เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษา ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯ และประธานกรรมการอำนวยการจัดงาน “เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ประจำปี 2565” พร้อมด้วย ฉัตรชัย พรหมเลิศ รองประธานกรรมการอำนวยการจัดงานฯ, วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานกรรมการอำนวยการจัดงานฯ และฐิติวัฒน์ ว่องวรรณกุล กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ ร่วมในการแถลงข่าวการจัดงาน “เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ประจำปี 2565”
งาน “เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ประจำปี 2565” จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เพื่อนไม่ทิ้งกัน ในยามยาก” รูปแบบออนกราวน์เต็มรูปแบบ โดยภายในงานมีการถอดแบบโครงสร้าง “อาคารมหินทรเดชานุวัฒน์” ที่ตั้งสำนักงานใหม่ของมูลนิธิฯ มาไว้ในงาน แสดงถึงการยกระดับการทำงานของมูลนิธิฯ ในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 27 เพื่อมุ่งสู่การเป็น “ศูนย์กลางการเป็นเลิศด้านการบรรเทาทุกข์ และจัดการภัยพิบัติอันเกิดจากอุทกภัย” ตามพระนโยบายของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา จัดงานตลอดระยะเวลา 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 2-11 ธ.ค.นี้ เวลา 09.00-20.00 น.ที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เขตจตุจักร โดยรายได้จากการจัดงานจะนำสมทบช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานอำนวยการจัดงาน “เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ประจำปี 2565” กล่าวว่า มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ก่อตั้งขึ้น 27 ปี ด้วยพระดำริของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ประธานกรรมการมูลนิธิฯ งานภารกิจหลักคือการบรรเทาทุกข์จากอุทกภัย มอบถุงยังชีพซึ่งเป็นการช่วยเหลือระยะสั้น รวมทั้งจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน ทำอาหารปรุงสุก ล่าสุดที่ จ.อยุธยา ตั้งโรงครัวเกือบ 1 เดือน และส่งรถประกอบอาหารเคลื่อนที่ไปยัง จ.ชัยภูมิ เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ปัญหาอุทกภัยเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากความวิกฤตของภูมิอากาศ การมอบถุงยังชีพพระราชทานเคยสูงสุดถึง 40,000 ถุง ดังนั้นเราต้องมีกระบวนการบรรจุถุงยังชีพและกระบวนการขนส่ง
“ด้านการเฝ้าระวัง องค์ประธานรับสั่งว่าถ้าภัยน้อยลง เราจะบรรเทาทุกข์ให้น้อยลง จึงมีพระราชดำริให้มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ร่วมมือกับอีก 7 หน่วยงาน ร่วมกันติดสถานีวัดปริมาณน้ำฝนบนภูเขา เพื่อวัดปริมาณน้ำฝนว่าน้ำป่าไหลหลากหรือดินถล่มหรือไม่ โดยติดโทรมาตรต้นน้ำ 510 สถานี ปัจจุบันติดแล้วเสร็จ 160 สถานี นอกจากนี้ร่วมกับ สสน.และกระทรวงมหาดไทย จัดตั้งชุมชนเตือนภัยเพื่อนพึ่งภาฯ 19 แห่งทั่วประเทศ ทำหน้าที่ฝึกพี่น้องประชาชน ที่ผ่านมาลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินไปได้” รองประธานกรรมการที่ปรึกษากล่าว
สำหรับมิติด้านการฟื้นฟู ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ ยกตัวอย่าง พื้นที่จังหวัดสกลนครเคยเจอพายุพัดถล่ม สร้างความเสียหายให้กับไร่ครามร่วม 100 ไร่ โดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นำเทคโนโลยีการย้อมครามให้กับชาวบ้าน จัดทำโครงการพัฒนาธุรกรรมออนไลน์ชุมชน เมื่อระดับน้ำลดจะช่วยเหลือระยะสั้นด้วยการทำบิ๊ก คลีนนิ่ง เดย์, ซ่อมสร้างตู้เย็น มอเตอร์ไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ และพัฒนาแหล่งน้ำ เป็นต้น
ภายในงานฯ พบกับนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ และนิทรรศการแสดงความก้าวหน้าในการดำเนินภารกิจการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างครบวงจรและยั่งยืน ก้าวสู่ปีที่ 27 ของมูลนิธิฯ เพื่อมุ่งสู่การเป็น “ศูนย์กลางการเป็นเลิศด้านการบรรเทาทุกข์และจัดการภันพิบัติอันเกิดจากอุทกภัย (Center of Excellence in Flood Relief and Management)”ร่วมชิม และช้อป สินค้าคุณภาพจากร้านพึ่งพา ร้านพระบรมวงศานุวงศ์และร้านค้าต่างๆกว่า 100 ร้านค้า อิ่มอร่อยกับหลากหลายเมนู รวมทั้งเมนูจากรถประกอบอาหารเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) และโรงครัวพระราชทาน
ร่วมชมดนตรีในสวนและการแสดงของนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่หมุนเวียนสับเปลี่ยนในแต่ละวัน พร้อมทั้งชมการบรรยายสาธิตการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากทีมเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) อาสา ปฏิบัติการภัยพิบัติ
ร่วม “แชร์” หรือร่วมแบ่งปันสมทบทุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ผ่านกิจกรรมบรรจุถุงยังชีพพระราชทานโดยผู้ร่วมงานสามารถร่วมบริจาคซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อบรรจุใส่ถุงยังชีพพระราชทานได้ ร่วม “ช่วย” โลกกับกิจกรรมนำขวดน้ำใช้แล้ว 5 ขวด มาแลกต้นไม้เพื่อนำไปปลูกลดโลกร้อน
มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งปันเพราะ “เพื่อนไม่ทิ้งกัน ในยามยาก” ได้ที่งาน “เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ประจำปี 2565” ระหว่างวันที่ 2-11 ธันวาคม 2565 เวลา 09.00-20.00 น. ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยรายได้จากการจัดงานสมทบทุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย