ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 และนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 ในการปรับแผนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ทุกคนในประเทศไทยได้รับวัคซีนโควิด 19 ตามความสมัครใจ ซึ่งประชากรทั้งคนไทยและต่างชาติในประเทศไทยมีประมาณ 70 ล้านคน การรับวัคซีนครอบคลุมให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ คือ ร้อยละ 70 ของประชากร เท่ากับประมาณ 50 ล้านคน โดยใช้วัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2564 ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดในขณะนี้ ยังอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นหลัก ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติเห็นชอบการปรับแผนการกระจายวัคซีนโควิด 19 ด้วยกลยุทธ์ "ฉีดปูพรม" (Mass Vaccination) ในพื้นที่ระบาด นอกจากนี้ ยังเร่งรัด ให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการฉีดเชิงรุกนอกโรงพยาบาล ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เสนอให้ใช้พื้นที่สถานีรถไฟกลางบางซื่อ เพื่อเป็นศูนย์ฉีดวัคซีน ซึ่งมีความกว้างขวางและรองรับคนได้จำนวนมาก รวมถึงการให้ประชาชนสามารถเดินมารับวัคซีนได้
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 กล่าวว่า กลยุทธ์การปูพรมฉีดวัคซีนใน กทม.และปริมณฑล จะมีทั้งวัคซีนของซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากในเดือนพฤษภาคมจะมีวัคซีนซิโนแวคเข้ามาอีก 2.5 ล้านโดส และวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่คาดว่าจะส่งมอบช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้อีก 1.7 ล้านโดส โดยในส่วนของ กทม.ตั้งเป้าจะฉีดให้ได้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากร คือ 5 ล้านคน ภายใน 2 เดือน โดยฉีดให้แก่ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ไม่มีข้อห้ามทางการแพทย์ เร่งรัดการฉีดวัคซีนในพื้นที่ระบาดโดยเพิ่มจุดบริการนอกโรงพยาบาล เช่น สนามกีฬา มหาวิทยาลัย ศูนย์การประชุม หรือศูนย์การค้า เป้าหมายฉีดให้ได้ 1 แสนโดสต่อวัน