เชียงใหม่ 3 ผลงานจากนักวิจัย ม.แม่โจ้จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรนำกลับมาใช้ประโยชน์ สามารถนำออกจากห้องทดลอง มาต่อยอดสู่ท้องตลาด เชิงพาณิชย์สร้างผลิตภัณฑ์คุณภาพให้เกษตรกรนำไปใช้ได้จริง ได้ลงนามอนุญาตให้ใช้สิทธิผลงานวิจัย สู่กระบวนผลิตเป็นอุตสาหกรรม
อุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร (MAP) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดให้มีพิธีลงนามอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัย ระหว่าง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับ บริษัท อุตสาหกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ (ประเทศไทย) จำกัด โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นประธานและกล่าวต้อนรับ โดยมี รองศาสตราจารย์จักรพงษ์ พิมพ์พิมล รก.รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวรายงาน ณ Co-Working Space สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้
รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง รองอธิการบดี กล่าวว่า “การลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัย ภายใต้แนวคิดโดยการนำนวัตกรรมไปใช้ในเชิงธุรกิจ โดยการเชื่อมโยงองค์ความรู้และภูมิปัญญาจากผลงานวิจัยให้สามารถนำไปต่อยอดและขยายผลให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นการประกาศเกียรติคุณสำหรับนักวิจัยและผู้ประกอบการที่มีส่วนส่งเสริมสนับสนุนให้มีนำผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยไปสู่ภาคธุรกิจอย่างมีศักยภาพ ขอบขอบคุณ บริษัท อุตสาหกรรม เทคโนโลยีซีวภาพ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เห็นถึงคุณค่าของผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และนักวิจัยที่ร่วมทุ่มเทสร้างงานวิจัยคุณภาพ จนได้เข้าร่วมลงนามในสัญญาอนุญาตใช้สิทธิ ที่ภาคเอกชนนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และการแสดงผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากบริษัทที่จะถูกผลิตและจำหน่ายออกสู่ตลาดต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ยินดีที่จะสนับสนุนการทำงานร่วมกับภาคเอกชนและประชาชนในรูปแบบอื่นอีก หลากหลายช่องทางเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและชุมชนให้มีความเข้มแข็งต่อไป”
ด้าน รองศาสตราจารย์จักรพงษ์ พิมพ์พิมล รก.รองอธิการบดีกล่าวเพิ่มเติมว่า “พิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัยครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer)ระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจ โดยความรู้และงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ ที่จะขับเคลื่อนประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศเพิ่มมากขึ้น ช่วยให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต อย่างมีเสถียรภาพ ยั่งยืน มีการกระจายรายได้ไปสู่สังคมการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างและต่อยอดองค์ความรู้ให้มีความเท่าทันต่อโลกสมัยใหม่ ซึ่งการลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้กับบริษัท อุตสาหกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 3 สัญญา เป็นการต่อยอดงานวิจัยเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพสู่ตลาดต่อไป เวทีนี้จึงเป็นการสร้างความเข้าใจและเชื่อมโยงกันระหว่างภาครัฐภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ผลงานวิจัยที่จะเข้าร่วมลงนามอนุญาตใช้สิทธิในผลงานครั้งนี้มี จำนวน 3 สัญญา อันแรกเรื่อง กระบวนการผลิตถั่วเหลืองหมักด้วยหัวเชื้อ ผลงานโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ วงศ์พุทธิสิน และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะนุช เนียมทรัพย์ สังกัด คณะวิทยาศาสตร์
อันที่สอง เรื่อง กระบวนการผลิตอาหารเสริมซินไบโอติกส์จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเพื่อเป็นอาหารเสริมในสัตว์น้ำ ผลงานโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุดมลักาณ์ สมพงษ์ สังกัด คณะคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ
และอันที่สาม เรื่อง กรรมวิธีการผลิตชีวภัณฑ์ shimp premix และ MEX1 ที่มีผลต่อสุขภาพและผลผลิตของกุ้งเศรษฐกิจ และกรรมวิธีการผลิตชีวภัณฑ์ Fish premix และ THEPTM1ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของปลานิลเศรษฐกิจผลงานโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิราพร โรจน์ทินกร สังกัด คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ