วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในเมืองเก่าภูเก็ต

ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีเพียง 3 อำเภอก็จริง แต่ด้วยความเป็นเกาะทั้งจังหวัด ผู้คนจึงนึกว่ามาเที่ยวภูเก็ต ยังไงๆก็ต้องผูกพันกับทะเล

ถ้าตรงไหนไม่ได้เห็นทะเล  คงไม่มีอะไรให้เที่ยว และเมื่อพระอาทิตย์อัสดงแล้ว ชีวิตในภูเก็ตก็คงเหลือแค่การเที่ยวปาร์ตี้ แสงสีดื่มกินดิ้นโยกตามสถานบันเทิง

ไม่จริงครับ

ผมเพิ่งกลับจากการร่วมเดินทางไปในพิธีส่งมอบชุดงานวิจัยเรื่อง ‘’การเพิ่มคุณค่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต’’ ที่จัดขึ้นโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ(บพข.) และสำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(สกสว.)

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำคณะมาโดย ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ประธานคณะอนุกรรมการกลุ่มแผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์  รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชนณ์ รองผู้อำนวยการ บพข. และคุณสุเทพ เกื้อสังข์ ที่ปรึกษาองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)

สาระงานวิจัยชุดนี้ดำเนินการโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา  ซึ่งมีรศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีนำทีมเดินทางมา  ซึ่งมี ดร.นราวดี บัวขวัญ  รองอธิการบดีทำหน้าที่ในฐานะหัวหน้าคณะนักวิจัยที่ทำงานร่วมกับ ‘’โกดอน’’ คือคุณดอน ลิ้มนันทพิสิฐ ประธานชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต คุณสมยศ ปาทาน ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต ซึ่งก็มาในฐานะนักวิจัยด้วย

ฝ่ายชุมชนจึงไม่ได้เป็นเพียงผู้ถูกวิเคราะห์วิจัยในคราวนี้ แต่เป็นผู้ร่วมวิจัย นับเป็นมิติใหม่ในการทำงานวิชาการที่ยกระดับเพื่อการทำให้งานวิจัยไม่ต้องกลายเป็นเอกสารขึ้นหิ้ง แต่เป็นความรู้ที่ถูกใช้กันได้จริงๆในชีวิตของผู้เกี่ยวข้อง

ก่อนถึงเวลาพิธีส่งมอบผลงานชุดวิจัยและข้อเสนอแนะให้คุณณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและท่านนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต คุณสาโรจน์ อังคณาพิลาส  พวกเราในคณะเดินทางจึงสามารถมีเวลาได้ไปลองสัมผัสเส้นทางท่องเที่ยวและกิจกรรมแนะนำที่คณะวิจัยศึกษาบันทึกไว้ และบางอย่างก็รังสรรค์ขึ้นมาใหม่จากข้อเสนอของนักวิจัยที่เข้าไปสำรวจพัฒนาขึ้นร่วมกับชาวชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต

ผมพบว่า ย่านเมืองเก่าภูเก็ตนั้น มีเสน่ห์หลายประการที่ผมสามารถจดจำมาเล่าสู่กันฟัง

เมืองเก่าตามย่านต่างๆทั่วไทยนั้นมีครับ แต่ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นการทาสี และซ่อมแซมส่วนหน้าอาคารและซ่อมแซมภายในอาคารกันอย่างต่อเนื่องจนทำให้เมืองเก่าดูไม่แก่

แต่กลับมีชีวิตชีวาได้ทั้งกลางวัน และยามค่ำคืนอย่างที่นี่

ที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ต ตามตรอกซอยจะสัมผัสได้ถึงความสะอาดสะอ้าน ผิวทางเท้าได้รับการดูแล พยายามทำให้มีความเรียบ ไม่ได้ใช้แผ่นซีเมนต์บล้อกหรืออิฐตัวหนอนมาวางเรียงอย่างทางเท้าในที่อื่น เพราะแผ่นซีเมนต์บล้อคและอิฐตัวหนอนนั้นจะทรุดเอียงไม่เท่ากัน  ผิวทางเดินจึงมักจะกระเดิดไปมา  ไม่เป็นมิตรต่อผู้ใช้ทางเท้า ฝนตกจะเกิดน้ำขังเป็นหย่อมๆ ผู้ใช้ทางเท้าต้องเล่นเกมเสี่ยงทายว่าจะเหยียบแผ่นซีเมนต์ชิ้นไหนจึงจะไม่กระดกแล้วพ่นน้ำปรี้ดไปเลอะคนร่วมทาง!!

ที่นี่มีการติดตั้งเสาไฟส่องสว่างที่ออกแบบให้เป็นคล้ายกรงนกสไตล์จีนฮกเกี้ยน มองแล้วไม่ขัดกับสถาปัตยกรรมอาคารที่ออกแนวซิโนยูโรเปียน เพราะเมืองเก่าภูเก็ตมีทั้งชาวจีนและชาวตะวันตกมาตั้งถิ่นฐาน สร้างร้านรวงในยุคเก่ามาตั้งแต่รุ่นเปิดทำมาค้าขายทางทะเล แล้ว   ต่อมาถึงยุคทำเหมืองดีบุกอย่างแพร่หลาย รูปทรงอาคารจึงมีเอกลักษณ์สะดุดตา

เจ้าของเรือนแถวสร้างจากปูนโบราณแถบเมืองเก่าภูเก็ตเป็นผู้มีฐานะพอประมาณ  สอบถามแล้วมักเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนรุ่นที่สี่หรือห้าแล้ว ส่วนมากมีที่ดินอยู่นอกตัวเมืองอีกที ประกอบอาชีพทั้งด้านค้าขายและมีสวนยางเก่าซึ่งหลายแห่งได้กลายเป็นที่ดินติดรีสอร์ตติดทะเลไปแล้วด้วยซ้ำ

แม้พื้นฟุตบาททางเดินจะเบี่ยงไปมาบ้างตามทรงของเมืองเก่า ซอยอาจจะแคบ แต่เมื่อทาสีให้ดูสะอาดตา วาดสตรีทอารท์ทับผิวอาคารที่ชำรุด  และรักษาไม่ให้มีทัศนอุจาดประเภทป้ายโฆษณาล้นมากไป บวกกับที่ร้านรวงพยายามตกแต่งหน้าบ้านให้ดูดีน่าเข้าน่ามอง

การเดินชม ‘’อาคาร’’ย่านเมืองเก่าจึงให้ความเพลิดเพลินและรู้สึกได้ถึงไมตรีที่สถาปนิกแต่ละรุ่นผู้ออกแบบชุดตึกแถวและคิดผังเมืองได้ทิ้งเอาไว้ให้

ทางเดินหน้าห้องแถวมีกันสาดปูนยื่นมาพร้อมซุ้มปูนโค้งช่วยบังแดดบังฝนให้คนเดินผ่านหน้าร้านอย่างมีสไตล์

หลายร้านหลายบ้าน แม้ไม่ได้วางของค้าขายแล้ว แต่ก็ร่วมมือเอื้อเฟื้อความเป็นเมืองท่องเที่ยวด้วยการช่วยเปิดบ้าน ให้นักท่องเที่ยวเเวะเข้าไปเยี่ยมเยือนเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่ยังมีชีวิตอยู่อย่างภูมิใจ

โครงสร้างเรือนแถวที่นี่ลึกยาวและจะมีช่องเปิดเห็นท้องฟ้าในตรงกลางบ้าน

บริเวณนี้จะมีบ่อน้ำ บางบ้านประดับบ่อน้ำด้วยสวนหย่อม เป็นที่ตั้งเตาของครัวเปิด หรือมีชุดม้าหินเป็นฮกเกี้ยนสไตล์ ดูเป็นมิตร ชวนให้มอง   แถมเมื่อช่องเปิดนี้ช่วยให้’’อากาศ’’ไหลเวียนสะดวก ผมเห็นผู้เฒ่าผู้แก่นั่งเล่นรับลมอยู่คนเดียวในบริเวณกลางบ้านสบายๆ แม้จะนั่งลึกเข้าไปจากหน้าถนนตั้งไกล  แต่เพราะมีทั้งแสงธรรมชาติและอากาศไหลเวียนได้สะดวก ดูท่านจะนั่งจิบน้ำชาสบาย’’อารมณ์’’กันดี

ดังนั้น นอกจากผมจะได้เพลินกับการดูสิ่งประดับ’’อาคาร’’ด้วยลวดลาย ปูนปั้น ลายเส้นวาดสตรีทอารท์ ทรวดทรงสถาปัตยกรรม และสิ่งของตั้งวางที่อวดความมีวัฒนธรรมสืบทอดของเจ้าของย่าน เจ้าของบ้านแล้ว

ยังสามารถสัมผัสกับ การออกแบบที่สร้างสรรค์ให้ ‘’อากาศ’’  ไหลเวียน ทำให้การใช้อาคารไม่ต้องพึ่งพาแต่เครื่องปรับอากาศอย่างเลือกไม่ได้อย่างในกรุงเทพ

เมื่ออากาศไหลเวียนสะดวก แค่ปิดงับประตูเหล็กยืดโปร่งหน้าบ้าน หรือบางบ้านฉาบปูนทำประตูวงกบไม้มีลายฉลุปิดไว้ แต่เปิดช่องหน้าต่างไม้แบบซุ้มโบราณสวยๆไว้ที่ผนัง เท่านี้ก็ได้ เสน่ห์ให้หน้าบ้านแถว มีช่องลม และได้ความเป็นส่วนตัวในบ้าน กันผู้ไม่ได้รับเชิญเดินบุกเข้าไปได้แล้ว

ห้องแถวที่นี่จึงมีอะไรให้น่าค้นหา  เพราะมีเกร็ดเล็กๆ หรือความจงใจของสถาปนิกรุ่นเดิมที่เอาใจใส่ในเรื่องต่างๆไว้

บางบ้านมีบันไดขึ้นลงหลายชุด มีบันไดหลักบันไดรอง โดยบันไดรองอาจมีไว้ให้บ่าวไพร่ใช้ ซึ่งก็เป็นบันไดหนีไฟไปได้ด้วย โดยขั้นมักจะแคบและชันกว่าบันไดหลัก

ย่านเก่าจึงเป็นหมู่อาคาร ที่ทำให้เหมือนพิพิธภัณฑ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ สามารถเดินถ่ายรูปกันได้เพลินทั้งวัน

ครั้นพอตกกลางคืน ไฟถนนสว่าง ร้านรวงที่แม้ปิดหน้าร้านไปแล้วหลายแห่งก็ช่วยกันเปิดไฟส่องอาคารที่มีบัวปูนปั้นของตัวเอง ช่วยขับสีสรรความมีชีวิตชีวาให้เมืองเก่าน่าเดิน รับลมเย็นเบาๆหลังมื้อค่ำ

อีกเกร็ดที่นักวิจัยได้รับทราบร่วมกับโกดอน บอกเล่าให้ผมฟังก็คือ คนจำนวนมากเรียกแบบสถาปัตยกรรมของอาคารในเมืองเก่าภูเก็ตว่าเป็นแบบ ‘’ชิโนโปรตุเกส’’

https://en.wikipedia.org/wiki/Sino-Portuguese_architecture

แล้วคนก็เรียกตามๆกันมาเรื่อย

นักวิจัยและโกดอนสงสัย เลยได้โอกาสถามผู้แทนสถานทูตโปรตุเกสที่มาเยือนเมืองเก่าภูเก็ตว่า ตรงไหนของสถาปัตยกรรมที่บ่งชี้ว่ามีอิทธิพลของโปรตุเกสบ้าง

ปรากฏว่า ผู้แทนสถานทูตเดินสำรวจกับผู้แทนชุมชนแล้วบอกว่า ‘’ยังไม่เห็นส่วนไหนที่มองแล้วจะยืนยันได้ว่าเป็นอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมโปรตุเกส’’!!

แต่เห็นร่วมกันว่านี่เป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบ’’ชิโนยูโรเปียน’’ต่างหาก เพราะรูปทรงอาคารแบบที่เมืองเก่าภูเก็ตนี้มีให้เห็นได้ในเมืองท่าที่ชาวจีนและชาวยุโรปตั้งถิ่นฐานในบริเวณเดียวกัน เช่นที่ปีนัง หรือที่สิงคโปร์

ลักษณะเด่นคือกระเบื้องและหลังคามักเป็นทรงจีน แต่โครงสร้างและลายบัวปูนมีความเป็นแบบยุโรป

ทีนี้ ก็ขอย้ายมาเล่าอีกเสน่ห์ของเมืองเก่าภูเก็ตที่นักวิจัยแยกแยะไว้ คือเรื่อง ‘’อาภรณ์’’ 

ชุดแต่งกายของคนดั้งเดิมในย่านเมืองเก่าภูเก็ตนั้น มีลักษณะที่ได้มาจากความเป็นคหบดีโบราณ พอถึงวันมีงานมีการของชุมชน ชายหญิงจะแต่งเสื้อเป็นชุดบาบ๋า แบบที่นายหัวภูเก็ตจีนฮกเกี้ยนสวม คือเป็นเสื้อผ้าคอจีน กระดุมผ้ามัดแทนเม็ดกระดุม 5จุด  ผ้าพื้นเป็นสีเรียบขรึม มีชายแขนเสื้อเป็นผ้ายาวอีกชิ้นที่เลยออกมาแล้วพับม้วนกลับ แบบแขนเสื้อจีน ซึ่งทำให้แขนเสื้อตัวในกับตัวนอกดูตัดกัน ที่ชายกระเป๋าบนมักแขวนลัอคเกตมีโซ่เล็กๆหรือไม่ก็แขวนพวงกุญแจตู้เซฟติดโซ่สายเล็กๆห้อยโชว์บนอกเสื้อ

แปลว่าท่านผู้สวมใส่เป็นคนมีทรัพย์ ว่างั้นคงได้

ส่วนสตรีจะใส่เสื้อรัดเอว ทรงจีน แต่มีลวดลายเสื้อเป็นแนวมลายูกุ๊นด้วยผ้าลูกไม้พร้อมกับผ้านุ่งลาย มลายูสีสรรสดใส

ผู้คนที่มาเดินเที่ยวหลายกลุ่มเริ่มสนใจซื้อเสื้อผ้าแบบนี้ใส่เดินถ่ายรูปกัน ทำให้ดูบรรยากาศย้อนยุคดี และคนท้องถิ่นในเมืองเก่าจะยิ้มกึ่งพยักหน้าเบาๆให้อย่างภูมิใจ

นักวิจัยเล่าว่าทุกวันนี้ หลายๆบ้าน คุณป้าคุณน้าคุณยายหลายท่านกระตือรือร้นรื้อเอาชุดบาบ๋าของเดิมของท่านที่เก็บมาตั้งแต่สมัยก่อนออกมาแต่งเดินเหินถือตะกร้าแทนกระเป๋าไปหาสู่กันอย่างภาคภูมิ

เพราะชุมชนเห็นดีเห็นงามที่จะรื้อฟื้นธรรมเนียมเก่าๆออกมาปลุกชีวิตชีวาให้ย่านที่ตัวอาศัย นี่เอง

นักวิจัยที่ทำงานร่วมกับชุมชนจึงออกแบบกิจกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชนหลายอย่างให้ผู้มาเยือนได้ร่วมทำไปด้วยอุดหนุนไปด้วยได้   เช่นไปทำงานฝีมือ ประดิษฐ์ของที่ระลึกให้ตัวเอง พับกระดาษมงคลออกมาให้เป็นรูปสัตว์มงคลต่างๆ  ไปลองทำขนมบาบ๋าแบบต่างๆของภูเก็ต อย่างขนมหน้าแตก ขนมพริก  ขนมต่าวซ้อเปี๊ยใส่กล่องใส่ตะกร้าสวยๆหิ้วกลับไปเป็นของฝาก ลองผัดเส้นหมี่ฮกเกี้ยน หรือทำน้ำพริก หรือทำอาหารสูตรภูเก็ตในครัวกลางบ้านที่เปิดให้ทำกิจกรรม   หรือจะลองออกแรงโหมไฟในเตาเผาเพื่อตีเหล็กในโรงตีมีดเก่าแก่ของอาแปะที่หาชมได้ยากแล้วในยุคปัจจุบัน

  • สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้พาให้ทั้งแขกผู้มาเยือน และเจ้าบ้านทุกวัยพากัน ‘’อารมณ์ดี’’
  • แขกได้ประสบการณ์ที่ไม่เคยทำและสนุก
  • เจ้าบ้านได้อวดบ้านอวดฝีมือที่สั่งสมมานาน
  • จากอาคาร อากาศ อาภรณ์ อารมณ์ ทีนี้ก็ อาหารใส่ท้องล่ะ

อ้าว…พื้นที่หมดพอดี  งั้นขอเล่าต่อในภาคสองครับ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ใส่ความเห็น

ฮอนด้า แอคคอร์ด

ที่สุดแห่งเทคโนโลยีการขับเคลื่อนระดับพรีเมียม