กรมประมงร่วมกับสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเดินหน้าโครงการปลาทูคู่ไทย โชว์ก้าวสำคัญ…รวบรวมพ่อแม่พันธุ์มาเพาะเลี้ยงในระบบปิด สร้างระบบน้ำหมุนเวียน ปรับสภาพการเลี้ยงให้เหมาะสมกับระบบนิเวศในทะเล พร้อมฉีดฮอร์โมนพ่อแม่พันธุ์ปลาทูกระตุ้นการวางไข่สำเร็จครั้งแรกของโลก เผยการฉีดฮอร์โมนสามารถคุมรอบการตกไข่ของปลาทูได้มากขึ้น พบสัญญาณดีปลาทูวางไข่มากถึง 3 หมื่นฟอง หวังช่วยทดแทนปริมาณการจับปลาทูในธรรมชาติให้ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ปลาทูคืนสู่ท้องทะเลไทย
“ปลาทู” สัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและเป็นที่นิยมในการบริโภคของคนไทยมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันทรัพยากรผลผลิตปลาทูในธรรมชาติลดจำนวนน้อยลง ซึ่งปัจจัยหลักเกิดจากจากการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาเครื่องมือการทำประมงให้มีประสิทธิภาพในการจับที่สูงขึ้น กรมประมงได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้ร่วมมือกับชาวประมงทั้งพาณิชย์และพื้นบ้านเพื่อที่จะหามาตรการที่จะควบคุมการทำประมงเพื่อทำให้ “ปลาทูในอ่าวไทย” มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะมาตรการปิดอ่าว และการเพาะขยายพันธุ์เพื่อช่วยทดแทนการจับปลาทูที่มากจนเกินกำลังผลิตของธรรมชาติ
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้ศึกษาวิจัยเพาะขยายพันธุ์ปลาทูเพื่อลดการใช้ทรัพยากรจากแหล่งธรรมชาติจนประสบความสำเร็จสามารถเพาะพันธุ์ได้สำเร็จเมื่อปี 2554 แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากปลาทูเป็นปลาที่มีความอ่อนแอ บอบบาง จึงเป็นเรื่องยากที่จะนำขึ้นจากทะเลมาเพาะเลี้ยงโดยไม่ให้บอบช้ำหรือตายไปเสียก่อน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมประมงได้รวบรวมข้อมูลทางด้านชีววิทยา ฤดูกาลวางไข่ ลักษณะของนิเวศที่อยู่อาศัย ฯลฯ มาศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ด้านงานวิชาการและประยุกต์ใช้ในการผลิตปลาทูทั้งด้านการเพาะเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์และเชิงพาณิชย์ อาทิ การพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ด้วยการให้อาหารที่มีคุณภาพและการใช้ระบบน้ำหมุนเวียน เทคนิคการลำเลียงพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติ การอนุบาลลูกพันธุ์เพื่อเพิ่มอัตราการรอด ฯลฯ
ปัจจุบันนอกจากการดำเนินงานตามแผนการอนุรักษ์แล้ว กรมประมงยังได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการโครงการ “ปลาทูคู่ไทย” เพื่อจัดการองค์ความรู้สู่การสรุปแบบเบ็ดเสร็จ (one stop) ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของปลาทูไทย ที่จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางเชิงนโนบายเพื่อแก้ไขปัญหาปลาทูที่มีโอกาสสูญพันธุ์จากปริมาณการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการประมงและอุตสาหกรรมปลาทูของประเทศ ด้วยการจัดระบบตามห่วงโซ่คุณค่าของทรัพยากรทางทะเล ควบคู่การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการจัดการและด้านการเพาะเลี้ยง ซึ่งล่าสุดโครงการได้ดำเนินการโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลาทูฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่เพื่อเพิ่มโอกาสในการเพาะขยายพันธุ์ปลาทู โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรี ได้รวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติมาขุนเลี้ยงและทดลองฉีดฮอร์โมนตามรอบที่กำหนดไว้ ซึ่งมีโอกาสได้ลูกปลาทูมากกว่าวิธีตามธรรมชาติที่ปลาทูจะมีฤดูวางไข่ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น โดยความท้าทายอยู่ที่การปรับสภาพการเลี้ยงให้คล้ายคลึงกับระบบนิเวศในทะเลและต้องปรับพฤติกรรมปลาให้คุ้นเคยกับทีมนักวิจัย เนื่องจากปลาทูเป็นปลาที่ตื่นตกใจง่ายดังนั้นการจับปลาทูขึ้นมาฉีดฮอร์โมนจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก จึงนับเป็นอีกผลงานที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกรมประมงในการพัฒนาผลงานวิจัยด้านต่างๆ เพื่อช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืนสืบไป
นายประพัฒน์ กอสวัสดิ์พัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางศูนย์ฯ ได้รวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาทูธรรมชาติจากโป๊ะในพื้นที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี มาขุนเลี้ยงในบ่อผ้าใบด้วยระบบน้ำหมุนเวียนในโรงเพาะให้เกิดความพร้อมในการสืบพันธุ์ด้วยอาหารที่ต่างกัน 2 ชนิด ได้แก่ อาหารเม็ดสำเร็จรูป และอาหารผสมสด เพื่อศึกษาและตรวจสอบความสมบูรณ์เพศ โดยเมื่อเริ่มต้นขุนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาทูมีไข่และน้ำเชื้ออยู่ในระยะที่ 2 ภายในระยะเวลาการขุนเลี้ยง 3 เดือน พ่อแม่พันธุ์มีน้ำหนักอยู่ในช่วง 134 – 210 กรัม ความยาวอยู่ในช่วง 19- 20 เซนติเมตร ไข่และน้ำเชื้อพัฒนาเป็นระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะที่พร้อมจะฉีดฮอร์โมน จึงนำมาทดลองฉีดฮอร์โมนกระตุ้นให้ปลาวางไข่ที่ระดับความเข้มข้นต่างกัน 3 ระดับ ในช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฏาคม รวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง ได้ไข่ทั้งหมดอยู่ในช่วง 15,833 – 95,833 ฟอง เป็นไข่ดีอยู่ในช่วง 14,978 – 85,003 ฟอง ได้ลูกปลาแรกฟักอยู่ในช่วง 2,250 – 20,000 ตัว คิดเป็น 7.04 – 44.94 % จากไข่ทั้งหมด และ 7.94 – 61.54 % จากไข่ดี และระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนอนุบาลลูกปลาพร้อมวางแผนพัฒนาสูตรอาหารที่เหมาะสมสำหรับการอนุบาลลูกพันธุ์ปลาทูให้มีอัตราการรอดสูงที่สุด
อธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า นับได้ว่าเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลกในการทดลองฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการวางไข่ของปลาทู จากอดีตที่ปล่อยให้พ่อแม่พันธุ์ปลาทูผสมกันเองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นความหวังในการเพาะพันธุ์ปลาทูเพื่อปล่อยสู่ทะเลในเชิงอนุรักษ์ หรือการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลาทูเชิงพาณิชย์ต่อไป และนอกจากมาตรการที่ช่วยกัน “ดูแล” ทรัพยากรปลาทู จากการทำการประมงแล้ว “เราทุกคน” ก็สามารถมีส่วนร่วมได้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรปลาทูได้อย่างง่ายๆ คือ ไม่บริโภคปลาที่มีไข่ หรือ ปลาตัวเล็กๆ ปล่อยให้ปลาเหล่านี้ได้เติบโตมาเป็นอาหารในช่วงเวลาที่เหมาะสมและมีมูลค่าที่เศรษฐกิจดีกว่า หากเราทุกคนช่วยกัน กรมประมงเชื่อมั่นว่าท้องทะเล ทรัพยากรประมง จะกลับคืนความอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้งอย่างแน่นอน