2 ธ.ค. 64 เวลา 09.30 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 6 จังหวัด โดยในห้วงวันที่ 23 พ.ย. – 2 ธ.ค. 64 พื้นที่ภาคใต้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 3 จังหวัด (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช) รวม 19 อำเภอ 99 ตำบล 588 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,164 ครัวเรือน ภาพรวมระดับน้ำลดลง
สถานการณ์น้ำท่วมถนนสายเอเชีย 41 เวลา 08.00 น. สถานการณ์น้ำท่วมถนนสายเอเชีย 41 ระดับน้ำลดลง เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว รถทุกชนิดสามารถสัญจรผ่านได้ ทั้งขาขึ้นและขาล่อง แต่ถนนบางจุด มีการชำรุดเสียหาย จากน้ำกัดเซาะ ขอให้ผู้สัญจรผ่านเส้นทางดังกล่าวใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกประกาศฉบับที่ 7 เรื่องฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกและคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณทะเลอันดามันตอนกลาง และกำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกห่างจากฝั่งออกไปแต่ยังคงทำให้บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานีนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีฝนตกหนักหลายพื้นที่
สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
ขณะที่สถานการณ์จากอิทธิพลพายุเตี้ยนหมู่ พายุไลออนร็อก พายุคมปาซุ และร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออกและภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. – 2 ธ.ค. 64 ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัด (อุบลราชธานี สุพรรณบุรี นครปฐม) รวม 7 อำเภอ 78 ตำบล 588 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 29,561 ครัวเรือน ภาพรวมระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย เร่งระบายน้ำ และให้การช่วยเหลือประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ในห้วงวันที่ 23 พ.ย. – 2 ธ.ค. 64 ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนัก ถึงหนักมากบางแห่ง ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พัทลุง และสงขลา รวม 45 อำเภอ 181 ตำบล 774 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 21,195 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 3 จังหวัด 19 อำเภอ 99 ตำบล 588 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,164 ครัวเรือน ดังนี้
1.ชุมพร มีน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าตะโก อำเภอสวี และอำเภอหลังสวน รวม 26 ตำบล 188 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,878 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
2.สุราษฎร์ธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระแสง อำเภอเวียงสระ อำเภอเคียนซา อำเภอชัยบุรี อำเภอพุนพิน อำเภอบ้านนาสาร อำเภอบ้านนาเดิม และอำเภอเกาะพะงัน รวม 41 ตำบล 279 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,117 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
3.นครศรีธรรมราช น้ำท่วมในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาบอน อำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอชะอวด อำเภอทุ่งสง อำเภอ บางขัน อำเภอช้างกลาง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช และอำเภอเชียรใหญ่ รวม 32 ตำบล 121 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,169 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
ขณะที่สถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลพายุเตี้ยนหมู่ พายุไลออนร็อก พายุคมปาซุ และร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออกและภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. – 2 ธ.ค. 64 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี สุพรรณบุรี นครปฐม รวม 7 อำเภอ 78 ตำบล 588 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 29,561 ครัวเรือน โดยภาพรวมระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ ลุ่มต่ำ ดังนี้
1.อุบลราชธานี ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี และอำเภอวารินชำราบ รวม 4 ตำบล 13 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 140 ครัวเรือน
2.สุพรรณบุรี ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสองพี่น้อง และอำเภอบางปลาม้า รวม 28 ตำบล 240 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 22,015 ครัวเรือน
3.นครปฐม ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางเลน อำเภอนครชัยศรี และอำเภอสามพราน รวม 46 ตำบล 335 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,406 ครัวเรือน
สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระดมสรรพกำลังในการระบายน้ำออกจากพื้นที่และดูแลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง