วันนี้ (19 ต.ค. 67) พ.ต.ท.สิทธิพร ศรีมารัตน์ สารวัตรสอบสวนสภ.พบพระ อ.พบพระ จ.ตาก เปิดเผยว่า ได้มีการประสานให้จับกุมชายชาวบังคลาเทศอายุ 25 ปีซึ่งหลบหนีข้ามจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านมายังบ้านซอระแตะ ต.ช่องแคบ อ.พบพระ ซึ่งเป็นแนวชายแดน ซึ่งจากการสอบสวนชายคนดังกล่าวถูกหลอกว่าให้มาทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยได้เข้ามายังประเทศไทยทางเครื่องบินและถูกส่งตัวไปยังฝั่งเมืองเมียวดี ประเทศพม่า แต่เมื่อไปถึงกลับถูกบังคับให้ทำงานหลอกลวงในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และหากไม่ยอมทำงานดังกล่าวก็ถูกทรมานด้วยเครื่องช็อตไฟฟ้า
“เขาเล่าว่าพี่ชายเขายังติดอยู่ฝั่งโน้น พร้อมกับชาวบังคลาเทศอีกประมาณ 30 คน มีทั้งคนท้อง คนแก่และเด็กอยู่ในนั้น เราได้ส่งตัวเขาไปยังศูนย์คัดแยกเพื่อเข้าสู่กลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism – NRM) ต่อไป ซึ่งตอนนี้เขาปลอดภัยแล้ว” พ.ต.ท.สิทธิพร กล่าว
แหล่งข่าวด้านความมั่นคงชายแดนไทย–พม่า เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีชาวบังคลาเทศ และชาวโรฮิงญา หลายพันคนถูกหลอกมาทำงานในแหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมย ฝั่งเมืองเมียวดี ตรงข้ามกับ ต.ช่องแคบอ.พบพระ จ.ตาก โดยชาวบังคลาเทศส่วนใหญ่มักอ้างว่าเป็นชาวโรฮิงญา เนื่องจากต้องการเดินทางไปยังประเทศที่ 3 เพราะหากเป็นชาวบังคลาเทศมักถูกส่งตัวกลับประเทศ แต่ถ้าเป็นชาวโรฮิงญามีประเทศที่3 เปิดรับง่ายกว่า
แหล่งข่าวกล่าวว่า จริง ๆ แล้วชาวบังคลาเทศที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ส่วนใหญ่เดินทางมาจากบริเวณชายแดนตะวันออกของบังคลาเทศซึ่งเป็นเส้นทางการค้ามนุษย์ที่ชาวโรฮิงญาถูกหลอกลวงมา มีเพียงส่วนน้อยที่เดินทางมาโดยเครื่องบินลงที่กทม.และถูกพาไปยังแหล่งอาชญกรรมริมแม่น้ำเมย เนื่องจากต้นทุนสูง โดยแหล่งอาชญกรรมตรงข้ามกับ ต.ช่องแคบ อยู่ภายใต้การดูแลของกองกังลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (Democratic Karen Buddhist Army-DKBA) โดยมีกลุ่มธุรกิจจีนเทาที่ถูกกวาดล้างมาจากเมืองเล้าก์ก่าย ในรัฐฉานเหนือชายแดนพม่า–จีน
นายนายสุไรมาน พฤฒิมณีรัตน์ รองประธาน Association Rohingya Thailand กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรมของชาวโรฮิงญาที่ถูกขนใส่รถไปยังมาเลเซียว่าเป็นอย่างไรบ้าง ส่วน 3 คนที่เสียชีวิตได้ทำพิธีตามหลักศาสนาอิสลามแล้ว โดยก่อนหน้านี้ได้มีการเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติและประเทศที่เกี่ยวข้องช่วยกันแก้ปัญหาชาวโรฮิงญาที่กำลังประสบความลำบาก โดยเฉพาะจำนวนกว่า 1.6 ล้านคนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยค็อกบาซา (Cox’s Bazar) ชายแดนบังคลาเทศ เพราะกำลังลำบากและเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ได้โดยง่าย
นายสุไรมานกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีของไทยได้หารือกับผู้นำจีนที่จะแก้ปัญหาเรื่องการต้มตุ๋นหลอกลวงทางออนไลน์ จึงอยากให้นำปัญหาที่ชาวโรฮิงญาถูกหลอกมาทำงานและตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์มาร่วมผลักดันแก้ไขด้วยเพราะสถานการณ์ค่อนข้างรุนแรงเนื่องจากขบวนการค้ามนุษย์ได้ใช้เส้นทางประเทศไทยเป็นทางผ่าน เดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย
“ทุกครั้งเมื่อบอกว่าเหยื่อการค้ามนุษย์เป็นชาวโรฮิงญา รัฐบาลไทยก็จะพยายามเงียบเพราะคิดว่าเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกลัวรัฐบาลทหารพม่าจะไม่พอใจ แต่ยิ่งเก็บเงียบยิ่งทำให้ปัญหานี้ขยายใหญ่ขึ้น ชาวโรฮิงญาตกเป็นเหยื่อมากขึ้นเพราะไม่มีใครอยากทนความยากลำบากอยู่เช่นนั้น” นายสุไรมาน กล่าว