วันที่ 18 มกราคม 2567 เมื่อเวลา 11.00 น. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรณีพลุระเบิด ที่วัดโรงช้าง ตำบลศาลาขาว จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อแสดงความเสียใจและให้กำลังใจครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมชี้แจงแนวทางการช่วยเหลือกับครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งนายสมศักดิ์ ได้นั่งพูดคุยกับญาติของผู้เสียชีวิต พร้อมยืนยันว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใย และสั่งการให้ทุกหน่วยงานช่วยเหลือเยียวยาแบบเร่งด่วน
โดยนายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า นายเศรษฐา ได้มอบหมายให้ตนที่ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีอยู่ ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในทุกด้าน พร้อมอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ซึ่งขณะนี้ ได้รับรายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 23 ราย นายกรัฐมนตรี จึงได้กำชับเรื่องการเยียวยาแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยขณะนี้ มีกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยสำนักนายกรัฐมนตรี จะช่วยเยียวยาการเสียชีวิต 50,000 บาท, การทำศพ 30,000 บาท, ค่าดูแลบุตรที่กำลังศึกษาอายุไม่เกิน 25 ปี อีก 50,000 บาท รวมเป็นรายละ 130,000 บาท รวมถึงยังมีเงินเยียวยา ของกระทรวงยุติธรรม ให้ผู้เสียชีวิตอีกประมาณ 200,000 บาท และยังมีเงินเยียวยาจากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และกระทรวงมหาดไทย อีกจำนวนหนึ่ง ดังนั้น รวมแล้วครอบครัวผู้เสียชีวิต จะได้รับเงินเยียวยาประมาณรายละ 300,000 บาท
“พรุ่งนี้ผมจะมีการประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เวลา 11:00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือเกี่ยวกับเหตุที่เกิดขึ้นทุกประเด็น รวมถึงการบูรณาการในการแก้ปัญหา ไม่ให้เกิดเหตุระเบิดซ้ำอีก พร้อมจะมีการหารือถึงการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ โดยข้อสรุปในที่ประชุมผมจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันอังคารหน้า เพราะเรื่องนี้ ท่านนายกฯ ได้มีความห่วงใยเป็นพิเศษ ผมจึงรีบเดินทางลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนสาเหตุที่เกิดครั้งนี้ ตนได้รับรายงานว่า โรงงานพลุมีวัตถุระเบิด คือดินปืน ที่เป็นตัวจุดระเบิด แต่สิ่งที่ทำให้ประชาชนบาดเจ็บ เสียชีวิต เป็นเพราะตัวเร่ง คือ โพแทสเซียมคลอเรต (KClo3) ที่เป็นสารแคตตาไลท์ ซึ่งเมื่อมีดินปืนระเบิด ทำให้เกิดการสันดาป จึงเกิดแรงระเบิด และแรงอัด ที่ทำให้ผู้อยู่ในบริเวณเสียชีวิตอย่างกะทันหัน โดยเป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นทุกปี ดังนั้น จากนี้ ต้องมีการแก้ปัญหา ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า โรงงานมีการขอใบอนุญาตการให้ทำและค้าดอกไม้เพลิง ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงกระทรวงกลาโหม ได้ตรวจสอบการสั่งซื้อสารเคมีประกอบวัตถุระเบิด พบว่า ปฏิบัติตามกฎหมายถูกต้อง ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมตรวจสอบพบว่า สถานที่เก็บพลุแห่งนี้ ไม่ได้ขออนุญาตเป็นโรงงาน จึงทำให้ไม่มีการตรวจสอบวัตถุอันตราย ตนจึงมองว่า ตรงนี้เป็นจุดอ่อน เพราะทำให้ไม่มีการตรวจสอบ ส่วนผลกระทบจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณที่อาจเกิดสารเคมีแล้วตั้งแต่เมื่อคืนนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า สาเหตุที่เกิดระเบิดเพราะมีสารดินปืน และโพแทสเซียมคลอเรต จำนวนมากเกินไปใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่าสารโพแทสเซียมคลอเรต เป็นสารไม่สันดาปเอง แต่เป็นตัวเร่งหรือสารแคทตาไลท์ ทำให้เกิดแรงอัดสูง เป็นสารที่ต้องควบคุมปริมาณซึ่งไม่ได้ยืนยันสาเหตุแน่ชัด เพราะอยู่ในการพิสูจน์ของตำรวจ แต่ตนมองว่า กฎหมายและระเบียบทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถควบคุมให้เกิดความปลอดภัยต่อโรงงานลักษณะนี้ในทุกประเด็น โดยจะเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการศึกษาว่า จะต้องปรับกฎเกณฑ์อะไรบ้าง
ส่วนกรณีผู้เสียชีวิตครอบครัวหนึ่ง ที่มีถึง 6 ราย นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สะท้อนว่า บางครั้งประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอกับอาชีพ ดังนั้น เราต้องแก้ไขปัญหาความยากจนด้วย และต้องสร้างหลักประกันให้คนทำงานอย่างคุ้มค่า โดยเฉพาะการทำงานในโรงงานลักษณะนี้ ที่มีวัตถุระเบิด โดยควรมีประกันชีวิต เพราะมีความเสี่ยงที่สูงมาก
เมื่อถามว่า จะต้องมีการปรับหลักเกณฑ์การขออนุญาตหรือไม่ เพราะโรงงานนี้ เคยเกิดเหตุมาแล้ว แต่เปลี่ยนชื่อและขอใบอนุญาตได้ใหม่ นายสมศักดิ์ ยอมรับว่า ความบกพร่องของระเบียบราชการที่ทำให้เกิดสิ่งนั้นได้ ดังนั้น เราต้องดูว่าการเปลี่ยนชื่อขอใบอนุญาตทำได้หรือไม่ โดยตนยังไม่ทราบในวันนี้ แต่จะตั้งคำถามนี้ในที่ประชุมวันพรุ่งนี้ด้วย เพราะเราต้องแก้ที่ต้นเหตุ ทั้งระเบียบ กฎหมาย และแบบแผนของแต่ละหน่วยงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังลงพื้นที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย นายสมศักดิ์ ได้ลงพื้นที่โรงงานที่เกิดเหตุ เพื่อติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้น ก่อนจะนำข้อมูลทั้งหมด สรุปในที่ประชุมวันพรุ่งนี้