“อลงกรณ์”แนะ”ชลน่าน”อย่าทำผิดซ้ำสอง หลังประกาศรื้อฟื้นโครงการจำนำข้าว

Mummai Media

“อลงกรณ์”แนะ”ชลน่าน”อย่าทำผิดซ้ำสอง หลังประกาศรื้อฟื้นโครงการจำนำข้าว

ชี้สมาคมชาวนาหนุนโครงการประกันรายได้เหตุตอบโจทย์ปฏิรูปข้าวมากกว่า

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการให้สัมภาษณ์ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่กล่าวว่า “…โครงการประกันรายได้ ไม่ส่งเสริมการลดต้นทุน ไม่ส่งเสริมการผลิต และไม่ส่งเสริมการตลาด เป็นเพียงการชดเชยส่วนต่าง ซึ่งแตกต่างกับโครงการรับจำนำข้าว ที่เป็นการเข้าจัดการกลไกราคาตลาด ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น ชาวนาขายข้าวได้มากขึ้น…”

 นายอลงกรณ์ กล่าวว่า นพ.ชลน่าน ควรศึกษากรณีอดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ แกนนำพรรค ข้าราชการและพ่อค้านักธุรกิจที่ติดคุก เพราะทุจริตโครงการจำนำข้าว รวมทั้งรายงานการศึกษาของทีดีอาร์ไอ (TDRI) ประเด็นความเสียหายที่ก่อหนี้ให้กับประเทศหลายแสนล้าน หากคิดจะฟื้นคืนชีพโครงการนี้

“อลงกรณ์”แนะ”ชลน่าน”อย่าทำผิดซ้ำสอง หลังประกาศรื้อฟื้นโครงการจำนำข้าว

ยิ่งกว่านั้นยังมีการทุจริตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีคนของรัฐบาลร่วมกับเครือข่ายพรรคพวกนักธุรกิจพ่อค้าโกงกันแบบมโหฬารเป็นขบวนการใหญ่จนต้องโทษติดคุกจำนวนมาก นับเป็นโครงการที่ล้มเหลวมีการคอร์รัปชันอื้อฉาวมากที่สุด และเสียหายมากที่สุดเป็นเงินหลายแสนล้านบาท จนถึงวันนี้ประเทศยังต้องใช้หนี้ที่โครงการจำนำข้าวก่อไว้ อีกหลายปีกว่าจะหมด อย่าทำผิดซ้ำสองเลยครับ” 

นายอลงกรณ์ยังกล่าวว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวนาเป็นการประกันรายได้ไม่ใช่ประกันราคา เมื่อราคาข้าวต่ำกว่าเกณฑ์ประกันรายได้ ชาวนาจะได้เงินส่วนต่างชดเชย เช่นถ้าชาวนาขายโรงสีได้ 7,000 บาท ก็จะได้ชดเชยส่วนต่าง 3,000 บาท สำหรับข้าวเปลือกเจ้าที่ความชื้น 15% เป็นต้น โดยระหว่างนั้นก็มีมาตรการเสริมอื่นๆ เพื่อยกระดับราคาข้าวและสนับสนุนการผลิตของชาวนาการจ่ายเงินส่วนต่างจะโอนตรงจาก ธ.ก.ส.ไปยังบัญชีชาวนาโดยตรง เพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหล

และเป็นโครงการที่เกษตรกรพึงพอใจมากที่สุดโครงการหนึ่งของรัฐบาลเพราะสามารถสร้างหลักประกันรายได้ (Universal basic income)จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในช่วงที่เกิดความผันผวนของราคาผลผลิตทางการเกษตรจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจวิกฤติไปทั่วโลก ถือเป็นนโยบายเรือธง (Flagship policy) ของพรรคประชาธิปัตย์และรัฐบาล

โครงการนี้ได้ช่วยพัฒนาฐานะและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรและครอบครัวเกือบ 30 ล้านคน เป็นภาคเศรษฐกิจที่มีแรงงานและการจ้างงานมากที่สุด ซึ่งเป็นฐานรากสำคัญที่สุดของประเทศ ทำให้สามารถรักษาการผลิตสินค้าเกษตรสร้างรายได้ในการส่งออกให้กับประเทศของเรา จนเป็นอันดับต้นของสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท ต่อปีในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา

โครงการประกันรายได้ไม่ใช่โครงการโดดๆ แต่เป็นส่วนหนึ่งของช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition period) ของการปฏิรูปภาคเกษตร เพื่อสร้างศักยภาพใหม่ของข้าวและชาวนาภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี (2563-2567) ขับเคลื่อนด้วย 4 ยุทธศาสตร์ตั้งแต่ต้นน้ำ การผลิต มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพลดต้นทุนพัฒนาพันธุ์ สร้างมาตรฐานเชื่อมโยง “กลางน้ำ” การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มและ “ปลายน้ำ” คือการตลาดแบบออนไลน์และออฟไลน์ทั้งตลาดในและต่างประเทศ ตามโมเดลเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต

ทั้งนี้ สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ก็ประกาศเห็นด้วยและสนับสนุนโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวภายใต้ยุทธศาสตร์ปฏิรูปข้าว 5 ปีการปฏิรูประบบข้าวในพื้นที่ 60 ล้านไร่ ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เวลารวมทั้งต้องมีนโยบายและแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน ทำได้ไวทำได้จริง

วันนี้การปฏิรูปข้าวทั้งระบบครบวงจรเริ่มคืบหน้าในทิศทางที่ถูกต้องอย่างมีอนาคต ตัวอย่างเช่น โครงการGlobal Food Valley หรือนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารที่มีศูนย์แปรรูปข้าวใหญ่ที่สุดในอาเซียนกำลังสร้างในเขตผลิตข้าวลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อสร้างมูลค่าและเพิ่มรายได้ให้กับชาวนา ,โครงการข้าวอินทรีย์(Organic Rice)ตั้งเป้า 1,000,000 ไร่ส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิในภาคอีสานผ่านการรับรองกว่า3แสนไร่แล้ว 

“ยังมีโครงการอีกมากที่ไม่อาจกล่าวได้หมด หากสนใจมานั่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลได้ตลอดเวลา ผมคิดว่าเราจะย่ำเท้าอยู่กับที่ปล่อยให้ปัญหาจมปลักอยู่ที่เดิม หรือ มีโครงการฉาบฉวยแบบเดิมๆ และชาวนาต้องติดหล่มความยากจนและหนี้สินเหมือนในอดีตอีกต่อไปไม่ได้ การปฏิรูปข้าวเชิงโครงสร้างและระบบเป็นโมเดลการบริหารจัดการที่จำเป็นและสำคัญมากซึ่งกำลังเร่งดำเนินการ จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี ซึ่งท่านคงเห็นด้วยกับผมนะครับ” นายอลงกรณ์ ระบุ

Leave a Comment