นิด้า – Future Earth Thailand จัดเวทีเสวนานโยบายด้านสิ่งแวดล้อม “เลือกตั้ง 66”

Mummai Media

Updated on:

คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับ เครือข่าย Future Earth Thailand เปิดเวทีเสวนานโยบายสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติที่ควรมีในสนามเลือกตั้ง 2566

นิด้า – Future Earth Thailand จัดเวทีเสวนานโยบายด้านสิ่งแวดล้อม “เลือกตั้ง 66”

วันนี้ (20 เมษายน 2566) ที่ห้องประชุม ดร.สมศักดิ์ และคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ชั้น 2 อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับเครือข่าย Future Earth Thailand ได้จัดเวทีเสวนานโยบายสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติที่ควรมีในสนามเลือกตั้ง 2566 โดยมีตัวแทนจาก 9 พรรคการเมือง ได้แก่ (1) ดร.เดชรัต สุขกำเนิด (พรรคก้าวไกล) (2) น.ต.ศิธา ทิวารี (พรรคไทยสร้างไทย) (3) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม (พรรคไทยภักดี) (4) ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ (พรรคเพื่อชาติ) (5) คุณภาดาท์ วรกานนท์ (พรรคภูมิใจไทย) (6) ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี (พรรคเพื่อไทย) (7) คุณพงศา ชูแนม (พรรคกรีน) (8) ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ และ (9) ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน (พรรคชาติไทยพัฒนา) เข้าร่วมเสวนาและตอบคำถามในประเด็นของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติในอนาคต หากได้รับเลือกให้เป็นรัฐบาลไทยชุดต่อไป จากกลุ่มนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย

นิด้า – Future Earth Thailand จัดเวทีเสวนานโยบายด้านสิ่งแวดล้อม “เลือกตั้ง 66”

เวทีเสวนานี้เป็นเวทีเสวนาเกี่ยวกับนโยบายสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ อาทิ พ.ร.บ.อากาศสะอาด พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม ที่จะมีและดำเนินการต่อไปในอนาคต เป็นต้น โดยได้รับเกียรติจากนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ในการร่วมตั้งคำถาม ได้แก่ (1) ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติและอาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร นิด้า (2) รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร นิด้า (3) รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์และนักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  (4) รศ.ดร.เกื้ออนันต์ เตชะโต คณบดีคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ภาคใต้ (5) ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. (GISTDA) (6) คุณสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย และ (7) คุณธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย

นิด้า – Future Earth Thailand จัดเวทีเสวนานโยบายด้านสิ่งแวดล้อม “เลือกตั้ง 66”

นายศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวในเวทีสัมมนา “นโยบายสิ่งแวดล้อม และการจัดการภัยพิบัติ ควรมีในสนามเลือกตั้ง2566  ว่า  ภัยพิบัติทั้งแผ่นดินไหว น้ำท่วม พายุ มีความเสี่ยงเกิดได้ในยุคปัจจุบัน รวมทั้งปัญหาฝุ่น  PM 2.5 เร่ิมรุนแรงมากขึ้น  รัฐบาลชุดใหม่ต้องเตรียมรับมือจากภัยพิบัติเหล่านี้  ยอมรับว่าปัญหาเหล่านี้ยิ่งใหญ่มาก  แต่กลับถูกกำหนดนโยบายเอาไว้บรรทัดหลังสุดของนโยบายหาเสียงของพรรคต่างๆ 

ปัญหาโลกร้อนคืบคลานเข้ามา  จากบทเรียนในอดีต น้ำท่วมใหญ่ปี 2554  ปัญหาสึนามิในจังหวัดภูเก็ต พังงา บทเรียนดังกล่าวราคาแพงมาก ต้องใช้งบประมาณเยียวยามหาศาล  และต้องสูญเสียชีวิตอีกมากมาย ในต่างประเทศเกิดเหตุแผ่นดินไหว  พายุหิมะในประเทศที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน   ดังนั้น  รัฐบาลชุดใหม่ จึงต้องมีนโยบายออกมากป้องกันและส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 มองว่าเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องเร่งแก้ไขและป้องกัน 

นายวีรชัย พุทธวงศ์  นักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ควรผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ และควรดึงหลายหน่วยงานมาร่วมแก้ปัญหาและป้องกัน  อย่างเช่น ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดกลับถูกตีตกไปในสภา  นับว่าการเมืองไทยมีปัญหาต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม  นอกจากนี้ยังต้องอาศัยความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน มาร่วมกันป้องกันปัญหาภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม ปัญหาฝุ่น ภัยแล้ง ล้วนเป็นเรื่องสำคัญมาก หากเกิดปัญหาจะใช้งบประมาณฟื้นฟูสูงมาก