ ต้องทำการบ้านมาบ้าง ให้พูดแลกเปลี่ยนกัน อย่าคิดว่าผมพูดอะไรไปต้องถูกเสมอ เรื่องอะไรเห็นด้วยไม่เห็นด้วย พูดแล้วจบ หาข้อยุติแล้วเดินหน้าทำงานให้ประชาชนต่อ ผมคิดว่ามันเป็นหลักการโปร่งใสในหน่วยงานและสุดท้ายจะได้งานที่สามารถเดินไปด้วยกันได้ แต่ทุกคนต้องกล้าพูดนะ เพราะฉะนั้นผมไม่อยากเป็นนาย ถ้าเป็นเจ้านายจะมองว่าไม่กล้าพูด แต่ถ้ามองว่าเป็นเพื่อนร่วมงานจะสามารถพูดได้มากกว่า ผมเชื่อว่าหลายๆเรื่องทุกคนเก่งกว่าผม ฉะนั้นต้องช่วยกัน เราเป็นทีมเดียวกัน ฝากไว้แค่นี้ ขอบคุณครับ” นายชัชชาติ กล่าว
“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ’ แต่งตั้ง 4 รองผู้ว่าฯ-คณะที่ปรึกษา-ทีมเลขาฯ-ผช.เลขา และโฆษกกทม.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 เปิดตัวทีมผู้บริหาร ภายหลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.ที่ศาลาว่าการ กทม.เสาชิงช้า ว่า ทีมผู้บริหาร ประกอบด้วย ตำแหน่งรองผู้ว่าฯกทม. 4 คน ได้แก่ 1.นายวิศณุ ทรัพย์สมพล ดูแลด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2.นายจักกพันธุ์ ผิวงาม ดูแลด้านการเงิน การคลัง 3.น.ส.ทวิดา กมลเวชช ดูแลด้านภัยพิบัติและสาธารณสุข และ 4.นายศานนท์ หวังสร้างบุญ ดูแลด้านการศึกษาและสังคม
ตำแหน่งคณะที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. 9 คน ประกอบด้วย 1.นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. 2.นางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ 3.พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก 4.พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ 5.พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี 6.นางวิลาวัลย์ ธรรมชาติ 7.นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี 8.นายภาณุมาศ สุขอัมพร และ 9.นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์
ขณะที่ตำแหน่งเลขานุการผู้ว่าฯกทม. ได้แก่ นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าฯกทม. ส่วนตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯกทม. ประกอบด้วย นายเอกวรัญญู อัมระปาล น.ส.ศนิ จิวจินดา นายจิรัฏฐ์ ม้าไว และ นายสิทธิชัย อรัณยกานนท์
ทั้งนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามในคำสั่งที่ 1245/2565 เรื่อง แต่งตั้งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 4 ราย ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล, นายจักกพันธุ์ ผิวงาม,ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวชช และ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ
คำสั่งที่ 1246/2565 เรื่องแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย นายต่อศักดิ์ โชติมงคล เป็นประธานที่ปรึกษา, ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์, พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก, พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์, พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี, ดร.วิลาวัลย์ ธรรมชาติ, นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี, นายภาณุมาศ สุขอัมพร และ นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์
นอกจากนี้ยังลงนามในคำสั่งที่ 1247/2565 เรื่อง แต่งตั้ง นายภิมุข สิมะโรจน์ เป็นเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคำสั่งที่ 1248/2565 แต่งตั้งให้ นายเอกวรัญญู อัมระปาล เป็นโฆษกกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้น คำสั่ง ณ วันที่ 1 มิ.ย.2565
เริ่มแล้ว! ผู้ว่าฯ ชัชชาติ Kick off ปลูกต้นไม้ 100 ต้นแรกจากล้านต้น เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองสีเขียว
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ 100 ต้น ตามนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง และเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 2565 ณ สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ร่วมปลูกต้นไม้ในสวนสาธารณะและพื้นที่ว่างในกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างความร่มรื่น สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กรุงเทพมหานคร โดยในวันนี้ ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และโรงแรมในเครือ และประชาชนผู้ใช้บริการสวนเบญจกิติ จำนวนกว่า 150 คน ร่วมกิจกรรม
โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ปลูกต้นโพธิ์ ซึ่งถือเป็นต้นไม้แห่งปัญญา ความสุข ความสำเร็จ อายุยืน และความโชคดี อีกทั้งต้นโพธิ์ยังเป็นต้นไม้สำคัญในพระพุทธศาสนาด้วย
สำหรับการปลูกต้นไม้ในวันนี้ ถือเป็นกิจกรรม Kick off ตามนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบาย 214 ข้อ ที่กรุงเทพมหานครจะปลูกต้นไม้เพิ่มให้ครบ 1 ล้านต้น โดยแบ่งการปลูกเป็น 400 ต้น/เขต/สัปดาห์ เพื่อให้ครบล้านต้นใน 4 ปี
พร้อมศึกษาความเป็นไปได้การย้ายอาคารศาลาว่าการกทม.
จากนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เดินทางไปยังศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) เพื่อร่วมพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ประกอบด้วย ศาลพระภูมิ และศาลตายาย ณ บริเวณด้านหน้าอาคารสำนักการโยธา และสักการะพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ณ บริเวณลานหน้าอาคาร ไอราวัตพัฒนา โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ บุคลากรกรุงเทพมหานคร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ร่วมพิธี
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า พื้นที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ถือว่ากว้างขวางและมีความเหมาะสม แต่หากจะย้ายสถานที่ทำงานจากอาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้ามาที่ดินแดงทั้งหมดจำเป็นต้องมีการศึกษาความคุ้มทุน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และมีข้าราชการทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการพิจารณา นอกจากนี้จากการลงพื้นที่แฟลตดินแดง พบว่ามีประชาชนส่วนหนึ่งอยากใช้พื้นที่บางส่วนลานพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณเป็นสถานที่ออกกำลังกาย ซึ่งจะมีการพิจารณาเช่นกัน เนื่องจากถือว่าเป็นการแบ่งปันอาคารสถานที่ราชการให้ประชาชนได้ร่วมใช้ประโยชน์ ในส่วนการติดตามปัญหาที่จะเริ่มดำเนินการโดยเร่งด่วน ได้แก่ ปัญหาจุดเสี่ยงน้ำท่วม หาบเร่แผงลอย ความปลอดภัยการเดินทาง การทุจริตคอร์รัปชั่น ความโปร่งใส และความล่าช้าของโครงการก่อสร้างต่างๆ จะมีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครช่วยดูแล ซึ่งแต่ละท่านจะมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน รวมถึงมีคณะที่ปรึกษา และทีมที่ปรึกษาเทคนิค ที่พร้อมทำงานร่วมกันด้วย
สำหรับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 ได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 22 พ.ค.65 จำนวน 1,386,215 คะแนน และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ประกาศผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 31 พ.ค.65 พร้อมประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครในคราวเดียวกัน จำนวน 5 ราย รวมทั้งได้ประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 30 พ.ค.65 แล้วจำนวน 40 ราย
Pride Month 2022 สามย่านมิตรทาวน์ เนรมิตรพื้นที่สีรุ้ง เข้าใจ เท่าเทียม ยอมรับความหลากหลายทางเพศวิถี
เวลา 18.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดงาน Pride Month 2022 ซึ่งสามย่านมิตรทาวน์ ได้ประกาศความเป็น Iconic LGBTQ+ Landmark ภายใต้แคมเปญ Samyan Mitr Pride 100% Love เพราะความรักมีหลากหลาย เนรมิตพื้นที่สีรุ้ง สร้างแรงบันดาลใจของกลุ่ม LGBTQ+ ในประเทศไทย เชิญชวนให้มาเช็คอินแบบ Pride Life พร้อมตอกย้ำการเป็นแลนด์มาร์คสนับสนุนความเท่าเทียมและความภูมิใจในตัวเอง จัดเต็มกับ Pride Walkway เพิ่มดีกรีสีสันแห่งสายรุ้งแบบเต็มพิกัดกับทางม้าลายสีรุ้ง ทางเดินสีรุ้ง รวมถึงการประดับไฟสีรุ้ง บริเวณทางเข้าหน้าศูนย์การค้า และอุโมงค์สามย่านมิตรทาวน์ ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน 2565 ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับสัญลักษณ์ รุ้ง 6 สี เริ่มมาจาก กิลเบิร์ต เบเคอร์ นักเคลื่อนไหว และศิลปินผู้ออกแบบธงสีรุ้ง มาจากแนวคิดที่ว่ากลุ่มหลากหลายทางเพศ ควรมีธงเป็นของตัวเอง และที่เลือกใช้สีรุ้งเพราะต้องการสะท้อนความหลากหลายได้ดีที่สุด ธงรุ้ง 6 สี ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 มิถุนายน 1978 โดยมีนิยามความหมายของแต่ละสี ดังนี้ สีแดง หมายถึง ชีวิต สีส้ม หมายถึง การเยียวยา สีเหลือง หมายถึง แสงอาทิตย์แห่งความหวัง สีเขียว หมายถึง ธรรมชาติ สีฟ้า หมายถึง ศิลปะ สีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณ
ทั้งนี้ นโยบายด้าน LGBTQ+ ในกทม. หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นส่วนหนึ่งในนโยบาย 214 ข้อ โดยได้รับการยอมรับผ่านความเข้าใจจาก กทม. ในฐานะหน่วยงานรัฐ ประชาชนได้รับการบริการอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยความเข้าใจในความอ่อนไหวทางเพศ (gender sensitivity) และความเท่าเทียมทางเพศ การยอมรับความหลากหลายทางเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศในสังคมไทยยังคงมีเงื่อนไข ในฐานะหน่วยงานรัฐของประชาชนและนายจ้างของข้าราชการ กทม. การยอมรับและเข้าใจถึงความหลากหลายเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับภาครัฐไทยให้ทัดเทียมกับภาคเอกชนหรือเครือข่ายต่าง ๆ นอกจากเรื่องความหลากหลายทางเพศวิถีแล้วยังมีเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่หน่วยงาน กทม. ต้องให้ความสำคัญ สามารถริเริ่มได้โดย
1. กำหนดหลักธรรมาภิบาลของหน่วยงานใน กทม. ให้การยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไขในสังคมและสนับสนุนความเท่าเทียม 2. อบรมให้เจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานของ กทม.ปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่และประชาชน โดยเฉพาะผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเท่าเทียม เน้นการยอมรับและความเข้าใจ 3. สามารถร้องทุกข์เรื่องการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมได้ 4. สนับสนุนการแสดงออกที่หลากหลาย โดยไม่บังคับแต่งชุดเครื่องแบบข้าราชการตามเพศกำเนิด สามารถใส่ตามที่สะดวกใจได้
5. มีกฎเพื่อป้องกันการคุกคามทางเพศในหน่วยงาน กทม. นอกจากนี้ยังนำร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย คลินิกสาธารณสุขเฉพาะทางด้านสุขภาพของกลุ่ม LGBTQI+ ในโรงพยาบาลของรัฐมีเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือคลินิกสุขภาพเพศของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย โรงพยาบาลรามาธิบดี ดังนั้น กทม.จะนำร่องเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาทางการแพทย์ในประเด็นจำเพาะ เช่น บริการจิตวิทยาการปรึกษา การใช้ยา-ฮอร์โมน และการผ่าตัดแปลงเพศของกลุ่มคนข้ามเพศในศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) หรือโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ตามความเหมาะสม เพื่อสร้างสวัสดิการของรัฐที่ครอบคลุมความหลากหลายของมนุษย์