วันนี้ (8 มกราคม 2567) เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณี 3 รัฐมนตรี ประกอบด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลาออกจาก สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จะไม่กระทบกับการทำงานของรัฐบาลใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวยืนยันว่า ไม่มี พร้อมกับเชื่อว่าการทำหน้าที่รัฐมนตรีจะดีขึ้น เพราะท่านได้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารอย่างเต็มที่ ตามที่นายสมศักดิ์ ได้พูดไปว่า งานตามกระทรวงต่าง ๆ ก็เยอะอยู่แล้ว พร้อมกับย้ำว่าไม่มีนัยยะอะไร เพราะเป็นเรื่องของการทำงานเพียงอย่างเดียว
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า สมาชิกวุฒิสภา (สว.) บางส่วน อยากเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 แบบไม่ลงมติ ในส่วนของคณะรัฐมนตรี มีความพร้อมหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารอยู่แล้ว ถ้าเกิดฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายตรวจสอบต้องการความกระจ่าง หรืออะไรก็ต้องชี้แจง ซึ่งเป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญ
“แม้จะทำงานเพียงแค่ 4 เดือน ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ ไม่เกี่ยวกับจำนวนเดือน หรือจำนวนวัน ซึ่งมีความพร้อม และยินดี” นายกฯ ย้ำ
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เปิดเผยว่า การประชุม กมธ.ในวันนี้ (8 ม.ค.) จะมีการพิจารณาให้เป็นข้อยุติเกี่ยวกับการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 หลังจาก กมธ.ได้หารือภายในและได้สอบถามความคิดเห็นของ สว.มาก่อนหน้านี้แล้วเห็นว่า สว.ควรทำหน้าที่ขอเปิดอภิปรายให้รัฐบาลชี้แจงในประเด็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการทำงานตามนโยบายและการหาเสียง หลังพบว่าช่วง 4 เดือนที่ผ่านมายังไม่พบการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม
สำหรับปัญหาหรือประเด็นที่จะเสนอในญัตติตามที่หารือเบื้องต้น ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม พลังงาน กระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งหลังจาก กมธ.การเมืองได้ข้อสรุปในประเด็นรายละเอียด รวมถึงการกำหนดวันอภิปราย ซึ่งเบื้องต้นการอภิปรายทั่วไปจะเกิดขึ้นในช่วงก่อนปิดสมัยประชุมในเดือนเมษายนนี้ จากนั้นจะให้ สว.เข้าชื่อ 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 คนเพื่อยื่นญัตติต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ซึ่งตามบทบัญญัติของมาตรา 153 ไม่ได้กำหนดว่า ครม.ต้องมาตอบเมื่อใด แต่เชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือจากรัฐบาล