กระทรวงเกษตรฯ ผนึกอาเซียน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ร่วมมือด้านอาหารและป่าไม้

Mummai Media

กระทรวงเกษตรฯ.ผนึกอาเซียน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดียกระชับความร่วมมือด้านอาหาร เกษตร และป่าไม้ มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตั้งเป้ายกระดับความมั่นคงทางด้านอาหารและการเกษตร

(วันที่ 26 ตุลาคม 2565) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยระดับรัฐมนตรี (AMAF Leader) เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 44 (44th AMAF) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 26 ตุลาคม 2565 พร้อมด้วย นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (SOM AMAF Leader) โดยมี ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการข้าว กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรลาหารแห่งชาติ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และผู้แทนกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Zoom Meeting)

กระทรวงเกษตรฯ ผนึกอาเซียน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ร่วมมือด้านอาหารและป่าไม้

โดยการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 44 (44th AMAF) รัฐมนตรีเกษตรอาเซียน 10 ประเทศ ได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ของประเทศสมาชิก โดยที่ประชุมให้ความเห็นชอบเอกสารทั้งหมด 21 ฉบับ และรับทราบเอกสารทั้งหมด 4 ฉบับ ในสาขาต่าง ๆ ด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ มาตรฐาน ป่าไม้ ฯลฯ ซึ่งที่ประชุมได้แสดงความกังวลถึงการระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคอาหาร เกษตร และป่าไม้ และเห็นชอบที่จะดำเนินการตามมาตรการฟื้นฟู อีกทั้งเห็นชอบให้จัดทำปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร (ASEAN Leaders Declaration on Strengthening Food Security) ในปี 2566 เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานอาหารระดับภูมิภาค
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา องค์การระหว่างประเทศ และคู่ภาคีอื่น ๆ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้แสดงความขอบคุณที่ Guidelines on sharing, Access to, and Use of IUU Fishing-related Information ได้รับการผลักดันและรับรองจากที่ประชุม เพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้มีแนวทางไปปฏิบัติ

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้กับรัฐมนตรีของจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 22 (22nd AMAF Plus Three) ประเทศสมาชิกอาเซียนได้แสดงความขอบคุณประเทศบวกสามที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยในฐานะประเทศเจ้าภาพและเป็นที่ตั้งของสำนักเลขาธิการ APTERR และ สำนักเลขาธิการ AFSIS ยังคงสนับสนุนสำนักเลขาธิการ APTERR และ AFSIS ต่อไป โดยการดำเนินงานของ APTERR และ AFSIS มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การบรรเทาความยากจน และการกำจัดภาวะทุพโภชนาการภายในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงความท้าทายของการระบาดของ COVID-19 และการฟื้นฟูภายหลังการระบาด นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังพร้อมสนับสนุน AFSIS ในการเป็น intergovernmental organization เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรได้อย่างสูงสุด

ในส่วนของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-อินเดียด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 7 (7th AIMMAF) ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระยะกลางสำหรับความร่วมมืออาเซียน-อินเดียด้านการเกษตรและป่าไม้ (2564-2568) และยินดีที่มีโครงการริเริ่ม Centralilty of Soil in Agriculture and Environment เพื่อลดการใช้ปุ๋ยและปรับปรุงสุขภาพดิน และนำไปสู่ smart farming ในอนาคต

สุดท้ายนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังคงขับเคลื่อนนโยบาย 3S (Safety, Security และ Sustainability) ควบคู่กับ Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG Model เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยพร้อมที่จะร่วมมือในภาคอาหาร เกษตร และป่าไม้ กับประเทศสมาชิกอาเซียนและภาคีต่าง ๆ ในการยกระดับความมั่นคงทางด้านอาหาร และการเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ