วันที่ 30 ธันวาคม 2566 เวลา 08.30 น. ปภ. รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส และยะลา รวม 14 อำเภอ 49 ตำบล 166 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 18,783 ครัวเรือน ภาพรวมระดับน้ำลดลง ประสานพื้นที่และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่รับผิดชอบและพื้นที่ใกล้เคียง ระดมกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เพื่อเร่งคลี่คลายสถานการณ์และให้การช่วยเหลือประชาชน ส่วนพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว เร่งฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณเกาะสุมาตราและทะเลอันดามันตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้ระหว่างวันที่ 22 – 30 ธันวาคม 2566 มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 5 จังหวัด ได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 34 อำเภอ 196 ตำบล 1,324 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบจำนวน 109,282 ครัวเรือน โดยปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 30 ธ.ค. 66 เวลา 06.00 น.) ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ รวม 3 จังหวัด 14 อำเภอ 49 ตำบล 166 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,783 ครัวเรือน แยกเป็น
1) ปัตตานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอกะพ้อ อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอหนองจิก อำเภอไม้แก่น และอำเภอสายบุรี รวม 30 ตำบล 90 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 9,632 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
2) นราธิวาส เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสุไหงปาดี อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอบาเจาะ อำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอตากใบ และอำเภอสุไหงโก-ลก รวม 16 ตำบล 70 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 9,029 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
3) ยะลา น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองยะลา และอำเภอรามัน รวม 3 ตำบล 6 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 122 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงเกือบทุกพื้นที่ สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานขอรับการสนับสนุนเครื่องจักรกลสาธารณภัยจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่รับผิดชอบและพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 สงขลา เขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 18 ภูเก็ต รวมถึงประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน โดยได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เครื่องสูบน้ำ รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถผลิตน้ำดื่ม รถขุดตักไฮดรอลิค และเรือท้องแบน เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาโดยการระบายน้ำ และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”