กรมชลประทานปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เร่งระบายออกสู่ทะเล ผู้ว่าฯกทม.ระบุระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ปกติ กทม. เฝ้าระวังต่อเนื่อง

พล.ต.อ.อัศวิน  ขวัญเมือง  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำ ว่า วันนี้(06.00 น.) ปริมาณน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน กทม. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 2,500-2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาดของ กทม. อยู่ที่ระดับ 1.55 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยไม่มีน้ำล้นตลิ่ง ซึ่งยังต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานครอยู่ประมาณ 1.45 เมตร จึงยังไม่ส่งผลกระทบในพื้นที่ กทม. โดยในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พื้นที่กรุงเทพมหานครมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง  ปริมาณฝนสูงสุดวัดได้ที่จุดวัด ปตร.ลาดกระบัง เขตลาดกระบัง 22.5 มม. จุดวัดปตร.คลองหลวงแพ่ง เขตหนองจอก 15.5 มม. จุดวัดสำนักงานเขตดอนเมือง 14.0 มม. จุดวัดสถานีสูบน้ำคลองตาอูฐ เขตหลักสี่ 13.5 มม.  ไม่มีรายงานจุดเร่งการระบายน้ำในถนนสายหลัก สำหรับค่าระดับน้ำแนวคันกั้นน้ำด้านตะวันออกวันนี้ (07.00 น.) ณ ประตูระบายน้ำคลองสอง (สายใต้) อยู่ในระดับปกติ +1.36 (ระดับวิกฤติ +1.80) ประตูระบายน้ำแสนแสบ (มีนบุรี) อยู่ในระดับเตือนภัย +0.77 (ระดับวิกฤติ +0.90) และประตูระบายน้ำลาดกระบังอยู่ในระดับปกติ +0.31  (ระดับวิกฤติ +0.60)

อย่างไรก็ตามแม้ว่าระดับน้ำยังไม่วิกฤต กทม. ยังคงเฝ้าระวังตามแนวฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ควบคุมการเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำสำรอง เรือผลักดันน้ำ กระสอบทราย  และมีเจ้าหน้าที่ประจำจุด เพื่อเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมทั้งอัปเดตสถานการณ์น้ำในแม่น้ำ ปริมาณฝน ผ่านศูนย์ควบคุมระบบป้องกันและแก้ไขน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ติดตามและรายงานสถานการณ์ระดับน้ำในแนวแม่น้ำเจ้าพระยาทุก 1 ชั่วโมง พร้อมรับเรื่องและประสานเจ้าหน้าที่แก้ไขปัญหาตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักการระบายน้ำ https://dds.bangkok.go.th/ ตลอด 24 ชั่วโมง

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (28 ก.ย.64) ที่สถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,521 ลบ.ม./วินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 1.88 เมตร แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ก่อนไหลไปรวมกับน้ำที่มาจากแม่น้ำสะแกกรัง และไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาตามลำดับ กรมชลประทาน ได้รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง รวม 306 ลบ.ม./วินาที และปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 2,631 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลกระทบต่อบริเวณที่อยู่อาศัยริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่นอกคั้นกันน้ำ เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ บ้านท่าทราย และตำบลโพนางดำ อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท, วัดเสือข้าม วัดสิงห์ ตำบลอินทร์บุรี อำเภออินทร์บุรี อำเภอพรหมบุรี และอำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี, คลองโผงเผง วัดไชโย ตำบลเทวราช อำเภอไชโย และอำเภอป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทอง, คลองบางบาล ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ (แม่น้ำน้อย) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หากระดับน้ำทางตอนบนเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทานจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อรองรับน้ำจากพื้นที่ตอนบนที่กำลังจะมาถึง รวมทั้งเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

ใส่ความเห็น

ฮอนด้า แอคคอร์ด

ที่สุดแห่งเทคโนโลยีการขับเคลื่อนระดับพรีเมียม