“อนุชา” ล่องใต้ ลงสงขลา ดัน “อาชีพปศุสัตว์” ตัวช่วยเกษตรกรหลุดพ้นความยากจน ย้ำประชาชนมีโอกาสจับเงินแสน เงินล้านจากโครงการ “โคล้านครอบครัว”
วันนี้ (24 เมษายน 2566) เวลา 13.30 น. ณ โรงเรียนสทิงพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เป็นประธานเปิดงาน “สร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างชาติมั่นคง” ภายใต้โครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก เพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมี นายเอกชัย เลิศวิบูลย์ลักษณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายชัยเดช ปาละวงศ์ นายอำเภอสทิงพระ นายธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ฯ และสื่อมวลชนร่วมงาน
นายอนุชา เปิดเผยว่า แม้ผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมทำให้สัดส่วน GDP เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยสูงขึ้น แต่เป็นการเติบโตขึ้นเพียงส่วนเดียว ซึ่งทางรัฐบาลต้องการทำให้ GDP เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีความมั่นคง เดินหน้าไปพร้อมกันแบบยกแผงทั้งประเทศ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในทุกมิติ โดยเริ่มต้นจากประชากรที่อยู่ในระดับฐานราก คือ กลุ่มเกษตรกร – ปศุสัตว์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนจำนวนมากของประเทศ โดยผ่านกลไกการบริหารงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ที่มีบทบาทใกล้ชิดประชาชน โดยผลักดันให้ประชาชนดำเนินโครงการตามความต้องการของชุมชน เพื่อเป็นอาชีพเสริมหรือพัฒนาสู่อาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป จึงเกิดเป็น “โครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก เพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” เพื่อต้องการเสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านและชุมชนเมืองในด้านการเรียนรู้ การพัฒนาความคิดริเริ่ม และการแก้ไขปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ของประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนเมือง พร้อมทั้ง สร้างการเรียนรู้ และพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนให้มีขีดความสามารถ ทั้งภาคเกษตร-ปศุสัตว์ หรือท่องเที่ยว ให้เหมาะสมกับท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาคของไทย ก่อเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนที่ดี ชาวบ้านได้กินดี อยู่ดี ส่งผลดีต่อประเทศ เกิดการพัฒนาอย่างทั่วถึงและยั่งยืน
นายอนุชา กล่าวว่า ประเทศไทยมีภูมิศาสตร์ทางกายภาพที่เหมาะสมกับการทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ถือเป็นโอกาสที่ดีของพี่น้องสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสนับสนุนสินเชื่อให้กับกองทุนหมู่บ้านฯ เพื่อเป็นแหล่งทุนให้พี่น้องสมาขิกฯ กู้ยืมสำหรับเลี้ยงโค กระบือ แพะ และแกะ ครอบครัวไม่เกิน 50,000 บาท คาดว่า 3 ปีจะสามารถคืนทุนได้ โดยตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป จะเป็นกำไรของพี่น้องประชาชน ซึ่งการเลี้ยงโคเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อย มีความคุ้มทุนสูง เมื่อเทียบกับการประกอบอาชีพอื่น ๆ และที่สำคัญโคกินแต่หญ้าที่สามารถหาได้ตามพื้นที่ในชุมชน ขอให้พี่น้องประชาชนช่วยกันมาเปลี่ยนหญ้าให้เป็นทอง เชื่อว่าหากพี่น้องประชาชนมีความอดทน ตั้งใจเลี้ยงโค ในอนาคตข้างหน้าจะสบาย เพราะโคจะเลี้ยงเราแทน พี่น้องประชาชนจะนำรายได้ที่ได้จากการเลี้ยงวัวมาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว หากขยายพันธุ์โคไปเรื่อยๆ จะช่วยให้มีเงินแสนและเงินล้าน ช่วยสร้างความมั่นคงในชีวิตและครอบครัว ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ไม่ต้องเดินทางไปทำงานไกลบ้าน ห่างลูกห่างหลาน พร้อมกับกล่าวย้ำว่า กองทุนหมู่บ้านฯ ยุคใหม่ ต้องการยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นของสมาชิกกองทุนฯ ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นฐานสำคัญ ขอให้สมาชิกร่วมมือกันเปลี่ยนประเทศ ให้หลุดพ้นจากความยากจน ไปสู่ความร่ำรวย สร้างชาติให้เจริญ ก้าวหน้า อย่างมั่นคง สร้างอนาคตสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับลูกหลานของเราต่อไป
สำหรับการเปิดงาน “สร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างชาติมั่นคง” ครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดงานครั้งที่ 4 โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก จากสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ฯ ในพื้นที่จาก 7 จังหวัด ได้แก่ สงขลา, สตูล, ตรัง, พัทลุง, ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส เข้าร่วมกิจกรรมในงานอย่างตั้งใจ เพื่อเก็บเกี่ยวและนำความรู้กลับไปพัฒนาชุมชนของตนเองให้เกิดความเข็มแข็งยั่งยืน ได้แก่ กิจกรรมเสวนาโดยกองทุนหมู่บ้านต้นแบบ “ทำแล้ว ทำง่าย ทำได้…ไม่ยาก” โดย โครงการประชารัฐแพคลองรี อ.สทิงพระ จังหวัดสงขลา ที่เหล่าสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ฯ ร่วมแรงร่วมใจกัน จัดทำการท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศน์ เป็นการท่องเที่ยวเชิงศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ ตามวิถีชีวิตชุมชน สามารถช่วยเสริมสร้างรายได้จนประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Up Skill เรื่อง โคล้านครอบครัว จากเกษตรกรผู้เลี้ยงโค รวมถึง Business Matching และยังมีนิทรรศการให้ความรู้จากกทบ. รวมถึงการออกร้านของสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ฯ ส่วนการจัดงานครั้งที่ 5 ในวันที่ 28 เมษายน 2566 ณ จังวัดราชบุรี ขอเชิญชวนสมาชิกกองทุนฯ ที่อยู่จังหวัดใกล้เคียง มาร่วมงาน เพื่อแลกเปลี่ยน ต่อยอด ฟื้นฟู เพิ่มขีดความสามารถ และนำความรู้ด้านต่างๆ รวมถึงโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ ไปพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข็มแข็ง มีศักยภาพในการแข่งขันสามารถพึ่งพาตนเอง ยกระดับมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้นต่อไป